×

ประชากรอินเดียเพิ่มแซงจีนขึ้นเป็นแชมป์โลก จะส่งผลอย่างไรหลังจากนี้

29.04.2023
  • LOADING...
ประชากร อินเดีย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนอาจมีภาพจำหรือท่องจนขึ้นใจในแบบเรียนมาตลอดว่าจีนคือประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก แต่เห็นทีว่าเราจะต้องเปลี่ยนสิ่งที่เคยเชื่อมาตลอดตั้งแต่เด็ก เพราะองค์การสหประชาชาติ (UN) เพิ่งออกมาเปิดเผยสดๆ ร้อนๆ ว่าประชากรอินเดียจ่อทะยานขึ้นแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างจีนภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านประชากรศาสตร์โลก

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการที่จีนบังคับใช้นโยบายมีลูกคนเดียวมานานหลายทศวรรษ ทำให้อัตราการเกิดลดลงอย่างมาก จนอินเดียแซงหน้าไปได้ในที่สุด

 

แต่ถึงเช่นนั้น…ตำแหน่ง ‘แชมป์’ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกชาติอยากครอบครองเสมอไป

 

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่ประชากรในประเทศทะยานพุ่งพรวด อีกทั้งยังกล่าวยกย่องครอบครัวที่คิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนมีลูกเพิ่ม เพราะเด็กหนึ่งคนจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทั้งในระดับครอบครัวและในระดับชาติ

 

“สำหรับอินเดียในศตวรรษที่ 21 การเติมเต็มความฝันนั้นเริ่มต้นจากที่ตัวบุคคล และเริ่มต้นจากครอบครัว หากประชากรไม่ได้รับการศึกษาที่ดี มีสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือประเทศก็ล้วนไม่มีความสุข” โมดีกล่าว

 

THE STANDARD ขอพาทุกคนไปทำร่วมทำความเข้าใจว่าอินเดียมาถึงจุดที่มีประชากรสูงสุดในโลกได้อย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้

อินเดียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

สำนักข่าว CNN นำเสนอข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขคาดการณ์ประชากรโลกของ UN รวมถึงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านประชากรศาสตร์ เพื่อหาที่มาที่ไปถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 

จากการวิเคราะห์พบว่า ภาวะเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคน เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของประชากร โดยทั่วไปนั้นอัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยของแต่ละประเทศควรต้องอยู่ที่ 2.1 เพื่อให้จำนวนประชากรในชาติคงที่อยู่ได้หรือมีการขยายตัวในระดับที่พอเหมาะ

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960 หรือในยุคที่คุณปู่คุณย่าของเราเพิ่งจะมีลูกใหม่ๆ ภาวะเจริญพันธุ์ของอินเดียอยู่ที่ระดับ 6 ซึ่งใกล้เคียงกับบางประเทศในแอฟริกาในขณะนี้ แต่ข้อมูลจากรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของอินเดียลดลงเหลือ 2.0 ในช่วงการประเมินทั่วประเทศครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 2019-2021 และลดลงจากระดับ 3.4 ในช่วงปี 1992-1993 

 

บางคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อภาวะเจริญพันธุ์ลดลงแล้ว เหตุใดจำนวนประชากรยังพุ่งแรงเช่นนี้ นั่นก็เป็นเพราะ ‘แรงเหวี่ยงทางประชากร’ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Population Momentum คือถึงแม้ภาวะเจริญพันธุ์จะปรับตัวลงแล้ว แต่เราต้องไม่ลืมว่าประชากรกลุ่มเด็กจำนวนมหาศาลที่เกิดในช่วงที่อินเดียมีภาวะเจริญพันธุ์สูงก่อนหน้านี้ พวกเขาก็ได้เติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และพร้อมจะเป็นพ่อแม่คนต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีบุตรจำนวนน้อยลงกว่าคนรุ่นก่อน แต่ก็ยังสามารถให้กำเนิดประชากรได้มากต่อไปอีกหลายสิบปีนั่นเอง ส่งผลให้จำนวนประชากรอินเดียยังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ติดท็อป 10 ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการเจริญพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ของประเทศนั้นมีความสูงต่ำไม่สม่ำเสมอกัน แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญแปลกใจคือ ภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดในอินเดียซึ่งอยู่ที่รัฐพิหาร (Bihar) อยู่ที่แค่ 3.0 เท่านั้น ถือว่าไม่ใช่ตัวเลขที่สูงเลยแม้แต่น้อย ขณะที่หลายรัฐมีตัวเลขต่ำกว่า 2.1 โดยทางตอนเหนือของประเทศเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากกว่าทางใต้

 

ทีนี้เรามาดูสถานการณ์ทางตอนใต้ซึ่งมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกันบ้าง ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือรัฐกัว (Goa) ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ใกล้เคียงกับบางประเทศทางตอนใต้ของยุโรป ซึ่งตอนนี้กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรับมือกับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับประชากรวัยแรงงานที่ลดลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้นำของอินเดียไม่ควรเพิกเฉยต่อปัญหานี้เด็ดขาด

 

ข้อมูลจาก UN เผยว่า ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ หรือแปลว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในบางรัฐของอินเดีย เช่น รัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ตัวเลขของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้พุ่งมาแตะที่ 12% แล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแนวโน้มในลักษณะนี้จะกระจายตัวไปยังรัฐอื่นๆ เพิ่มอีกในช่วง 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำของหลายรัฐ

การขยายตัวของประชากรเริ่มชะลอตัวลง

 

แม้อินเดียอาจแซงหน้าจีนในด้านจำนวนประชากรก็จริง แต่ข้อมูลของ UN แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของประชากรได้ชะลอตัวลงแล้ว

 

ระหว่างปี 1971-1981 ประชากรของอินเดียเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 2.2% ในแต่ละปี ส่วนในช่วงปี 2001-2011 ตัวเลขดังกล่าวก็ได้ชะลอตัวลงเหลือ 1.5% และตัวเลขปัจจุบันก็คาดว่าจะต่ำลงอีก จากการคาดการณ์ของ UN ระบุว่า จุดพีคของจำนวนประชากรอินเดียจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านคนในปี 2064

 

ปัจจุบันประชากรกว่า 40% ของอินเดียมีอายุต่ำกว่า 25 ปี และอายุเฉลี่ยของประชากรปี 2023 อยู่ที่ 28 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยที่น้อยกว่าจีนเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว ส่วนข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เปิดเผยว่า ในปี 2021 ประชากรวัยทำงานของอินเดียอยู่ที่กว่า 900 ล้านคน และคาดว่าจะแตะที่ 1,000 ล้านคนในช่วงทศวรรษหน้า

 

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดคงจะพอมองภาพกันออกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อินเดียมีจุดแข็งคือเรื่องของ ‘แรงงาน’ เพราะอินเดียมีประชากรวัยทำงานมหาศาล อีกทั้งยังมีค่าแรงถูก พูดภาษาอังกฤษได้ มีความรู้ด้านดิจิทัลเป็นอย่างดี แถมยังมีชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้ประกอบการอีกต่างหาก ทำให้อินเดียเป็นแดนสวรรค์ที่แสนเย้ายวนสำหรับผู้ประกอบการจากชาติตะวันตก ซึ่งกำลังมองหาฮับการผลิตแห่งใหม่มาเป็นทางเลือกเสริมนอกเหนือจากจีน

 

อย่างไรก็ดี แม้ในวันนี้อินเดียจะมีความโดดเด่นในฐานะประเทศที่มีแรงงานแข็งแกร่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผู้นำของอินเดียควรต้องออกนโยบายที่สอดคล้องกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากพลเมืองที่มีอายุน้อยเหล่านี้อย่างเต็มที่ เพราะแค่ปริมาณอาจไม่พอ แต่คุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องมาพร้อมกัน โดยทางการอินเดียควรออกนโยบายที่ส่งเสริมให้คนเป็นแรงงานที่มีทักษะ เพื่อเข้ามาเติมเต็มงานที่มีมูลค่าและให้ค่าตอบแทนสูง รวมถึงต้องสร้างเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งที่มีการจ้างงานกลุ่มแรงงานทักษะสูงเหล่านี้

จะเกิดอะไรขึ้นกับอินเดียนับจากนี้

 

แม้ในตอนนี้อินเดียจะยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก (หากพิจารณาจากรายได้ต่อหัวของประชากร) แต่อินเดียกำลังขยับตัวเองเพื่อไต่ขึ้นสู่ทำเนียบเศรษฐกิจโลก โดยปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียมีมูลค่าเกือบ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นหนึ่งในชาติที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดด้วย

 

ในปี 2023 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวได้ดีกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 6.6% เทียบกับจีนที่โต 4.3% และสหรัฐอเมริกาขยับเพียงแค่ 0.5% ในขณะที่การคาดการณ์บางส่วนระบุว่า อินเดียจะไต่ขึ้นมาครองตำแหน่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ภายในช่วงปี 10 ปีข้างหน้า และกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่มี GDP แตะหลัก 10 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035

 

ดูเหมือนอนาคตของอินเดียจะก้าวไปในทิศทางที่สดใส ทว่า…ความมั่งคั่งนั้นกลับไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง

 

ปัจจุบันชาวอินเดียหลายล้านคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนเส้นความยากจน โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ประเทศจะมีจำนวนประชากรที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมหาศาล แต่กลับกลายเป็นว่าอินเดียไม่มีตำแหน่งงานมากพอที่จะรองรับกลุ่มคนดังกล่าว

 

ปัญหานี้เลวร้ายหนัก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ทางตอนเหนือของประเทศที่ประชาชนเน้นทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น รัฐอุตตรประเทศซึ่งมีประชากรกระจุกตัวอยู่มากถึง 17% ของประเทศ แต่กลับมีงานในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น

 

ซาบีนา เทวัน นักวิจัยอาวุโสของ Center for Policy Research กล่าวว่า การเติบโตของจำนวนประชากรสามารถเป็น ‘พลังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล’ แต่ขณะเดียวก็ต้องไม่ลืมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับการจัดหางานที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผล และมีค่าตอบแทนที่ดีด้วย

 

ฉะนั้นสิ่งที่อินเดียควรทำเป็นอันดับแรกคือการทุ่มเงินลงทุนในภาคการศึกษาให้มากขึ้น ผลักดันให้ประชาชนเรียนสูงกว่าระดับประถม โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี โดยทางการควรเสริมแกร่งให้กับระบบการศึกษาในระดับชั้นมัธยม และสถานที่ศึกษาควรต้องมีความปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงด้วย เพราะปัจจุบันอินเดียเผชิญปัญหาที่ผู้ปกครองจำนวนมากไม่กล้าส่งลูกหลานผู้หญิงไปเรียนในโรงเรียนมัธยมที่อยู่ไกลบ้าน เพราะห่วงเรื่องของความปลอดภัย

 

ตัวเลขในปี 2021 ระบุว่า ผู้หญิงที่เลิกเรียนและเข้าสู่ตลาดแรงงานมีสัดส่วนแค่เพียง 19% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานโดยรวมที่ 46% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในเอเชียแล้ว

 

ฉะนั้นความท้าทายอันใหญ่หลวงที่อินเดียกำลังเจออยู่ตอนนี้คือ เรื่องของการศึกษา การฝึกฝนแรงงานทักษะสูง ตลอดจนการสร้างงานที่ดีและเพียงพอกับจำนวนประชากรที่ล้นทะลัก ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำของอินเดียต้องเร่งวางนโยบายตั้งแต่ตอนนี้ มิเช่นนั้นอินเดียจะสูญเสียศักยภาพอันมหาศาลจากแรงงานซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง และมีความฝันที่จะสร้างประเทศให้ดีกว่าเดิม

 

แฟ้มภาพ: Sankhadeep Banerjee / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising