×

อินโดนีเซียไม่รอช้า! เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 75% เล็งหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งใหม่ หลังหารือผู้นำรัสเซีย-สหรัฐฯ

04.12.2024
  • LOADING...
อินโดนีเซีย พลังงานสะอาด

ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, เมียนมา, มาเลเซีย รวมถึงไทย ต่างมีแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดโดยการมุ่งพัฒนา หนึ่งในแผนคือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องแล้วเสร็จในทศวรรษหน้า หรือปี 2037 

 

เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ล่าสุด South China Morning Post รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งใหม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ ปราโบโว ซูเบียนโต ได้หารือกับ วลาดิเมียร์ ปูติน และ โจ ไบเดน ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากนักวิจารณ์บางฝ่ายที่ออกโรงเตือนเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีและต้นทุนที่สูง

 

ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่า รัฐบาลวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ 2 แห่ง โดยเป็นหนึ่งในแผนการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด แม้ว่าผู้สนับสนุนจะผลักดันโครงการนี้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ซึ่งอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในทางกลับกันนักวิจารณ์บางกลุ่มก็มีข้อกังวลถึงสิ่งแวดล้อม สารกัมมันตรังสี และต้นทุนที่สูง

 

ฮาชิม โดโจฮาดิกูซาโม ที่ปรึกษาคนสนิทของซูเบียนโต เปิดเผยในการประชุม COP29 ที่บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 100 กิกะวัตต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน 75% จากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด และจะมาจากพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มอีก 5 กิกะวัตต์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2060

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ทั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งที่มีกำลังการผลิตต่างกัน โดยจะก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย ต้องทนต่อแผ่นดินไหว และไม่สร้างในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง

 

รวมไปถึงรัฐบาลกำลังศึกษาการพัฒนา ‘เครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ลอยน้ำขนาดเล็ก’ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 300 เมกะวัตต์ 

 

ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อไม่นานนี้ ปราโบโว ซูเบียนโต เชิญชวนให้นักธุรกิจมาลงทุนในโครงการนิวเคลียร์อินโดนีเซีย

 

อีกทั้งหากย้อนกลับไปในช่วงเดือนสิงหาคมก็มีรายงานว่าเขาได้หารือถึงความร่วมมือกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เกี่ยวกับการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็กและเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลัก (Small Modular and Main Nuclear Reactors) ในอินโดนีเซียกับบริษัทนิวเคลียร์ของรัสเซีย 

 

พร้อมทั้งมองหาโอกาสเช่นเดียวกันนี้กับสหรัฐฯ ในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็กหลังการประชุมกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้

 

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เครื่องสำหรับการวิจัย รวมถึงเครื่องปฏิกรณ์ TRIGA ในบันดุง ซึ่งสร้างโดยสหรัฐฯ โดยเปิดตัวโดยประธานาธิบดีซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรก เมื่อปี 1965 

 

แม้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวจะไม่มีการใช้งานแล้ว แต่ยังมีเครื่องปฏิกรณ์อีก 2 เครื่องที่ยังสามารถเดินเครื่องได้ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์ที่ผลิตในอินโดนีเซียในเมืองยอกยาการ์ตา ทางตอนกลางของจังหวัดชวา ซึ่งมีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 1979 และเครื่องปฏิกรณ์ที่ผลิตจากประเทศเยอรมนีในเมืองเซอร์ปง ทางตะวันตกของกรุงจาการ์ตา ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ปี 1987

 

ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่อินโดนีเซียต้องการเพิ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็คือ ความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอในการดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมนิวเคลียร์ 

 

ไทยและเพื่อนบ้านเล็งหาทำเลสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก

 

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor (SMR) นั้นสามารถผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำได้ด้วยกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม กำลังเป็นหนึ่งในโซลูชันใหม่ที่หลายๆ ประเทศกำลังผลักดัน โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่โดดเด่นและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมไปถึงเมียนมา ซึ่งได้นำแผนในอดีตกลับมาปัดฝุ่น

 

รวมถึงไทยล่าสุดที่ THE STANDARD WEALTH ได้รับข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า จะเร่งผลักดันร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ให้ทันปี 2024 โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น 51% 

 

โดยเบื้องต้นสัดส่วนหลักจะมาจากโซลาร์, ก๊าซธรรมชาติ 40% และไฮโดรเจน 5% ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะรวมอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และปลายแผนฯ จะมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์เข้ามาเป็นทางเลือกอีกด้วย

 

ภาพ: Sylvain Sonnet / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X