×

ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน ปี 2025 ตอนที่ 2: Who Else?

10.05.2025
  • LOADING...
ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

ผมตั้ง 3 คำถาม นั่นคือ Why Not? Who Else? What’s Next? และพยายามคำตอบเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งรอบล่าสุด ณ ปี 2025 (ซึ่งที่ไม่ใช่ครั้งแรก และ จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) ระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยในตอนที่ 1 เราตอบคำถามไปแล้วว่า ด้วยรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของพรรค BJP และนายกรัฐมนตรี Modi ซึ่งมีชาตินิยมฮินดูที่ค่อนไปทางหัวรุนแรง และด้วยคะแนนนิยมของพรรคและตัว Modi เองที่ลดลง พวกเขาจึงไม่ลังเลแต่อย่างใดในการที่จะเริ่มต้นปฏิบัติการทางการทหารต่อปากีสถาน ในขณะที่ทางฝั่งปากีสถานเอง แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าพวกเขาไม่มีส่วนใดๆ ต่อขบวนการและการก่อการร้าย และรัฐพันลึกของปากีสถานที่มีกองทัพ ซึ่งมีหน่วยข่าวกรองระหว่างกองทัพคือ ISI เป็นแกนกลาง ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้บริการของกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ดุลอำนาจในปากีสถานกำลังเปลี่ยน เนื่องจากจีนเข้ามาเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับฝ่ายรัฐบาล และลดทอนอิทธิพลของรัฐพันลึก ดังนั้นปากีสถานเองก็ไม่ลังเลที่จะเดินเข้าสู่ความขัดแย้งในครั้งนี้

 

นั่นจึงนำมาสู่คำถามสำคัญคำถามที่ 2 นั่นคือ แล้วประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจจะเข้ามาพัวพันด้วยหรือไม่

 

Who Else?

 

เพื่อตอบคำถามนี้ เราต้องลบภาพจำเดิมๆ ที่ว่า อินเดียสนิทสนมกับรัสเซีย ในขณะที่ปากีสถานเองก็สนิทสนมกับสหรัฐอเมริกาออกไปเสียก่อน เพราะนั่นมันเป็นความสัมพันธ์รูปแบบดั้งเดิมในช่วงสงครามเย็นซึ่งสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งอินเดีย และปากีสถานเองก็เปิดประเทศของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่เริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1991 และเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น (ถึงแม้จะยังไม่มากพอ) ตลอดช่วงทศวรรษ 2000 ในด้านความมั่นคงเอง อินเดียก็เริ่มต้นในการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงทางด้านความมั่นคงที่แต่เดิมผูกตนเองเอาไว้กับสหภาพโซเวียต และรัสเซียในช่วงต่อมา ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศอินเดียเอง และกระจายความหลากหลายของอาวุธยุทโธปกรณ์ออกไปให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบินรบที่กองทัพอากาศอินเดียใช้ในปฏิบัติการ Sindoor ในคราวนี้ก็เป็นเครื่องบิน ดาโซราฟาล (Dassault Rafale) ซึ่งพัฒนาโดยประเทศฝรั่งเศส โดยกองทัพอินเดียสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้จากฝรั่งเศสจำนวน 18 ลำ และสร้างขึ้นเองภายในประเทศอินเดียอีก 108 ลำ โดย Hindustan Aeronautics Limited (HAL) ภายใต้สัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส โดยในปี 2023 อินเดียมียุทโธปกรณ์รัสเซียประจำการอยู่เพียงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับในปี 2017 ที่มียุทโธปกรณ์รัสเซียประจำการถึงร้อยละ 62

 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ หลังจากสหรัฐอเมริกาออกยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (US National Security Strategy) ในปี 2017 และพิจารณาว่าจีนคือภัยคุกคามสูงสุด ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน หนึ่งในความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงที่มีการรื้อฟื้นพันธมิตรขึ้นมาใหม่ก็คือ The QUAD หรือ Quadrilateral Security Dialogue ซึ่งประกอบไปด้วยพันธมิตร 4 ประเทศนั่นคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียที่เริ่มต้นในปี 1991 ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญที่สุดอีกครั้ง 

 

ในการพบกันแบบ Working Visit ของนายกรัฐมนตรี Modi และประธานาธิบดี Trump เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2025 ทั้ง 2 ผู้นำตกลงกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะอินเดียและสหรัฐฯ จะเจรจาการค้าระหว่างกันเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศจาก 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 โดยอินเดียจะเร่งเปิดตลาดทั้งสินค้าและบริการ ลดอัตราภาษี สร้างสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการลงทุน อินเดียจะนำเข้าพลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลการค้ากับอินเดีย ในขณะเดียวกันในมิติความมั่นคง อินเดียแสดงเจตจำนงในการสั่งซื้อและร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 F-35 ควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มที่เรียกว่า iCET: Initiative on Critical & Emerging Technologies อาทิ องค์ความรู้ด้านอวกาศ และซอฟต์แวร์ ซึ่งอินเดียมีศักยภาพสูงให้กับสหรัฐฯ และอีกประเด็นหนึ่งที่ตกค้างมาจากเหตุการณ์ก่อการร้าย Mumbai ในปี 2008 นั่นคือ ขอให้สหรัฐฯ ส่งตัว Tahawwur Hussain Rana ชาวปากีสถานซึ่งทำธุรกิจอยู่ใน Chicago และเป็นผู้สนับสนุนขบวนการก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba (LeT)

 

แต่ถามว่า สหรัฐฯ จะเข้ามาไกล่เกลี่ยในกรณีของความขัดแย้งระหว่าง อินเดีย กับ ปากีสถาน ในรอบนี้ หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ ใน พ.ศ. นี้ดำเนินนโยบาย Inward-Looking สนใจแต่เฉพาะผลประโยชน์ของตนตามวิธีคิดแบบประธานาธิบดี Trump มากกว่าที่จะมาสนใจประเด็นความขัดแย้งที่เป็นเรื่องของประเทศอื่นๆ ตราบใดก็ตามที่เรื่องนั้นมิได้ส่งผลโดยตรงต่อสหรัฐฯ

 

ในขณะที่สำหรับฝั่งปากีสถาน ที่แต่เดิมเคยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นตลอดช่วงสงครามเย็น ถึงขนาดได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization: SEATO) ซึ่งมี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ไทย ฟิลิปปินส์ และ ปากีสถาน เป็นสมาชิก หรืออีกตัวอย่างดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 นั่นคือบทบาทของ CIA ที่ทำงานร่วมกับ ISI ในการก่อตั้งกลุ่มนักรบอิสลามในช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน อันเป็นที่มาของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ในปัจจุบัน

 

บทบาทของสหรัฐฯ ในปากีสถานถดถอยลงอย่างชัดเจนตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ซึ่งแน่นอนนั่นทำให้การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธต่ออดีตนักรบมุสลิมเหล่านี้หายไป ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ในทศวรรษต่อมา และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 สหรัฐฯ ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และกลายมาเป็นศัตรูโดยตรงต่อหลายๆ กลุ่มกองกำลังที่รัฐพันลึกของปากีสถานให้การสนับสนุน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงเปลี่ยนสถานะจากมิตรกลายเป็นคู่ขัดแย้งในหลายมิติ

 

ในขณะที่รัฐบาลปากีสถานเองก็มีพันธมิตรใหม่ในช่วงทศวรรษ 2010 นั่นคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เข้ามาให้การสนับสนุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) ที่ได้อธิบายไปในตอนที่แล้ว ในมิติสังคม-วัฒนธรรม ที่จีนสนับสนุนทุนการศึกษา สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และแน่นอนในมิติความมั่นคง ที่ปัจจุบันพบว่า กองทัพปากีสถานในยุทโธปกรณ์ของจีนในสัดส่วนที่สูงถึงราวร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพอากาศปากีสถานที่ปัจจุบันมีเครื่องบินรบรุ่นที่ 3 (เทียบเท่า F-16) ที่ผลิตในจีน อย่าง Chengdu J-10C จำนวน 36 ลำ, Chengdu F-7PG จำนวน 140 ลำ และ CAC JF-17 Thunder อีกมากกว่า 149 ลำ (และกำลังจะสั่งเพิ่มอีก 76 ลำ เพื่อทดแทนฝูงบินเดิม ที่เคยใช้เครื่องบินของฝรั่งเศสที่ใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960) 

 

ดังนั้น จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเหนือปากีสถานอย่างยิ่ง (มีมากเสียจนรัฐพันลึกของปากีสถานเริ่มห่วงกังวล ดังที่อธิบายในตอนที่ 1) แต่ถามว่า จีนจะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งระหว่าง ปากีสถาน และอินเดียในรอบนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือ คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะจีนก็เป็นอีกหนึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในดินแดนแคชเมียร์ เนื่องจากจีนเองก็อ้างสิทธิ์และเข้าไปปกครองในทางพฤตินัยในพื้นที่ที่เรียกว่า Aksai Chin ซึ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ที่ปากีสถานยกสิทธิ์ให้กับจีน ดังนั้นสำหรับอินเดียที่มีกรณีพิพาทกับจีนในเรื่องการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนมาแล้วหลายครั้งก็คงไม่ยอมรับ หากจีนจะเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

 

คำถามคือ Who Else? ยังมีใครอีกหรือไม่ ที่สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งครั้งนี้ คำตอบคือ เราต้องไม่ลืมว่า แม้อินเดียและปากีสถานจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในหลากหลายประชาคม อาทิ สมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค (South Asian Association for Regional Cooperation: SAARC) กรอบการบูรณาการภูมิภาคที่มีสมาชิกได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์หยุดชะงัก เนื่องจากไม่สามารถประชุมสุดยอดผู้นำมาได้ตั้งแต่ปี 2014 เพราะในปี 2016 เจ้าภาพการประชุม SAARC คือปากีสถาน แต่อินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Modi ประกาศไม่ไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ

 

แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ กลับมี 1 กรอบความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่ทั้งอินเดียและปากีสถานเข้าเป็นสมาชิก นั่นคือ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) SCO เริ่มก่อตัวขึ้นจากการผลักดันของจีนและรัสเซียที่ไม่ต้องการเห็นมหาอำนาจยุโรปและสหรัฐฯ ขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และนั่นทำให้เราได้เห็นการสร้างเวทีในการเจรจาการปักปันเขตแดนและเขตปลอดทหาร (Border Demarcation and Demilitarization Talks) ขึ้นระหว่าง จีน, รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ขึ้น โดยต่อมาในปี 1996 เวทีการเจรจานี้ได้ยกระดับขึ้นเป็นการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศภาคีภายใต้ชื่อกลุ่ม Shanghai Five กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นอีกครั้งในปี 2001-2002 เมื่อ อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) เข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 และมีการเปลี่ยนชื่อความร่วมมือเป็นองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

 

SCO เริ่มถูกจับตาเฝ้าระวังจากสหรัฐอเมริกาอีกครั้งเมื่อมีการรับอินเดีย และปากีสถานเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกอย่างเป็นทางการในปี 2015 ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ SCO กลายเป็นกรอบความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดกรอบหนึ่งของโลก ในมิติพื้นที่ SCO ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 60% ของมหาทวีปยูเรเชีย (Eurasia) กินพื้นที่ตั้งแต่ดินแดนใจกลางทวีป (Heartland) สู่พื้นที่ขอบทวีป (Rim-land) โดยมีรัสเซีย จีน อินเดีย และคาซัคสถานเป็นประเทศที่มีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับที่ 1, 3, 7 และ 9 ของโลก

 

SCO คือกรอบความร่วมมือของประชากรมากกว่า 3.3 พันล้านคน หรือกว่า 40% ของประชากรของโลก และมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาลที่คิดรวมเป็นกว่า 20% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของทั้งโลก (World GDP) โดยมีจีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 1, 3 และ 6 ตามลำดับ (พิจารณาจากค่า GDP PPP) และล่าสุดก็มีการเพิ่มสมาชิกอีก 2 ประเทศคือ อิหร่าน และเบลารุสในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

 

และนี่อาจจะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ทั้ง อินเดีย ปากีสถาน ได้มีประเทศตัวกลางสำคัญๆ ที่มีศักยภาพสูงในการเป็นสื่อกลางในการสร้างความปรองดองโดยมีขนาดเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีอย่าง จีน รัสเซีย และอิหร่าน โดยการประชุมที่เราต้องจับตามองคือ การประชุมสุดยอดผู้นำ SCO ซึ่งจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2025 ที่มหานครเทียนจิน ประเทศจีน และหากเวทีแลกเปลี่ยนทางด้านความมั่นคงนี้สามารถนำพาสันติสุข (แม้จะในระยะสั้น) มาสู่อนุทวีปอินเดีย-ปากีสถานได้ นี่ก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญขององค์การที่เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รวมกันเรียกว่า โลก-ใต้ หรือ Global-South

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising