สมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย (Indonesian Medical Association) เปิดเผยว่า แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 350 คนในเขตคูดุส จังหวัดชวากลาง ติดโควิด-19 แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีน Sinovac ของจีน และพบว่าหลายสิบคนเกิดอาการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
รายงานดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ซึ่ง บาดาอี อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขในเขตคูดุส เปิดเผยว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการและได้กักตัวอยู่ที่บ้าน ส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากมีไข้สูงและระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง
สำหรับเขตคูดุส ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่กว่า 5,000 คน และส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac แล้ว กำลังเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งส่งผลให้เตียงโรงพยาบาลในพื้นที่เต็มกว่า 90%
ดิคกี บูดิมาน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย เชื่อว่า สาเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อในเขตคูดุสสูงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสาเหตุที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน Sinovac แล้ว เป็นผลจากประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์นี้ได้
บุคลากรทางการแพทย์ของอินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งประชาชนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
ซึ่งผลจากการฉีดวัคซีนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 158 คนในเดือนมกราคม เหลือ 13 คนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ภาพ: Photo by Jefta Images / Barcroft Media via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: