×

เลือกตั้งอินโดนีเซีย: สมรภูมิออนไลน์ ซูเบียนโตใช้ TikTok หาเสียง สร้างภาพลักษณ์ใหม่สู่ตัวเต็งประธานาธิบดี

13.02.2024
  • LOADING...

เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน และสมรภูมิเลือกตั้งจึงเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จากในอดีตที่เรามักเห็นบรรดาผู้สมัครหาเสียงในโทรทัศน์ หรือลงพื้นที่หาเสียงในเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงตัวประชาชน แต่ในยุคที่โลกทั้งใบสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยระบบออนไลน์ TikTok กลับกลายเป็นสมรภูมิใหม่ที่ถ้าใครสามารถครองใจประชาชนในดินแดนนี้ได้ก็อาจสร้างความเป็นต่อให้กับคะแนนเสียงของตนเองด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่อ่านเกมนี้ขาดคือ ปราโบโว ซูเบียนโต ตัวเต็งที่มีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ในเวลานี้

 

สลัดคราบนายทหาร สู่ ‘คุณปู่ผู้น่ารัก’

 

ปราโบโว ซูเบียนโต เป็นผู้สมัครจากพรรคเกอรินทรา (Gerindra) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย 

 

หากไปถามคน Gen X หรือ Baby Boomer ในอินโดนีเซีย ภาพจำของซูเบียนโตคือบุตรเขยของซูฮาร์โต อดีตผู้นำเผด็จการ และเป็นทหารระดับนายพลที่เคยโดนข้อกล่าวหามาแล้วโชกโชน ทั้งเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออกช่วงยุค 1980 หรือสั่งการให้ลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายสิบคนในปลายทศวรรษ 1990 จนถูกสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียสั่งห้ามเข้าประเทศมาตั้งแต่ช่วงปี 2000 (ก่อนคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิกช่วงปี 2020 ในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์)

 

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การลงสนามครั้งแรกของเขา เพราะก่อนหน้านี้ซูเบียนโตเคยลงสมัครเลือกตั้งมาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่ก็คว้าน้ำเหลวไปทุกรอบ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้สปอตไลต์ได้สาดแสงลงมาสู่เขา พร้อมกับภาพลักษณ์ใหม่ที่มาแบบ ‘คิวท์ๆ’

 

บนโลกออนไลน์ ซูเบียนโตสลัดภาพลักษณ์อดีตนายพลผู้น่าเกรงขามออกไปแบบหมดเปลือก แต่กลายเป็นคุณปู่ทาสแมวที่พยายามเต้นสุดเหวี่ยง แม้จะดูเก้ๆ กังๆ ไปบ้าง แต่คลิปของเขาได้กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียของอินโดนีเซีย ผู้ใช้งานที่เป็นคนรุ่นใหม่และไม่เคยรับรู้เรื่องราวในอดีตของซูเบียนโตมาก่อนก็รู้สึกว่าการที่คุณปู่มาเต้นแบบไม่เกรงใจอายุออกสื่อช่างน่ารักน่าเอ็นดูเสียเหลือเกิน ถึงขั้นที่ชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่หลายคนเรียกเขาว่า ‘Gemoy’ ซึ่งเป็นคำสแลงท้องถิ่นที่แปลว่าน่ากอดหรือน่ารัก โดยหลายคลิปของเขามียอดวิวสูงแตะหลักล้าน แถมยังมีคนนำคลิปไปเต้นเลียนแบบด้วย

 

TikTok สะเทือนสมรภูมิเลือกตั้ง

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แค่คลิปนักการเมืองเต้น มันจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการเลือกตั้งได้มากขนาดไหนกันเชียว 

 

แต่นี่คงเป็นอีกครั้งที่ต้องพูดว่า ‘อย่าดูถูกพลังโซเชียล’ 

 

ถามว่าทำไม TikTok ถึงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสั่นคลอนสมรภูมิหาเสียงเลือกตั้งของบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็ต้องอธิบายแบบนี้ว่า ประชากรเกือบ 4 ใน 5 ของอินโดนีเซียมีสมาร์ทโฟนใช้ นั่นแปลว่านักการเมืองสามารถเข้าถึงพวกเขาได้ทุกที่ผ่านหน้าจอไม่ว่าจะอยู่ใกล้-ไกลมากแค่ไหนก็ตาม 

 

ยิ่งไปกว่านั้นอินโดนีเซียมียอดผู้ใช้งาน TikTok มากเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 125 ล้านบัญชี หรือรองแค่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ขณะที่ระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 29 ชั่วโมงต่อเดือน 

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Indikator Politik Indonesia เมื่อเดือนมกราคมยังระบุด้วยว่า ชาวอินโดนีเซียนิยมเสพข่าวการเมืองจาก TikTok มากเป็นอันดับ 2 รองจากสื่อหลักอย่างโทรทัศน์

 

แน่นอนว่าตัวเลขไม่เคยโกหกเรา ข้อมูลเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า TikTok คือหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ทรงอิทธิพลที่สุดในดินแดนแห่งนี้ และในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 204 ล้านคนนั้น มากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 1980-2003) หรือโซนอายุต่ำกว่านั้น ซึ่งตอนนี้กระแสของซูเบียนโตครองใจคนกลุ่มนี้อย่างมาก

 

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือฟังก์ชันการใช้งานของ TikTok ทำให้การเมืองที่เคร่งเครียดกลายเป็นเรื่องสนุกได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ คนที่ใช้งาน X ก็เน้นเสพสื่อผ่านตัวอักษร เน้นอ่านข้อมูลหรือถกกันในเรื่องของนโยบายที่น่าสนใจของบรรดาผู้สมัคร แต่ TikTok ทำให้การเลือกตั้งที่ในยุคหนึ่งเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับวัยรุ่น กลายเป็น ‘มีม’ ใหม่ให้พูดถึงได้ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีการทำคลิป มีเพลง มีการเต้นประกอบที่ออกไปในแนวสนุกสนาน โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก

 

นอกจากนี้ ซูเบียนโตยังได้รับแรงหนุนจากกระแสความนิยมในตัวของประธานาธิบดีโจโกวีด้วย เพราะถึงแม้จะอยู่ต่างพรรคกัน แต่กีบรัน ราคาบูมิง รากา วัย 36 ปี ซึ่งเป็นลูกชายของโจโกวี และเป็นคู่สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับเขา โดยราคาบูมิงเป็นนักการเมืองที่โพสต์คลิป TikTok ตามเทรนด์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคลิปตัวเองเต้นสนุกๆ หรือวิดีโอที่วัยรุ่นอินโดนีเซียกำลังฮิตกัน อย่างการแกล้งทำเป็นพูดคุยกับลูกตัวเองในอนาคต โดยคลิปที่กระแสแรงสุดนั้นมียอดวิวมากถึง 20 ล้านครั้งเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมโดยสำนักโพล LSI Denny JA แสดงให้เห็นว่า ซูเบียนโตนำมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนสูงเกินครึ่งที่ 50.7% ในขณะที่คู่แข่ง 2 คน ได้แก่ อานีส บาสวีดัน (Anies Baswedan) อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตา และ กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าจังหวัดชวากลาง มีคะแนนตามมาเท่าๆ กันที่คนละ 20%

 

ผู้เชี่ยวชาญกังวล คอนเทนต์ฉาบฉวยอาจทำให้มองข้ามสิ่งสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มก็มองว่าคอนเทนต์ที่สนุกสนานนี้อาจทำให้ผู้คนมองข้ามสิ่งสำคัญได้ 

 

เอนดาห์ ตรีอัสตูติ (Endah Triastuti) นักวิจัยด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าวว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นเยาว์จำนวนมากอาจไม่ทราบว่าในอดีตซูเบียนโตเคยถูกบีบให้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ

 

ขณะที่อุสมัน ฮามิด กรรมการบริหารของ Amnesty International Indonesia กล่าวว่า “ไม่เพียงรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในอดีต แต่รัฐบาลยังต้องรับผิดชอบต่อจำนวนผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงด้วย”

 

แม้ TikTok จะประกาศว่านโยบายของตนคือการลบข้อความที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม และทำงานร่วมกับทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อตั้งค่าสถานะหรือลบข้อมูลดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถขจัดภาพที่ถูกดัดแปลงขึ้นมาใหม่ หรือวิดีโอ Deepfake ของบรรดาผู้สมัครที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ได้ 100% 

 

ท้ายที่สุดนี้ แม้โพลหลายสำนักจะชี้ว่าบัดนี้คะแนนนิยมของซูเบียนโตนำมาเป็นอันดับ 1 ในบรรดาผู้สมัครทั้ง 3 คน แต่ผลการเลือกตั้งก็อาจออกมาพลิกโผได้ เพราะนอกจากความสนุกสนานแล้ว ผลการวิจัยจาก Centre for Strategic and International Studies ยังระบุด้วยว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่พวกเขายังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของผู้สมัคร โดยเฉพาะเรื่องของตลาดงานและอัตราการว่างงาน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกรวนที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย 

 

ฉะนั้นผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร 14 กุมภาพันธ์นี้ ชาวอินโดนีเซียทั้งประเทศจะร่วมตัดสิน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising