×

อินโดนีเซีย-สปป.ลาว กำลังจะเป็นฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ของทุนจีน หลังเลิกจ้าง ลดกำลังผลิตในเวียดนามเพื่อเลี่ยงขึ้นภาษีสหรัฐฯ และก่อนที่ทรัมป์จะคัมแบ็ก

06.11.2024
  • LOADING...

แม้การย้ายฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่โซลาร์เซลล์จีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วงเวลานี้ถือเป็นประเด็นร้อนแรงที่ส่งผลถึงอาเซียนและไทย เนื่องจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น หาก โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยไปได้ก็จะทำให้นโยบายจัดเก็บอัตราภาษีที่สูงเป็นพิเศษสำหรับสินค้าที่ผลิตจากจีน 60-100% ถูกนำมาใช้

 

เหตุผลข้างต้นทำให้ผู้ผลิตจีนเริ่มกระจายฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ออกจากเวียดนามไปยังอินโดนีเซียและ สปป.ลาว เพื่อเลี่ยงภาษีศุลกากรสหรัฐฯ

 

จึงต้องจับตาว่าเพื่อนบ้านและไทย ใครจะคว้าโอกาสนี้ เมื่อสหรัฐฯ คือตลาดอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ไปมากสุด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “นี่คือเกมแมวจับหนู”

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัทจีนยักษ์ใหญ่ในเวียดนามกำลังลดกำลังการผลิตและเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก เนื่องจากสหรัฐฯ ขยายขอบเขตภาษีศุลกากรไปยังเวียดนาม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยสองประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซียและ สปป.ลาว เป็นจุดหมายปลายทางรองรับฐานผลิตโซลาร์เซลล์แห่งใหม่ของจีน ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปยังสหรัฐฯ ได้กว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียและ สปป.ลาว ที่ต่างก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนผุดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตการคุ้มครองการค้าของวอชิงตัน ดี.ซี.

 

แม้ว่าบริษัทจีนจะย้ายฐานการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มาหลายปีแล้ว แต่ขอบเขตของการย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซียและ สปป.ลาว ในระยะหลังนี้ยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน

 

สำหรับจีนครองส่วนแบ่งการตลาดแผงโซลาร์เซลล์โลกราว 80% ของการขนส่งพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ในขณะที่ศูนย์กลางการส่งออกที่เหลือคือเอเชียเป็นส่วนใหญ่

 

วิลเลียม เอ. ไรน์ช อดีตเจ้าหน้าที่ด้านการค้าในรัฐบาลคลินตัน และที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ กล่าวว่า “นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับ 2 ทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมนี้ มันเป็นเกมแมวจับหนูครั้งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะย้ายฐานผลิต คุณสามารถตั้งโรงงานใหม่และเล่นเกมอีกครั้ง เพราะคุณเองก็สามารถวางกฎเกณฑ์ได้ ซึ่งสหรัฐฯ มักจะตามหลังอยู่หนึ่งก้าว”

 

สำหรับการนำเข้าโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีศุลกากรในปี 2012 โดยแตะระดับสูงสุดที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วตามข้อมูลของรัฐบาลกลาง แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะไม่ได้นำเข้าโดยตรงจากจีน ทว่าในปี 2023 กว่า 80% มาจากเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งต่างเป็นที่ตั้งของโรงงานบริษัทจีน

 

สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 4 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว และขยายการจัดเก็บภาษีในเดือนตุลาคม หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งร้องเรียนว่า ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีนได้ เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

 

PVinsights ระบุว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการของจีนหรือที่เกี่ยวข้องกับจีนอย่างน้อย 4 โครงการเริ่มดำเนินการในอินโดนีเซียและ สปป.ลาว และอีก 2 โครงการได้รับการประกาศร่วมกัน โครงการเหล่านี้มีกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์รวม 22.9 กิกะวัตต์

 

โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะขายในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน และเป็นหนึ่งในตลาดที่ทำกำไรได้มากที่สุด โดยราคาในสหรัฐฯ สูงกว่าในจีนโดยเฉลี่ย 40% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ CNBC รายงานว่า ก่อนจะทราบผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่วัน อาจต้องจับตานโยบายที่ทรัมป์กำหนดอัตราภาษี 10% หรือ 20% กับสินค้านำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยเฉพาะทรัมป์เสนออัตราภาษีที่สูงเป็นพิเศษสำหรับสินค้าจากจีน 60-100% ส่งผลให้หลายบริษัทที่ผลิตในจีนย้ายมายังอาเซียน

 

ส่วนนโยบายแฮร์ริสเหมือนกับไบเดน จะไม่มีการขึ้นภาษีแบบทรัมป์ ซึ่งไบเดนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 25-100% แต่เป็นสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น รถ EV และเซมิคอนดักเตอร์ เก็บภาษี 100% และเก็บภาษี 50% สำหรับแผงโซลาร์เซลล์

 

สหรัฐฯ คือตลาดหลักที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุ สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work from Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาทในปี 2025

 

นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์ เติบโต 184.35% จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

 

ไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลกรองจากจีน (55,857.19 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 63%), เนเธอร์แลนด์ (9,752.84 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 11%) และมาเลเซีย (5,319.73 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6%)

 

ตลาดส่งออกสำคัญของไทยคือสหรัฐฯ มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์ (สัดส่วน 75%), เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์ (สัดส่วน 11%), อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์ (สัดส่วน 5%) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์ (สัดส่วน 4%) โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตมากถึง 144.35% จากปี 2022

 

ภาพ: QubixStudio / Shutterstock, MaHa1 / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising