เวลานี้ผู้คนในประเทศอินเดียกำลังเดือดดาล หลังโลกโซเชียลแห่แชร์คลิปเหตุการณ์สุดสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในรัฐมณีปุระ โดยภาพจากวิดีโอเผยให้เห็นผู้ชายหลายสิบคนที่กำลังเดินขบวนอยู่ตามถนน พร้อมกับหญิง 2 คนที่ถูกบังคับให้เปลือยกายล่อนจ้อนเดินไปตามทาง
คลิปวิดีโอดังกล่าวมีความยาวเพียงแค่ 26 วินาที แต่เผยให้เห็นถึงการกระทำอันป่าเถื่อน ภาพที่อยู่ในนั้นคือผู้ชายกลุ่มใหญ่ โดยบางคนดูเหมือนว่าจะมีอายุแค่ 15 ปีด้วยซ้ำ พยายามบีบบังคับหญิงที่กำลังเปลือยกายอยู่นี้ให้เดินไปตามถนนและทุ่งโล่ง อีกทั้งยังมีการจับคลำร่างกายที่เปลือยเปล่าของพวกเธอ โดยสืบทราบภายหลังว่าหญิงทั้ง 2 คนมาจากชนเผ่ากูกิ (Kuki)
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า มีหญิงอย่างน้อย 1 คนในคลิปที่ถูกชายกลุ่มดังกล่าวรุมข่มขืน โดยเธอมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ขณะที่ผู้หญิงอีกคนหนึ่งอายุ 42 ปี แต่ไม่ทราบว่าเธอถูกประทุษร้ายในรูปแบบอื่นๆ อีกหรือไม่
คลิปวิดีโอดังกล่าวเพิ่งหลุดออกมาเมื่อคืนนี้ (20 กรกฎาคม) แต่แหล่งข่าวระบุว่า คลิปนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม หรือเพียง 1 วันหลังจากที่รัฐมณีปุระของอินเดียเผชิญกับเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนให้ถนนหนทางในเมืองมีสภาพไม่ต่างจากสมรภูมิรบ โดยตัวละครหลักของเรื่องนี้กลุ่มแรกคือ ‘กลุ่มชาติพันธุ์เมเต’ (Meitei) ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ส่วนกลุ่มต่อมาคือชนเผ่า ‘นากา’ (Naga) และ ‘กูกิ’ (Kuki) ที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลักในรัฐห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งทุกฝ่ายมีความขัดแย้งเรื้อรังมานมนานแล้ว
-
ตำรวจเผยจับได้อาจถูกประหารชีวิต
สำนักข่าว Al Jazeera ระบุว่า วิดีโอนี้เพิ่งมาปรากฏสู่สายตาสาธารณชน 2 เดือนหลังเกิดเหตุ เนื่องจากในรัฐมณีปุระของอินเดียมีการสั่งแบนการใช้งานอินเทอร์เน็ตตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม อันเป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนในอินเดียเป็นอย่างมาก
เหตุการณ์ดังกล่าวยังกระตุ้นให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ต้องออกมากล่าวถึงเหตุความรุนแรงในรัฐมณีปุระเสียที หลังจากที่เขานิ่งเงียบมากว่า 2 เดือน โดยวานนี้ เขาออกมาแถลงกับสื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขารู้สึกหดหู่และรู้สึกโกรธไปพร้อมๆ กัน
ซาจิดานันดา ซอยบาม (Sachidananda Soibam) ผู้กำกับการตำรวจในเขตธูบัล (Thoubal) ของรัฐมณีปุระ บอกกับ Al Jazeera ว่า พวกเขาเห็นวิดีโอไวรัลดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้เอง (19 กรกฎาคม) พร้อมรับปากว่าจะเร่งหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้
โดยวานนี้ ตำรวจสามารถจับกุมตัว คูเรม เฮโรดาส (Khuirem Herodas) ชายวัย 32 ปีจากกลุ่มชาติพันธุ์เมเต ในฐานะหนึ่งในผู้ต้องสงสัยต่อเหตุการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อหญิงเคราะห์ร้ายทั้ง 2 คนได้แล้ว โดยตำรวจกล่าวว่าจะมีการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดทั้งหมดมาลงโทษให้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาด้วยว่าพวกเขาสมควรรับโทษประหารชีวิตด้วยหรือไม่
-
“สามีและลูกชายของฉันถูกฆ่าตาย ส่วนลูกสาวถูกข่มขืน”
แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันหลังจากที่คลิปดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา แต่ครอบครัวของเหยื่อกล่าวว่า ทั้งคำพูดสวยหรูและการกระทำของเจ้าหน้าที่ในตอนนี้ ‘มันสายไปเสียแล้ว’ อีกทั้งยังกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยแยแสต่อสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของพวกเธอแม้แต่น้อย
ครอบครัวของเหยื่อที่รอดชีวิตมาได้ทั้ง 2 คนเปิดใจกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า พวกเขาได้ยื่นเรื่องกรณีการกระทำความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ให้กับตำรวจตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม แต่ตำรวจใช้เวลานานกว่า 1 เดือนกว่าที่จะโอนคดีดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาล
และหลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย…จนกระทั่งมีคลิปผุดขึ้นมาจนเป็นไวรัลในโลกออนไลน์
หนึ่งในครอบครัวของผู้เสียหายเปิดเผยถึงเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจ โดยแม่ของหญิงวัย 21 ปีเล่าว่า ตอนที่กลุ่มชาติพันธุ์เมเตก่อเหตุโจมตีหมู่บ้านบีพนม (B Phainom) ในเขตกังโปกปี (Kangpokpi) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเอกของรัฐมณีปุระอย่างเมืองอิมผาลไปประมาณ 40 กิโลเมตร ก็มีตำรวจเข้าร่วมกับกลุ่มม็อบด้วย
“สามีของฉันถูกม็อบฆ่าตาย เราอ้อนวอนให้ตำรวจช่วยเรา”
เธอกล่าวว่า ในตอนแรกตำรวจพยายามพาเธอพร้อมกับลูกสาววัย 21 ปีและลูกชายวัย 19 ปีเดินทางไปยังสถานที่ปลอดภัย แต่เมื่อเห็นฝูงม็อบกลุ่มใหญ่ ตำรวจกลับส่งพวกเขากลับไปที่จุดที่ร่างของสามีของเธอนอนจมกองเลือดอยู่บนพื้น
ความเลวร้ายยังไม่หมดแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นกลุ่มม็อบก็มายืนล้อมตัวลูกสาวของเธอ และเริ่มกระทำความรุนแรงทางเพศต่อหน้าต่อตา และเมื่อน้องชายของเหยื่อพยายามช่วยพี่สาว ปรากฏว่าเขาก็ถูกฆ่าตายด้วยอีกคน
หญิงวัย 21 ปีเปิดใจกับ Al Jazeera ด้วยเช่นกัน โดยเธอพูดด้วยความคับแค้นใจว่า “ตำรวจพูดออกมาได้อย่างไรว่าพวกเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ตรงนั้นในขณะที่เราถูกทำร้าย พวกเขานำศพพ่อและน้องชายของฉันไปที่โรงเก็บศพของรัฐบาลในเมืองอิมผาลเองด้วยซ้ำ”
“เราไม่ไว้วางใจหัวหน้ารัฐมนตรี แต่ฉันต้องการความยุติธรรมให้กับลูกสาวของฉัน เพื่อสามีและลูกชายที่ตายไปแล้วของฉันด้วย” แม่ของเหยื่อกล่าว
-
เกิดอะไรขึ้นในมณีปุระกันแน่
THE STANDARD ลำดับข้อมูลเพื่อเป็นพื้นความรู้ให้กับผู้อ่าน โดยเริ่มจากตัวละครสำคัญซึ่งกำลังเป็นคู่ขัดแย้งในรัฐมณีปุระ
กลุ่มแรกคือ ‘กลุ่มชาติพันธุ์เมเต’ (Meitei) ชุมชนชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในรัฐมณีปุระ ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของอินเดียเมื่อปี 2011 ระบุว่า ในจำนวนประชากรทั้งรัฐที่ราว 3.5 ล้านคน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เมเตไปแล้วเกิน 50% โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองอิมผาล เมืองเอกของรัฐมณีปุระ
กลุ่มต่อมาคือชนเผ่า ‘นากา’ (Naga) และ ‘กูกิ’ (Kuki) โดยสมาชิกชนเผ่าทั้ง 2 ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรัฐมณีปุระ โดยพวกเขามีสถานะเป็น ‘ชนเผ่าที่ถูกกำหนด’ (Scheduled Tribe) หรือเป็นชนเผ่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ และได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายอินเดียกำหนด รวมถึงสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินบนเนินเขาและป่าไม้ โดยทั้งสองชนเผ่านับเป็นชนเผ่าสำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่ตามเนินเขา
ด้วยความที่รัฐมณีปุระเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง นอกจาก 3 กลุ่มข้างต้นแล้วก็ยังมีชนเผ่าอื่นๆ อีก เช่น ชนเผ่ามิโซ (Mizo) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา
-
ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขัดแย้งกัน
ความขัดแย้งปะทุขึ้นในเขตจุราจันทปุระ (Churachandpur) ของรัฐมณีปุระ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนเผ่ากูกิมีอำนาจอยู่ โดยชนเผ่ากูกิได้ประท้วงต่อต้านข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์เมเตที่หวังจะได้รับสถานะชนเผ่าที่ถูกกำหนด
โดยนิยามของคำว่าชนเผ่าที่ถูกกำหนดนั้น คือชนเผ่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และจะได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองที่ดิน สิทธิการรักษาพยาบาล การศึกษา หรือการทำงานในหน่วยงานของรัฐ
สำหรับในรัฐมณีปุระเอง หลายชนเผ่าก็ได้รับสถานะดังกล่าวแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างเมเตกลับไม่ได้รับการยืนยันสถานะนี้ ซึ่งทางกลุ่มเองก็ได้เดินหน้าเรียกร้องประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากมองว่าสมาชิกของเมเตยังคงมีสภาพเป็นคนชายขอบเมื่อเทียบกับชุมชนหลักอื่นๆ ในมณีปุระ
แต่ชนเผ่าอื่นๆ ไม่ได้คิดเช่นนั้น พวกเขามองว่าการให้สถานะชนเผ่าที่ถูกกำหนดแก่เมเตถือจะทำให้สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ถูกแย่งงานและเสียสิทธิประโยชน์ของตนเองไป อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า พวกเขาต่างหากที่เป็นคนชายขอบ ไม่ใช่กลุ่มเมเตที่มีความโดดเด่นและเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในภูมิภาคนี้
-
จากความขัดแย้งสู่การประท้วงใหญ่
ชนเผ่าต่างๆ มองว่ากลุ่มเมเตมีอิทธิพลมากที่สุดในรัฐมณีปุระอยู่แล้ว โดยสมาชิกของกลุ่มเมเตหลายคนมีตำแหน่งในรัฐบาลของมณีปุระ จึงทำให้ทางกลุ่มมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ อีกทั้งการเข้าสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานก็มีมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มเมเตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเอกของรัฐซึ่งมีการพัฒนาก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่กลุ่มนากาและกูกิส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเนินเขาที่ได้รับการคุ้มครอง
แล้วเหตุใดเล่า…กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอภิสิทธิ์เช่นนี้อยู่แล้วจึงจะต้องได้รับสถานะยืนยันดังกล่าวด้วย? ทำไมจะต้องแบ่งเค้กก้อนใหญ่ให้พวกเขามีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม?
เมื่อคำถามนี้ดังขึ้น สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐมณีปุระรวมหลายพันคนจึงออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อต่อต้านการอนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์เมเตมีสถานะเป็นชนเผ่าที่ถูกกำหนด โดยพวกเขากังวลว่าหากเมเตได้รับสถานะนี้ไป เมเตก็จะมีสิทธิถือครองที่ดินและพื้นที่บนภูเขา ซึ่งมีชนเผ่าอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิครอบครองอยู่
กระแสความไม่พอใจได้ลุกลามไปสู่เหตุนองเลือดกลางเมืองอิมผาล ตลอดจนพื้นที่อื่นๆ ของรัฐ ภาพจากวิดีโอเผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาอาคารบ้านเรือนของประชาชนและโบสถ์ในพื้นที่ โดยนับตั้งแต่ที่เหตุความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ก็มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 130 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของชนเผ่ากูกิ ขณะที่ประชาชนกว่า 50,000 คนหนีตายออกจากบ้านเรือนของตนเองเพราะหวั่นเกรงว่าจะถูกลูกหลงเข้าสักวัน โดยในเมืองมีสภาพไม่ต่างจากสมรภูมิรบ อาคารบ้านเรือนนับพันหลังถูกเผาทำลาย รถยนต์หลายคันถูกจุดไฟเผาวอดอยู่กลางถนน ควันดำจากเพลิงไหม้ลอยโขมงอยู่เต็มท้องฟ้า
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดข้อขัดแย้งกัน โดยที่ผ่านมานั้น ชุมชนเมเตและชนเผ่าต่างๆ มีประวัติต่อสู้กันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปมมาจากความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ที่เรื้อรังมายาวนาน รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น สิทธิในการครอบครองที่ดิน และการปราบปรามชนกลุ่มน้อย
ภาพ: Somanth Sen via Reuters Connect
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/world-asia-india-66260730
- www.aljazeera.com/news/2023/7/20/outrage-in-india-over-video-of-manipur-women-paraded-naked-raped
- www.aljazeera.com/news/2023/5/7/what-has-spurred-ethnic-violence-in-indias-manipur
- www.theguardian.com/world/2023/may/05/indian-troops-ordered-to-shoot-on-sight-amid-violence-in-manipur
- www.theguardian.com/world/2023/may/08/horrific-stories-thousands-flee-ethnic-violence-north-east-india-manipur
- edition.cnn.com/2023/05/08/india/india-manipur-violence-ethnic-explainer-hntl-hnk/index.html
- edition.cnn.com/2023/05/07/india/manipur-ethnic-violence-over-50-dead-india-intl-hnk/index.html
- www.reuters.com/world/india/indians-return-home-camps-riot-hit-northeast-2023-05-08/