ผมตั้ง 3 คำถาม นั่นคือ Why Not? Who Else? What’s Next? และพยายามหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งรอบล่าสุด ณ ปี 2025 (ซึ่งที่ไม่ใช่ครั้งแรก และ จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) ระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยในตอนที่ 1 เราตอบคำถามไปแล้วว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็พร้อมที่จะเดินหน้าซัดกัน โดยอินเดียมีคะแนนนิยมต่อพรรค BJP เป็นเดิมพัน ในขณะที่ปากีสถานมีพลังอำนาจของรัฐพันลึกเป็นเดิมพัน และต่อคำถามที่ 2 เราพิจารณาถึงประเทศมหาอำนาจที่ใกล้ชิดหรือมีอิทธิพลเหนือ อย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดอินเดียมากขึ้น และจีนที่มีอิทธิพลเหนือปากีสถาน และเราก็พบว่า ทั้งสองมหาอำนาจอาจจะไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความสงบในระยะสั้นได้ หากแต่กลุ่มความร่วมมือทางด้านความมั่นคงอย่างเช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) น่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทั้งปากีสถานและอินเดียซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกของ SCO ได้ร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกับประเทศสมาชิกที่เหลือ ซึ่งประเทศสำคัญๆ ก็คือ จีน รัสเซีย และอิหร่าน ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จนี่ก็จะเป็นก้าวย่างสำคัญของความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาหรือ ประเทศในกลุ่ม Global-South
คำถามที่ 3 ซึ่งบางทีอาจจะเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด นั่นคือ แล้วเหตุการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้จะมีพัฒนาการต่อไปอย่างไร ซึ่งผมจะขอวิเคราะห์เป็น 3 ช่วง นั่นคือ ในระยะสั้น (คือภายในปีนี้) ในระยะกลาง คือในอีก 1-3 ปีข้างหน้า และในระยะยาวคือ พ้นจาก 3-5 ปีนี้ไปแล้ว
What will happen in the short term?
ในระยะสั้น เราอาจจะได้เห็นการตอบกลับจากฝ่ายปากีสถาน แม้ว่าปากีสถานจะมีกำลังรบที่น้อยกว่าในเชิงปริมาณในภาพรวม อาทิ กองทัพอินเดียมีกำลังทหาร 1.45 ล้านนาย และมีกำลังพลสำรองอีก 1.15 ล้านนาย ในขณะที่ปากีสถานที่เพียง 6.54 แสนนาย และ 5.5 แสนนายตามลำดับ งบประมาณทางด้านความมั่นคงของอินเดียอาจจะสูงกว่าปากีสถานราว 9.5 เท่า เครื่องบินทุกประเภทของอินเดียที่แตะระดับ 2,300 ลำ ในขณะที่ปากีสถานมีน้อยกว่าราว 1,000 ลำ ฯลฯ แต่การพิจารณาเพียงตัวเลขปริมาณรถถัง เครื่องบิน เรือรบ เรือดำน้ำ อาจจะไม่ใช่การเปรียบเทียบที่ถูกต้อง ทั้งนี้ต้องนำเอาอาณาเขตพื้นที่ และความยาว และความลึกของแนวชายแดน เข้ามาประกอบด้วย ดังนั้นอินเดียที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 3.287 ล้านตารางกิโลเมตร มีเส้นพรมแดนที่ทอดยาวสลับซับซ้อน ก็หมายความว่า พวกเขาไม่สามารถโยกย้ายกำลังรบและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดมารบกับปากีสถานได้ ดังนั้นในสภาพพื้นที่จริง โดยเฉพาะในบริเวณแคชเมียร์ที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน และมีพื้นที่จำกัด กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่จะเข้าไปกระจุกอยู่ในพื้นที่ก็คงจะทำได้ในปริมาณที่พอๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย และที่สำคัญคือ กองทัพและประชาชนในพื้นที่ก็คุ้นชิน และมีการเตรียมรับมือกับความรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้นแน่นอนว่าสงครามย่อมทำให้เกิดความสูญเสีย แต่นั่นคงยังไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วงกังวลเป็นอันดับที่ 1
หลายๆ ท่านอาจจะห่วงกังวลมากกว่าในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ เพราะทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ โดยมีการประมาณการว่าอินเดียน่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ในราว 180 หัวรบ ในขณะที่ปากีสถานก็มีพอๆ กันที่ประมาณ 170 หัวรบ ซึ่งปริมาณขนาดนี้ไม่ใช่แต่จะเพียงทำลายล้างศัตรูอีกฟากของชายแดนเท่านั้น แต่ถ้าทั้ง 2 ประเทศนำหัวรบทั้ง 300 กว่าๆ หัวรบนี้ออกมายิงกันจริงๆ นั่นหมายความว่า ทั้งโลกก็แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้พลโลกได้อยู่อาศัยกันอีกต่อไป
ดังนั้นทฤษฎีการยับยั้ง (Deterrence Theory) ซึ่งมีหัวใจสำคัญของทฤษฎีคือหากต่างฝ่ายต่างถล่มกันจริงด้วยอาวุธนิวเคลียร์แล้ว สถานการณ์ที่เรียกว่าการทำลายล้างซึ่งกันและกัน หรือ Mutually Assured Destruction (MAD) ก็จะเกิดขึ้น นั่นคือวิบัติด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็จะเพียงแต่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการข่มขู่ ท้าทาย กันและกันเท่านั้น โดยทฤษฎีนี้วางอยู่บนเงื่อนไข 5 ข้อคือ
- ศักยภาพในการตอบโต้: ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างมีอาวุธนิวเคลียร์และระบบนำส่งขีปนาวุธที่สามารถโจมตีดินแดนของอีกฝ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีในปริมาณพอๆ กัน แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะโจมตีก่อน อีกฝ่ายก็ยังมีศักยภาพที่เหลือพอจะตอบโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ที่โจมตีก่อน
- ต้นทุนที่สูงเกินไป: การใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีอีกฝ่ายจะนำมาซึ่งการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน ผลลัพธ์คือความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คน เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคง การสูญเสียนี้สูงเกินกว่าผลประโยชน์ใดๆ ที่อาจได้รับจากการโจมตีก่อน
- ความกลัวต่อการยกระดับ: การใช้อาวุธนิวเคลียร์แม้แต่เพียงครั้งเดียว มีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่การยกระดับความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำของทั้งสองประเทศต่างตระหนักดีและต้องการหลีกเลี่ยง
- การส่งสัญญาณและการสื่อสาร: ทั้งสองประเทศอาจมีการแสดงแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ หรือการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและขีดความสามารถในการตอบโต้ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของทฤษฎีการยับยั้ง
- การรับรู้ร่วมกัน: แม้จะมีความตึงเครียดและความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน แต่ผู้นำของทั้งอินเดียและปากีสถานต่างรับรู้ถึงอันตรายและผลลัพธ์ที่เลวร้ายของสงครามนิวเคลียร์ นั่นคือ พวกเขารบกันเพื่อเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง เพื่อรักษาพลังอำนาจทางการเมืองในแต่ละประเทศ ไม่ได้ต้องการให้บ้านเมืองของตนเองวอดวาย เหล่านี้ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังนิวเคลียร์
ทั้ง 5 ข้อทำให้สรุปได้ว่าการที่ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘การยับยั้งด้วยความกลัว’ (Deterrence by Fear) ซึ่งหมายถึงการที่ทั้งสองฝ่ายไม่กล้าที่จะเริ่มต้นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพราะตระหนักดีถึงผลลัพธ์ที่ร้ายแรงที่จะตามมาต่อตนเอง ทฤษฎีการยับยั้งจึงทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘ดาบสองคม’ ที่สร้างความตึงเครียดและความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์
แล้วสถานการณ์ใดที่น่าห่วงกังวลมากที่สุดในระยะสั้น คำตอบก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อผลกระทบทางสังคม เพราะเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น มาตรการที่ทั้งปากีสถานและอินเดียเริ่มต้นดำเนินการทันทีนั่นคือ การปิดพรมแดนและการยกเลิกวีซ่าของประชาชนในอีกประเทศทันที นั่นแปลว่า คนอินเดียที่อยู่ในปากีสถานต้องเดินทางกลับอินเดียในทันที และเช่นเดียวกันกับคนปากีสถานที่อยู่ในประเทศอินเดีย พร้อมกับที่การข้ามพรมแดน การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนที่หยุดชะงัก
นอกจากนั้นแล้วอีกประเด็นที่จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคมคือ การระงับการจ่ายน้ำในลุ่มแม่น้ำสินธุตามที่ตกลงกันไว้ใน สนธิสัญญาแม่น้ำสินธุ (The Indus Water Treaty: IWT) ซึ่งอินเดียที่อยู่ทางฝั่งต้นน้ำ หากปิดกั้นการจ่ายน้ำได้ (ผ่านการปิดเขื่อน Tarbela Dam ที่กั้นแม่น้ำสินธุ และ Mangla Dam ที่กั้นแม่น้ำเฌลัม) นี่จะทำให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนปากีสถานที่อยู่ปลายน้ำเดือดร้อน เศรษฐกิจที่เป็นอัมพาต พร้อมกับความเดือดร้อนของประชาชน และในขณะเดียวกันสิ่งที่เราพบเห็นก็คือการใช้วาทกรรมที่ปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ทั้งที่ออกมาจากรัฐบาล สื่อมวลชน และ Social media ซึ่งเกิดขึ้นในทั้ง 2 ประเทศ วาทกรรมประเภทเลือดต้องล้างด้วยเลือด วาทกรรมดูหมิ่นดูถูกประชาชนและประเทศชาติ การมองคนต่างศาสนาเป็นศัตรู ประกอบกับสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้ที่ประชาชนถูกปลุกกระแสชาตินิยมหัวรุนแรงโดยมีศาสนาเป็นแกนกลางทั้งฮินดูในอินเดีย และอิสลามในปากีสถาน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ ความไม่สงบภายใน ที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในทั้งประเทศอินเดีย และปากีสถาน ทั้ง 2 ประเทศต่างมีประสบการณ์ที่ฝูงชนบ้าคลั่งที่จุดติดด้วยความเกลียดชังออกมาชุมนุมเผชิญหน้า และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมประชาชนเหยียบกันตาย (Crowd Collapses / Crowd Crushes / Crowd Stampedes)
นี่คือสถานการณ์ที่น่ากลัวที่สุด เพราะในชายแดนแคชเมียร์ มีทหาร มีฝ่ายความมั่นคง ควบคุมแทบจะเรียกได้ว่าทุกมุมถนนหลัก ซึ่งประจำการอยู่แล้ว แม้ในยามปกติ ประชาชนเองก็เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ตึงเครียดอยู่ทุกขณะ แต่การจลาจลของประชาชนที่บ้าคลั่งเพราะกระแสเกลียดชังถูกจุดติดในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่เคยอยู่ภายใต้การเตรียมความพร้อม และสามารถกระจายตัวเกิดขึ้นได้ทุกจุด ทุกรัฐ ทุกเมืองภายในประเทศ และนั่นคือภาวะวุ่นวายโกลาหลที่ควบคุมไม่ได้
What will happen in the medium term?
ความสุขสงบ และการเยียวยาจะเกิดขึ้น เมื่อความขัดแย้งแตกออกกลายเป็นสงครามในระยะสั้น ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียทั้งชีวิต และยุทโธปกรณ์ เช่นเดียวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และที่วิบัติที่สุดคือ ความขัดแย้งของประชาคมของประชาชนแต่ละกลุ่มภายในประเทศที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน (สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วรรณะ) จะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงแรกของความขัดแย้ง เริ่มตกต่ำลง เมื่อถึงจุดต่ำสุด ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะแกล้งๆ ลืมๆ เรื่องความขัดแย้ง ทยอยถอนทหารและอาวุธหนักออกจากพื้นที่
เราคาดการณ์เช่นนี้ได้เพราะเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ โดยสงครามครั้งล่าสุดระหว่างอินเดียและปากีสถานคือ สงคราม Kargil War ในปี 1999 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกองทหารของปากีสถานเริ่มต้นกิจกรรมที่รุกล้ำเส้นเขตแดนทางพฤตินัย (Line of Control: LoC) เข้ามาในดินแดนแคชเมียร์ฝั่งที่อยู่ใต้การควบคุมของอินเดียที่เรียกว่าเนินเขา Tololing และ Tiger Hill ในเขต Kargil ซึ่งอยู่ในดินแดนสหภาพลาดัค (ในปัจจุบัน) จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 1999 ทหารอินเดีย 5 คนถูกควบคุมตัวในระหว่างลาดตระเวนและถูกสังหารโดยฝ่ายปากีสถาน ตามด้วยการยิงปืนใหญ่ของปากีสถานเข้ามาในพื้นที่ขัดแย้งในวันที่ 9 พฤษภาคม นั่นทำให้ฝ่ายอินเดียประกาศส่งยุทโธปกรณ์เข้าประจำในพื้นที่ในวันที่ 18 พฤษภาคม การสู้รบกลางเวหาระหว่างกองทัพอากาศอินเดียและปากีสถานเริ่มต้นในวันที่ 26 พฤษภาคม อินเดียยึดคืนเนินเขา Tololing ได้สำเร็จในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ตามมาด้วยการยึดคืน Tiger Hill ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมโดยกองทัพอินเดียควบคุมจุดสูงสุดบนยอด Batalik ได้ในวันที่ 11 กรกฎาคม และกองทัพปากีสถานประกาศถอนทหารกลับเข้าหลังแนว LoC ในวันรุ่งขึ้น 14 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรี Atal Bihari Vajpayee (ซึ่งมาจากพรรค BJP เช่นเดียวกับรัฐบาลในชุดปัจจุบัน) ประกาศชัยชนะของปฏิบัติการวิชัย (Operation Vijay ซึ่งแปลว่า ชัยชนะ) พร้อมยื่นข้อเสนอต่อปากีสถานเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต 26 กรกฎาคม 1999 กองทัพอินเดียถอนทัพและยุทโธปกรณ์หนักออกจากพื้นที่อย่างสมบูรณ์ รวมระยะเวลาของสงครามนับตั้งแต่ยิงกระสุนนัดแรก 2 เดือน 3 สัปดาห์ กับอีก 2 วัน โดยกองทัพอินเดียสูญเสียนายทหาร 527 นาย และปากีสถานสูญเสียนายทหาร 700 นาย (ตัวเลขประมาณการโดยสหรัฐอเมริกา ปากีสถานไม่เคยรายงานความเสียหาย และอินเดียแจ้งว่าปากีสถานสูญเสียมากกว่านี้)
จะเห็นได้ว่าความรุนแรงระดับสงครามที่เกิดขึ้นในระยะเวลาร่วมสมัย (ไม่นับสงครามครั้งแรกในปี 1947-1948 และสงครามครั้งที่ 2 ในปี 1965 และสงครามครั้งที่ 3 ในปี 1971 ซึ่งมาเกิดขึ้นที่ดินแดนปากีสถานตะวันออก หรือประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน) เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว จำกัดขอบเขตในพื้นที่ ไม่ลุกลาม
แต่นั่นไม่ใช่สงครามเพียงแค่ 4 ครั้ง เพราะตลอดประวัติศาสตร์ อินเดียและปากีสถานมีความขัดแย้ง และมีการปะทะกัน ยิงกัน ตลอดแนวเส้นเขตแดนทางพฤตินัย (Line of Control: LoC) ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในปี 1986-1987, ความขัดแย้งทางทะเลในปี 1999 ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 1 เดือนเศษหลังสงคราม Kargil, ความขัดแย้งในปี 2001-2002 เพื่อไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายเจ้าเก่า Lashkar-e-Taiba จากเหตุการณ์กราดยิงในรัฐสภาอินเดีย เดือนธันวาคม 2001, ความตึงเครียดปี 2008 หลังเหตุการณ์มุมไบ, การปะทะกันของหน่วยลาดตระเวนชายแดนในปี 2011 ที่ Kupwara, การปะทะกันในปี 2013 เมื่อทหารอินเดียถูกฆ่าตัดคอ โดยฝั่งอินเดียเชื่อว่าฝ่ายปากีสถานเป็นผู้ลงมือ ทำให้เกิดการปะทะกันจนนายทหารอินเดียเสียชีวิต 22 นาย และนายทหารปากีสถานเสียชีวิต 10 นาย, นอกจากนั้นยังมีการยิงกันในปี 2014-2015, 2016-2018, 2019 และ 2020-2021
จะเห็นได้ว่าตลอดเส้นเขตแดนทางพฤตินัย (Line of Control: LoC) ที่ยาวเหยียดทอดข้ามพื้นที่ที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน สูงชัน และเบาบางปราศจากผู้คน การปะทะและความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศเกิดขึ้นจนเกือบจะเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราจึงพอจะคาดการณ์ได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง และเมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นในระดับที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับไม่ได้แล้ว การยุติความขัดแย้ง ความสุขสงบก็จะเกิดขึ้นแบบชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อรอการบ่มเพาะ และพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นมาปะทะกันได้อีกในอนาคต ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการแบ่งแยกเขตแดน Partition of India ที่เกิดขึ้นอย่างรีบร้อน เร่งด่วน ไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งอาจจะต้องการฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งทิ้งเอาไว้โดยอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษในปี 1947 คุณผู้อ่านคงอาจจะไม่เชื่อในความจริงที่ว่า Sir Cyril Radcliffe บุรุษผู้ได้รับเลือกให้เป็นคนลากเส้นเขตแดนระหว่างอินเดียและปากีสถาน ลากเส้นเขตแดนเหล่านั้นลงไปโดยที่เขาไม่เคยได้เดินทางไปเยือนดินแดนอนุทวีปอินเดียเลยแม้แต่ครั้งเดียว
What will happen in the long term?
ดินแดนแคชเมียร์คงจะเป็นดินแดนที่สงบสุขได้เพียงระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว ความขัดแย้ง การปะทะ หรือ แม้แต่สงครามคงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากตะกอนตกค้างจากการแบ่งแยกเขตแดน Partition of India ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกของการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในวันที่ 14 สิงหาคม 1947 และการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียในอีก 1 วันถัดมาในวันที่ 15 สิงหาคม 1947
ปัจจุบันดินแดนแคชเมียร์ มีเส้นเขตแดนทางพฤตินัย หรือเส้นควบคุม (Line of Control: LoC) ที่แบ่งดินแดนแคชเมียร์ออกเป็นฝั่งปากีสถานและอินเดีย โดยเส้นนี้เกิดขึ้นจาก Simla Agreement ในปี 1972 ภายหลังจากสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่ 3 ในคราวประกาศเอกราชบังกลาเทศในปี 1971 เส้น LoC มีระยะทางยาว 740 กิโลเมตร (ตามคำอธิบายของฝ่ายอินเดีย) และ/หรือ ระยะทางยาว 776 กิโลเมตร (ตามคำอธิบายของฝ่ายปากีสถาน) ซึ่งแน่นอนว่า เส้นเขตแดนเดียวกัน แต่ระยะทางยาวไม่เท่ากันของทั้ง 2 ฝั่งนี้ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งไม่รู้จบตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน
นอกจากเส้นเขตแดนทางพฤตินัย หรือเส้นควบคุม (Line of Control: LoC) ระหว่างปากีสถานแล้ว ในดินแดนแคชเมียร์ยังมีเส้นควบคุมแท้จริง (Line of Actual Control) ซึ่งเป็นเส้นที่ลากในบริเวณพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างอินเดีย และจีนอีกด้วย โดยเส้นควบคุมแท้จริง (LoAC) มีความยาวถึง 4,057 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 3 ช่วงตัดผ่านแคว้น 3 แคว้นในรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย โดยช่วงที่ 1 ทางตะวันตก ระหว่างดินแดนสหภาพลาดัค (Ladakh) ในพื้นที่แคชเมียร์ของอินเดียกับเขตปกครองตนเองซินเจียงและเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ช่วงที่ 2 ตอนกลาง ระหว่างรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) รัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) ของอินเดีย และช่วงที่ 3 ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) และพื้นที่ที่จีนเรียกว่า Zangnan ซึ่งช่วงที่ 2 และ 3 นี้จะอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ดังนั้นในระยะยาว นอกจากความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถานแล้ว เรายังคาดการณ์ที่จะได้เห็นความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-จีนที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้เสมอๆ
ในระยะยาว นอกจากดินแดนแคชเมียร์ที่จะเป็นชนวนของความขัดแย้งตลอดไปแล้ว อีกหนึ่งพื้นที่ที่เราต้องเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยคือ ‘ปัญจาบ’ และความเคลื่อนไหวในการตั้งรัฐเอกราชในนาม ‘ขาลิสถาน’ (Khalistan)
ปัญจาบเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และมีประชาชนตั้งหลักแหล่งมาอย่างยาวนานจนเกิดอารยธรรมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั่นคือ โมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) และ ฮารัปปา (Harrappa) ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อกว่า 5,000 ปีที่แล้วในลุ่มแม่น้ำสินธุ ปัญจาบ เป็นชื่อภาษาเปอร์เซียมาจากคำว่า ‘ปัญจ-’ ที่แปลว่า ห้า และ ‘-าบ’ ที่แปลว่า สายน้ำ ปัญจาบจึงรวมแล้วแปลว่า ‘แม่น้ำห้าสาย’ แม่น้ำห้าสายนั้นประกอบด้วย แม่น้ำสตลุช (Sutlej), แม่น้ำบีอาส (Beas), แม่น้ำราวี (Ravi), แม่น้ำจนาพ (Chenab) และ แม่น้ำเฌลัม (Jhelum) และด้วยความเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งนี้เองที่ทำให้ตลอดประวัติศาสตร์ ปัญจาบเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง
เช่นเดียวกับที่เกิดปัญหาขึ้นในแคชเมียร์นั่นคือ เมื่อมีการแบ่งแยกดินแดน Partition of India ในปี 1947 ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์นี้ก็ถูกเฉือนออกเป็นปัญจาบทางฝั่งตะวันตกของปากีสถาน และปัญจาบทางตะวันออกของอินเดีย และนี้คือ ประเด็นความขัดแย้งที่ฝังราก และนำมาสู่การเกิดขึ้นของขบวนการ Khalistan Movement ที่ต้องการสถาปนารัฐอธิปไตยขึ้นมาใหม่ในนาม ‘ขาลิสถาน’ (Khalistan) โดยยึดโยงอยู่กับแนวคิดแบบศาสนาซิกข์หัวรุนแรง ขบวนการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1940 และเคยเสนอเรื่องต่อรัฐสภาอินเดียในการขอให้มีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อจัดการปกครองรัฐปัญจาบฝั่งอินเดียในรูปแบบเขตปกครองพิเศษภายใต้ชื่อ Anandpur Sahib Resolution ในปี 1973 ซึ่งได้ถูกตีตกโดยรัฐสภาในปี 1982 และนั่นก็ก่อให้ความไม่พอใจต่อประชาคมชาวซิกข์ โดยความไม่พอใจนี้ก่อให้เกิดความรุนแรงระดับสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อ หรจันท์ สิงห์ โลงโควาล (Harchand Singh Longowal) ประธานพรรค Shiromani Akali Dal (SAD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีแกนกลางเป็นกลุ่มซิกข์หัวรุนแรงเชิญชวนให้ ภิณฑราณวาเล (Jarnail Singh Bhindranwale) มาอาศัยในหมู่อาคารที่พักอาศัยของมหาวิหาร ‘ฮัรมัรดิร ซาฮิบ’ (Harmandir Sahib) หรือ วิหารทองคำ (Golden Temple) ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดศูนย์รวมความศรัทธาของผู้นับถือศาสนาซิกข์ ตั้งอยู่ในเมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบฝั่งอินเดีย เพื่อหลบหลีกการจับกุมจากคดีการก่อการร้ายต่างๆ ที่ผ่านมา โดยต่อมาภิณฑราณวาเลได้ทำให้เปลี่ยนวิหารทองคำแห่งนี้ให้กลายเป็นคลังแสง สำนักงานใหญ่ และแหล่งซ่องสุมชุมนุมของผู้ก่อการร้ายเพื่อสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสร้างประเทศขาลิสถาน
รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี สั่งกองทัพให้ดำเนินปฏิบัติการ ‘ดาวสีน้ำเงิน’ (Operation Blue Star) เพื่อยึดคืนพื้นที่วิหารศักดิ์สิทธิ์และจับกุมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ปฏิบัติการดาวสีน้ำเงินเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-10 มิถุนายน 1982 และจบลงด้วยการใช้อาวุธถล่มเข้าไปที่วิหารทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ผู้นำผู้ก่อการร้ายอย่างภิณฑราณวาเลจะถูกสังหาร แต่เรื่องราวยังไม่สิ้นสุด เพราะการถล่มอาวุธหนักเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาซิกข์ ทำให้ศาสนิกชนจำนวนมากไม่พอใจ และเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้คนต่างศาสนา การทำร้ายร่างกาย จนถึงขึ้นเสียชีวิต การเผาเมือง เผาหมู่บ้านเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศอินเดีย และความขัดแย้งนี้เองก็นำมาซึ่งการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนตัวของเธอ นั่นคือ สัตวันต์ ซิงห์ และ บีนท์ ซิงห์ ซึ่งเป็นชาวซิกข์ทั้งคู่ ในวันที่ 31 ตุลาคม 1984 (อ่านเพิ่มเติมสถานการณ์ความโหดร้ายของเหตุการณ์นี้ได้จากบทความ เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี โดย รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล http://www.ias.chula.ac.th/article/เพื่อถิ่นอินเดีย-100-ปีชาต)
และแน่นอนว่านี่จะไม่ใช่ความรุนแรงครั้งสุดท้าย พื้นที่แคชเมียร์ ปัญจาบ ด้วยรากลึกของปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1947 วันที่ได้รับเอกราช พร้อมกับมรดกเลือดจากเจ้าอาณานิคมที่เฉือนแบ่งอนุทวีปออกเป็น 2 รัฐ อินเดียและปากีสถาน (และกลายเป็น 3 รัฐในปี 1971 เมื่อปากีสถานแยกตัวเป็นบังกลาเทศ) ยังมีอีกหลายจุดเปราะบางที่พร้อมที่จะยกระดับขึ้นเป็นสงครามได้ในอนาคต
แฟ้มภาพ: UmairAnwar / Shutterstock