ธุรกิจยักษ์ใหญ่ Unilever, McDonald’s, Starbucks และ Danone ต้องกุมขมับ! หลังถูกชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียแบนสินค้า พร้อมถูกมองว่าเป็นธุรกิจสนับสนุนสงครามตะวันออกกลาง จนซีอีโอหวั่นกระทบยอดขายทั้งปี 2024
Nikkei Asia รายงานว่า ขณะนี้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ Unilever, McDonald’s, Starbucks และ Danone กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ หลังถูกผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียแบนสินค้า ซึ่งคาดว่าจะกระทบยอดขายลากยาวไปถึงปลายปี 2024
เป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และต้นตอปัญหาก็มาจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส เพราะหลายคนมองว่าบริษัทข้ามชาติเป็นธุรกิจที่สนับสนุนสงครามในตะวันออกกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พิษสงคราม! Unilever ถูกผู้บริโภคในอินโดนีเซียแบน กดรายได้ร่วง 15% Starbucks และ KFC ก็ไม่รอด
- Yum! Brands เชนฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่เร่งกอบกู้ยอดขาย หลังแบรนด์หลักยอดขายต่ำกว่าเป้า รับพิษสงครามยืดเยื้อ
- อิสราเอล vs. ฮามาส: วิกฤตตะวันออกกลาง-วิกฤตโลก
“เราพยายามหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ของ Unilever และ Danone เพราะเรามองว่าพวกแบรนด์สินค้าตะวันตกมีการสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผย” พนักงานออฟฟิศวัย 28 ปีกล่าวผ่านสื่อท้องถิ่น
ขณะที่ Fernando Fernandez ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Unilever กล่าวว่า เราทำตลาดในอินโดนีเซียมาเป็นเวลา 90 ปี จนสินค้าหลายๆ แบรนด์ติดตลาด ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเราเห็นยอดขายสินค้าในอินโดนีเซียลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก ซึ่งไม่เพียงแต่แบรนด์ของเราเท่านั้น แต่ยอดขายของบริษัทข้ามชาติหลายแห่งก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าสร้างความกังวลให้กับบริษัทอย่างมาก
ไม่เว้นแม้แต่ McDonald’s เชนฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมายอดขายไม่ได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ จน Chris Kempczinski ซีอีโอ McDonald’s ออกมาบอกว่า ตราบใดที่สงครามในตะวันออกกลางยังยืดเยื้อ บริษัทก็ได้รับผลกระทบไปเรื่อยๆ
รวมถึง Starbucks ในมาเลเซียที่มีสาขาอยู่ 400 แห่ง โดยมีบริษัท Berjaya Food เป็นผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ รายงานว่า ยอดขายรายไตรมาสที่สิ้นสุดในเดือนธันวาคมลดลงถึง 38.2% หรืออยู่ที่ 38.7 ล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากลูกค้าคว่ำบาตรแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
Berjaya Food ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ Starbucks ในมาเลเซีย ออกมาปฏิเสธว่า เราไม่ได้สนับสนุนสงคราม และขอประณามความรุนแรง คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์สูญเสียแก่ชีวิต และบริษัทไม่ได้ใช้กำไรของเราเพื่อเป็นเงินทุนให้กับรัฐบาลและทหารในสงครามเลยสักครั้ง พร้อมเรียกร้องให้หยุดแบนสินค้าได้แล้ว เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย ที่สำคัญพนักงานในร้าน 80-85% ก็เป็นชาวมุสลิม
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ CGS-CIMB ในมาเลเซียกล่าวในรายงานว่า การคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบต่อยอดขายระยะสั้นของ Berjaya Food ผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ Starbucks ในมาเลเซีย และต้องประเมินดูราคาหุ้นจนกว่าการคว่ำบาตรจะเริ่มซาลง พร้อมยังคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิในปีงบประมาณ 2024 ของบริษัทจะลดลง 30%
เช่นเดียวกับ Danone บริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศส ได้รับผลกระทบในตลาดอินโดนีเซียมากสุด เพราะเครื่องดื่มขายแทบไม่ได้เลย โดย Neneng Suria เจ้าของร้านสะดวกซื้อในเมืองจาการ์ตา ระบุว่า ความต้องการสินค้าลดลงประมาณ 80% จนทำให้สินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก
จากนั้นไม่นานตัวแทนจาก Danone ออกมาบอกว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจและไม่มีโรงงานในอิสราเอล ไม่เหมือนกับในอินโดนีเซียที่มีโรงงาน 25 แห่ง และมีพนักงาน 13,000 คน
อย่างไรก็ตาม Tempo สื่อท้องถิ่น รายงานว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ฮามาสโจมตีอิสราเอล และสังหารผู้คนประมาณ 1,200 คน กลุ่มฮามาสยังจับคนกว่า 200 คนไปยังฉนวนกาซา ซึ่งบางคนก็ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ฉนวนกาซามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน ตั้งแต่นั้นมาก็มีการโจมตีและตอบโต้กันมาตลอด
ที่ผ่านมา Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และ Anwar Ibrahim นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็ได้ออกมาประณามการกระทำของอิสราเอลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสื่อของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจอย่างมาก แต่รัฐบาลทั้งสองก็ไม่ได้สั่งห้ามให้ผู้บริโภคแบนสินค้าของบริษัทรายใหญ่แต่อย่างใด
อ้างอิง: