ธนาคารกลาง อินโดนีเซีย (BI) เร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 3.9 แสนล้านรูเปีย ในตลาดรอง และคาดว่าจะมีการขายเพิ่มเติมอีกเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียไม่ให้อ่อนค่าลงรุนแรง
ปัจจุบัน BI ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ธนาคารกลางของโลกที่ยังใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำจากช่วงโควิดอยู่ อย่างไรก็ตาม BI ได้เริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการออกคำสั่งให้ธนาคารในประเทศต้องเพิ่มระดับเงินสำรองไปจนถึงเดือนกันยายน
“หลังจากสั่งให้แบงก์ต้องเพิ่มเงินสำรอง BI ยังทำให้เงินรูเปียแข็งค่าผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง” Edi Susianto หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการเงินของ BI ระบุ
การขายพันธบัตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้อุปสงค์และอุปทานในตลาดเงินและตลาดพันธบัตรมีความสมดุลขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปีย ข้อมูลจากกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียระบุว่า ณ วันที่ 14 กรกฎาคม BI มีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอยู่ 824.54 ล้านล้านรูเปีย หรือราว 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้ Perry Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้ออกมายืนยันว่า การปรับนโยบายการเงินของ BI ในปีนี้จะไม่ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวจนกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
อินโดนีเซียจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ โดย Warjiyo ได้เปิดเผยกับ Reuters ว่า BI อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสนี้ เพื่อลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศในอนาคต
อ้างอิง: