อินเดีย เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเรื้อรังมาเป็นเวลานาน
ข้อมูลจากฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการวิจัยสภาพชั้นบรรยากาศทั่วโลก หรือ EDGAR (Emission Database for Global Atmospheric Research) ระบุว่า เมื่อปี 2015 พวกเขามีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป (EU 28) และพบว่าปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมานั้นสูงถึง 2,454,968.12 ตัน
ขณะที่ในปี 2016 เว็บไซต์จัดเก็บข้อมูลและสถิติ ‘Statista’ ได้เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ และพบว่าอินเดียยังคงมีอัตราการปล่อยก๊าซสูงต่อเนื่องรั้งอันดับ 3 ของโลกที่ 6.24% เป็นรองเพียงจีนที่ 28.21% และสหรัฐอเมริกาที่ 15.99% เท่านั้น
ตัวเลขเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นภาพวิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นพิษครั้งใหญ่ที่พวกเขาต้องเร่งสะสางโดยด่วน
ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าลูกหนึ่งๆ มีราคาคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของรถทั้งคัน
แก้ปัญหาด้วยพลังงานทดแทน ลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
มีการค้นพบว่าต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในอินเดียมีที่มาจาก ‘ยานพาหนะ’ ขณะที่กลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace Group) ก็บอกว่าอัตราการตายที่สูงถึงประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีในอินเดียสืบเนื่องมาจากปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการผลักดันนโยบายเลิกใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมให้ได้ แล้วหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มต้นจากการเปิดตัวรถโดยสารประจำทางและรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้ารวมกว่า 100,000 คันที่เตรียมวิ่งบนท้องถนนในช่วงอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะนำร่องวิ่งในนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศเป็นที่แรก
ขณะที่รัฐบาลก็เตรียมจัดซื้อรถยนต์ที่มีอัตราการปล่อยมลพิษต่ำจำนวนกว่า 10,000 คันเข้ามาทดแทนการใช้งานรถคันเก่าที่มีอัตราการปล่อยมลพิษสูงใน 4 กระทรวงเช่นกัน ก่อนตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจะต้องผลิตแค่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการให้พลเมืองอินเดียหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ง่ายขนาดนั้น เพราะ PwC บริษัทรับให้คำปรึกษาในกรุงลอนดอนเผยว่า ปัจจุบันอัตราการใช้งานรถยนต์แบบไฮบริด (Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ยังมีอัตราส่วนคิดเป็น 3% ของจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนนอยู่ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะยิ่งมีอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิมอีกเมื่อเปรียบเทียบกับในอินเดีย
อับดุล มาญิด (Abdul Majeed) หนึ่งในผู้ดูแลบริษัท PwC บอกว่า “การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดถือเป็นงานที่น่ากลัวไม่น้อย เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังมีความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะต้องจัดการให้ได้ ก่อนที่พวกมันจะถูกขยายการใช้งานไปสู่ระดับใหญ่ขึ้น”
แล้วความท้าทายที่อับดุลกล่าวถึงคืออะไร?
ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูงลิ่ว สถานีชาร์จประจุไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ ‘ความท้าทาย’ ที่อินเดียต้องข้ามผ่าน
ปัญหาใหญ่สุดที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าบูมเสียทีมาจากการที่รถประเภทนี้มีราคาที่แพงเอาเรื่อง เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันทั่วๆ ไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในประเทศไทยเคยให้ความเห็นไว้ว่า ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าลูกหนึ่งๆ มีราคาคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของรถทั้งคัน และยังบอกอีกด้วยว่าการ มีสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า (EV Station) ในจำนวนที่ไม่เพียงพอก็ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
ในกรณีสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า สำนักข่าว AFP รายงานว่า รัฐบาลอินเดียไม่อยากจะเป็นฝ่ายลงทุนสร้างขึ้นมาในจำนวนที่มากมายมหาศาล แต่อาจจะเปิดให้หน่วยงานเอกชนเข้ามาลงทุนแทน โดยรัฐบาลจะหันไปผลักดันบริษัทพลังงานในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อให้ประชาชนสามารถนำแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเก่าที่ไม่มีประจุเข้ามาเปลี่ยนเป็นแบตฯ ลูกใหม่ได้
วีเจย์ อนานด์ (S. Vijay Anand) ผู้บริหารระดับสูงของโรงงานผู้ผลิตแบตเตอรี่ในอินเดีย ‘Amara Raja Batteries’ ก็ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า พวกเขาจะเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่กับทางรัฐบาล
“ปัญหาปวดหัวในการจัดการและการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ใช้อีกต่อไป”
อาชอก จุนจฮันวาลา (Ashok Jhunjhunwala) ที่ปรึกษาหลักประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยว่า “ไอเดียหลักของเราคือการทำให้มัน (แบตฯ) มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ รถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จจะต้องเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่มีการสนับสนุน และมีความสมเหตุสมผลในเเง่ของการทำธุรกิจ”
ด้าน มาเฮช บาบู (Mahesh Babu) ผู้บริหารบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ในอินเดีย Mahindra ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศมองว่า โปรเจกต์ดังกล่าวของรัฐบาลน่าสนใจมากๆ แต่ที่สุดแล้วประสิทธิภาพในเชิงเป้าหมายของมันอาจกลายเป็นแค่อุดมคติเท่านั้น และนำไปสู่การที่ต้องเดินตามแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการและความปลอดภัยของผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน
ส่วน บิล แฮร์ (Bill Hare) ผู้บริหารประจำศูนย์วิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านภูมิอากาศในเบอร์ลินให้ความเห็นว่า ความพยายามในการลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ควบคู่กับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในทุกๆ วันจะส่งผลให้โปรเจกต์และความทะเยอทะยานในครั้งนี้ของอินเดียมีโอกาสบังเกิดผลได้สูง
ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กับความกล้าๆ กลัวๆ ในการบุกตลาดรถอินเดีย
ณ ปัจจุบันมีรายงานว่าสถานการณ์การนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาวางขายภายในประเทศอินเดียยังไม่สู้ดีเท่าไรนัก เนื่องจากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าต่างๆ ยังไม่พร้อมที่จะบุกตลาดอินเดียอย่างเต็มตัว
เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากเยอรมนีให้เหตุผลว่า พวกเขาต้องการช่วงเวลาที่เหมาะสมและแรงจูงใจที่เพียงพอต่อการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียยังมีจำนวนน้อยอยู่ เช่นเดียวกับเทสลา (Tesla) ที่เลื่อนช่วงเวลาการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ขณะที่นิสสัน (Nissan) ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ดูจะเป็นเจ้าเดียวที่มีความพยายามอย่างหนักในการเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่อินเดีย เนื่องจากพวกเขาได้นำรถรุ่น Leaf มาทดสอบวิ่งตามท้องถนนในประเทศอินเดียแล้ว เพื่อวัดประสิทธิภาพของตัวรถและอัตราการปล่อยมลพิษ
ในตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดียจึงมีแค่ค่าย Mahindra เท่านั้น ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขามีให้เลือกทั้งแบบรถเก๋งซีดาน 4 ประตู และรถแวนคันใหญ่ สนนราคาเริ่มต้นอยู่ที่คันละประมาณ 11,000-15,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.6-4.9 แสนบาท (หลังหักส่วนลด 2,300 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 76,000 บาท) ทั้งนี้พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2017 นี้จะต้องทำยอดจำหน่ายรถให้ได้ถึง 5,000 คัน (รวมรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า)
สำหรับอินเดีย พวกเขากลายเป็นชาติล่าสุดที่วางโร้ดแมปหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเคียงข้างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรที่ตั้งเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2040, สกอตแลนด์ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2032 และประเทศจีนที่ยังไม่ได้ระบุปีที่แน่ชัด
Photo: Prakash SINGH/AFP
อ้างอิง