ผมตั้ง 3 คำถาม นั่นคือ Why Not? Who Else? What’s Next? และพยายามคำตอบเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งรอบล่าสุด ณ ปี 2025 (ซึ่งที่ไม่ใช่ครั้งแรก และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) ระหว่างอินเดียและปากีสถาน
Why Not?
ผมได้รับคำถามจากหลายคนหลังจากที่โพสต์ข้อเขียนเรื่อง ว่าด้วยความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ลงใน Facebook (https://www.facebook.com/share/p/16T5rtVod7/) ซึ่งข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหาในหนังสือ Amidst the Geo-Political Conflicts สมรภูมิพลิกอำนาจโลก โดย ปิติ ศรีแสงนาม และ จักรี ไชยพินิจ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ที่ว่าด้วยปฐมบทของความขัดแย้งในดินแดนแคชเมียร์ที่ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1947 เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษตีเส้นแบ่งแยกดินแดนอนุทวีปออกจากกัน
คำถามที่หลายคนถามเข้ามาทางกล่องข้อความคือ ทำไมอินเดียถึงเริ่มต้นโจมตีโดยกำลังทางอากาศและขีปนาวุธก่อน ทั้งที่ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นจากภัยก่อการร้าย ที่รัฐบาลปากีสถานออกมาปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง กองทัพปากีสถานยังไม่ได้รุกรานข้ามเส้น Line of Control (LOC) เข้ามาในพื้นที่ฝั่งอินเดีย การกระทำเช่นนี้ถือเป็นสงครามที่ปราศจากการยั่วยุ (unprovoked war) ทำไมอินเดียถึงทำแบบนั้น?
สำหรับผม ตามความคิดส่วนตัว ผมกลับคิดว่า ทำไมอินเดียจะไม่ทำเช่นนั้น คำถามที่ตั้งคือ Why Not? แทนที่จะเป็น Why? ทั้งนี้เพราะเราต้องพิจารณาจากมุมมองของทั้ง 2 ฝ่ายของชายแดนแคชเมียร์
เหตุผลฝั่งอินเดีย: แน่นอนว่าการสังหารหมู่ที่เมืองท่องเที่ยว Pahalgam จนมีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 20 คนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2025 เป็นการก่อการร้าย โดยฝ่ายที่อ้างตนว่าเป็นผู้ก่อการคือ แนวร่วมต่อต้าน The Resistant Front (TRF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ Lashkar-e-Taiba (ออกเสียงว่า ลัชกา-เร-ตัยบา แปลว่า กองทัพแห่งความชอบธรรม ชื่อย่อคือ LeT) ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่ม LeT นี้เป็นภัยคุกคามอันดับต้นของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกกลุ่ม LeT จำนวน 10 คนเข้าก่อเหตุวินาศกรรมในสถานที่ถึง 12 แห่งใจกลางนครมุมไบ ในเหตุการณ์ 2008 Mumbai Attacks หรือเหตุการณ์ 26/11 Attacks (เนื่องจากเกิดเหตุในวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 2008) จนมีผู้เสียชีวิต 175 คนและบาดเจ็บมากกว่า 300 คน
เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงโดยผู้ก่อการ 9 คนถูกสังหาร โดยผู้ก่อการร้ายที่ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุคือ Mohammed Ajmal Amir Kasab ซึ่งได้พิสูจน์ในการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่าเขาและผู้ก่อการเป็นสมาชิกและได้รับการฝึกอบรม สนับสนุนทางการเงิน อาวุธ และแผนการโดยขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT)
ขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT) เป็นกลุ่มที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ท่ามกลางสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน CIA ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยข่าวกรองระหว่างกองทัพของปากีสถาน (Inter-Services Intelligence: ISI) สร้างกลุ่มนักรบเพื่อเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งนี้ที่เรารู้จักกันในนาม มุญาฮิดีน (Mujahidin) นักรบเหล่านี้ได้รับการฝึกหัดใน Markaz-ud Dawa-wal-Irshad (Center for Preaching and Guidance: MDI) ซึ่งตั้งอยู่ในปากีสถาน ซึ่งต่อมานักรบเหล่านี้จำนวนหนึ่งก็เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT)
โดย LeT ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก ISI ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงเส้นทางการสนับสนุนทางการเงิน อาวุธ และองค์ความรู้จากรัฐบาลปากีสถาน ประกอบกับที่ในช่วงปี 2008 ที่เกิดเหตุการณ์มุมไบ รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ Manmohan Singh และพรรค Indian National Congress ก็มีนโยบายสร้างสันติภาพและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงไม่ได้มีการตอบโต้ทางการทหารจากอินเดียเพื่อไล่ล่ากลุ่ม LeT ให้มารับผิดชอบต่อการก่อการร้ายในมหานครมุมไบ
แต่การเมืองในอินเดียก็เปลี่ยนไปเมื่อ พรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ภายใต้การนำของ Narendra Modi สามารถชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2014 พรรค BJP ซึ่งมีองค์กรทางศาสนาอย่าง Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) เป็นแกนกลางมีนโยบายชาตินิยมฮินดู (ที่หลายๆ ฝ่ายมองว่าค่อนข้างหัวรุนแรง) ดังนั้นการปลุกกระแสรักชาติจนถึงคลั่งชาติที่มีอัตลักษณ์ความเป็นฮินดูจึงเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างมีพลวัตตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะดินแดนที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งเช่นพื้นที่แคชเมียร์
พื้นที่ชัมมูและกัศมีร์ (Jammu and Kashmir) แต่เดิมมีสถานะเทียบเท่ารัฐที่มีรูปแบบการปกครองพิเศษที่ให้อิสระในการดำเนินนโยบายและรักษาอัตลักษณ์ของตนที่มีความซับซ้อน เนื่องจากดินแดนแห่งนี้มีผู้คนแตกต่างศาสนาที่อาศัยกระจุกตัวกันอยู่ใน 3 พื้นที่ นั่นคือ ชัมมู ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู, กัศมีร์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และลาดัค ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่เมื่อรัฐบาล BJP เข้ามาในปี 2014 ก็มีความพยายามในการแก้ไขมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้สำเร็จในปี 2019 โดยแปรสถานะของชัมมูและกัศมีร์ออกเป็น 2 ดินแดนสหภาพ (Union Territories) อันได้แก่ ชัมมูและกัศมีร์ เขตหนึ่ง และลาดัค อีกเขตหนึ่ง ซึ่งการเป็นดินแดนสหภาพหมายถึง ดินแดนเหล่านี้จะขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางที่นิวเดลี รวมทั้งยังมีการระงับใช้คำสั่งของประธานาธิบดีในปี 1954 ซึ่งนั่นทำให้มาตรา 35A ของรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปด้วยและทำให้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2019 เป็นต้นมา ชาวอินเดียไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด ฐานะใด ก็สามารถเข้ามาซื้อที่ดินและสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ชัมมูและกัศมีร์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งแน่นอนว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนแคชเมียร์ และต้องการรักษาอัตลักษณ์ของแคชเมียร์ โดยการสงวนพื้นที่ของแคชเมียร์ ไว้สำหรับคนแคชเมียร์เท่านั้นรู้สึกถูกคุกคาม และฝ่ายที่รู้สึกตนเองถูกคุกคามมากที่สุดนั้นก็คือ ฝ่ายหัวรุนแรงในปากีสถานที่ยังหวังว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าดินแดนแคชเมียร์จะกลายเป็นดินแดนเอกราช และ/หรือ มาเข้าร่วมกับฝั่งปากีสถาน ดังนั้นตั้งแต่ช่วงหลังปี 2019 เป็นต้นมา เราจึงเห็นขบวนการอย่างเช่น The Resistant Front (TRF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT) ออกมาสร้างเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงการสังหารหมู่ที่ Pahalgam เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สถานการณ์ทางฝั่งอินเดียยังคงคุกรุ่นมากยิ่งขึ้น เมื่อในการเลือกตั้งปี 2024 พรรค BJP ซึ่งเคยคาดการณ์กันว่าจะชนะการเลือกตั้งอย่างแลนด์สไลด์ กลับพลิกความคาดหมาย สูญเสียที่นั่งถึง 63 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยมี สส. ถึง 303 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2019 ลดเหลือเพียง 240 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2024 เพื่อแก้ทางกับกระแสการเมืองที่ความนิยมลดลง การปลุกกระแสรักชาติ จนถึงคลั่งชาติ กลายเป็นทางออกของพรรค BJP และนายกรัฐมนตรี Modi
ดังนั้นการสังหารหมู่ที่ Pahalgam จึงเป็นการเติมเชื้อไฟได้เป็นอย่างดีในการเริ่มต้นปฏิบัติการทางการทหารที่ปลุกกระแสรักชาติที่มีอัตลักษณ์ฮินดูได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งชื่อปฏิบัติการทางการทหารครั้งนี้ว่า Operation Sindoor ที่มีที่มาจาก ซินดูร์ หรือ ซินดูรา ซึ่งเป็นแป้งเครื่องสำอางสีแดงชาด สีส้มแดง หรือสีน้ำตาลแดงเข้มแบบดั้งเดิมของเอเชียใต้ ถูกใช้โดยผู้หญิงที่แต่งงานแล้วทาบริเวณแนวผม ในชุมชนฮินดู ซินดูร์ถือเป็นสิริมงคลและเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นของสถานภาพสมรสของผู้หญิง และการหยุดใช้มักจะหมายถึงการเป็นม่าย ซึ่งหนึ่งในภาพจำที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Pahalgam คือ ภาพของคุณครูสาว Himansh นั่งอยู่ข้างศพของเรือเอก (Navy lieutenant) Vinay Narwal ที่เสียชีวิตจากการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่เธอเองยังคงมีซินดูร์อยู่บนใบหน้าซึ่งแสดงว่าเธอเองเพิ่งจะแต่งงานและเธอก็ได้กลายเป็นหม้ายเสียแล้วจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ไม่มีกระแสใดๆ อีกแล้วที่จะเร่งให้เกิดการสนับสนุนทางการเมืองได้ดีเท่ากับกระแสปลุกใจชาตินิยม และยิ่งเมื่อมีส่วนผสมทางศาสนาเข้าไปอีก การสนับสนุนทางการเมืองก็ยิ่งพุ่งทะยานขึ้น และแน่นอนขีดสุดของกระแสนี้จึงต้องมีบทสรุปโดยการแสดงออกผ่านปฏิบัติการทางการทหาร และอะไรจะดียิ่งไปกว่าการโจมตีเข้าไปในปากีสถาน ประเทศที่ถือเป็นคู่แค้นตลอดกาลของอินเดีย (ต้องอย่าลืมว่า หนึ่งในคำด่าทอหยาบคายที่คนอินเดียใช้เรียกเพื่อดูหมิ่นฝั่งตรงข้ามคือ คำว่า PK ซึ่งในทางหนึ่งมาจากภาษาฮินดี pikay (पीके ) ที่แปลว่า ไอ้ขี้เมา ไอ้ขี้ยา แต่ในอีกทางหนึ่ง PK ก็ย่อมาจาก ปากีสถาน นั่นเอง)
ดังนั้นแม้รัฐบาลปากีสถานจะไม่ได้ให้การสนับสนุนทั้งกลุ่ม The Resistant Front (TRF) ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ รวมทั้งไม่ได้สนับสนุนขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT) ซึ่งเป็นเหมือนเครือข่ายแม่ แต่สำหรับรัฐบาลอินเดีย และคนอินเดีย พวกเขาเชื่อ และเชื่อไปแล้ว มั่นใจไปแล้วว่า ปากีสถาน (ไม่ได้บอกว่า รัฐบาล แต่บอกว่า ปากีสถาน) คือคนสนับสนุนขบวนการเหล่านี้ ดังนั้นเรา (ชาวอินเดีย) ก็ต้องเอาพวกมัน (ปากีสถาน) มาลงโทษ และแน่นอนว่าในทางการเมือง ผู้นำที่จะนำเอาพวกมันมาลงโทษ ก็ไม่มีใครทำได้ดีไปกว่า Modi และพรรค BJP
ด้วยกระแสทางการเมืองที่โหมกระหน่ำเช่นนี้ ทำไม Modi และ BJP จะไม่ใช้กระแสเช่นนี้ในการเปิดฉากปฏิบัติการทางการทหารล่ะ
ย้อนกลับมาดูที่ฝั่งปากีสถานกันบ้าง คำถามคือ ทำไมปากีสถานที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็น The Resistant Front (TRF) และ/หรือ ขบวนการ Lashkar-e-Taiba (LeT) ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างเต็มปาก หรือปฏิเสธไปก็ไม่มีใครเชื่อ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผู้ปฏิเสธการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายคือ รัฐบาลปากีสถาน แต่ปากีสถานก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสลับซับซ้อนในทางการเมืองในรูปแบบของรัฐซ้อนรัฐ (บางครั้งใช้คำว่า รัฐพันลึก, Deep State) รัฐบาลปากีสถานจะไร้เสถียรภาพทันทีหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ และในแกนกลางของกองทัพปากีสถาน หนึ่งในหน่วยงานที่ทับซ้อนและมีอิทธิพลสูงยิ่งคือ หน่วยข่าวกรองระหว่างกองทัพ Inter-Services Intelligence หรือ ISI ซึ่งนอกจากจะมีเครือข่ายที่ซับซ้อนและทรงอิทธิพลในประเทศแล้ว ยังมีเครือข่ายและให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอีกหลากหลายขบวนการโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถานและอินเดีย และในหลายๆ ครั้งการดำรงอยู่ของสถานะที่เข้มแข็งของรัฐพันลึกเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากการทำงานใกล้ชิดกับผู้ก่อการร้าย และในหลายๆ ครั้งเช่นกันก็ทำงานสวนทางกับรัฐบาล
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด อาทิ สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation: FBI) ได้ออกมายอมรับอย่างเปิดเผยต่อศาลสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในปี 2011 ว่า หน่วยข่าวกรองระหว่างกองทัพ (ISI) ให้การสนับสนุนและกำกับดูแลการก่อกบฏในแคชเมียร์ด้วยการมอบอาวุธให้กับกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน หรือ อีกตัวอย่างที่สร้างความอึดอัดอย่างยิ่งให้กับสหรัฐฯ คือ ปฏิบัติการตามล่า Osama bin Laden ผู้ก่อเหตุการก่อการร้าย 9/11 ซึ่งในที่สุดสหรัฐฯ ก็สามารถส่งทีมล่าสังหารเข้าไปสังหาร Osama bin Laden ได้ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ในคฤหาสน์ ณ เมือง Abbottabad โดยมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เขาได้พำนักอยู่ในคฤหาสน์แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2006 โดยสิ่งที่สร้างความอึดอัดใจอย่างที่สุดให้กับสหรัฐฯ นั่นคือ คฤหาสน์แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนนายร้อย Pakistan Military Academy (PMA) เพียง 1.3 กิโลเมตรเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐบาลปากีสถานได้ยืนยันกับสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่าไม่ได้ให้การสนับสนุนและแหล่งพักพิงกับ Osama bin Laden และขบวนการของเขา รวมทั้งให้คำมั่นว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับการไล่ล่าสังหารผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ นี่เป็นหลักฐานว่า สำหรับรัฐบาลปากีสถานแม้พวกเขาจะเกรงใจสหรัฐฯ แต่เขาเกรงใจรัฐพันลึกภายในประเทศมากกว่า เพราะจะมีประโยชน์อะไรถ้าช่วยสหรัฐฯ จับตัว Osama bin Laden ได้แต่ตนเองถูกรัฐประหาร โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลปากีสถานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งจาก Pakistan Muslim League (Q), Pakistan Peoples Party และ Pakistan Muslim League (N) แต่สิ่งที่ไม่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคือ ISI และกองทัพ
คำถามสำคัญคือ เพราะเหตุใด รัฐพันลึกของปากีสถานต้องการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า เพื่อรักษาอำนาจของ ISI และกองทัพ การสนับสนุนกิจกรรมก่อการร้ายอาจเป็นทางเลือกของรัฐพันลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของทุนจีนผ่านโครงการสำคัญนั่นคือ China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่จีนเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบถนน ระบบราง และท่าเรือ รวมทั้งโครงการพัฒนาสาธารณูปโภค การศึกษา และสาธารณสุขแบบครบวงจรในแกนกลางของประเทศปากีสถานจากพรมแดนปากีสถาน-จีน (ซึ่งคือบริเวณแคชเมียร์) ไปสุดทางที่ชายฝั่งทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย

Screenshot
รัฐบาลและวิสาหกิจจีน เข้ามาสร้างความเข้มแข็งเสริมพลังอำนาจให้กับรัฐบาลปากีสถานมากยิ่งขึ้น โครงการ CPEC จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมปากีสถานเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก และจีนก็ต้องการความต่อเนื่องของรัฐบาลปากีสถานเพื่อให้โครงการสำเร็จ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลปากีสถานก็ต้องการการสนับสนุนจากจีนเพื่อค้ำจุนเสถียรภาพทางการเมือง และเพื่อหารายได้เข้าประเทศ (และหลายๆ ครั้งก็เข้ากระเป๋าตนเอง)
นี่จึงเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาและนั่นอาจจะทำให้รัฐพันลึกของปากีสถานรู้สึกถูกคุกคาม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาความล่าช้าของโครงการ CPEC เกิดจากภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นรายวัน เล็กบ้าง-ใหญ่บ้าง จนในที่สุดจีนเองต้องเอาเจ้าหน้าที่ด้านรักษาความปลอดภัยของตนเองเข้ามาควบคุมการก่อสร้าง และหากมองในมิตินี้ ที่รัฐพันลึกจะสูญเสียอำนาจ เพราะจีนสนับสนุนให้กองทัพอยู่ในกรมกองอย่ามาแทรกแซงการเมืองและเศรษฐกิจ การสนับสนุนให้เกิดความไม่สงบบริเวณแคชเมียร์ทั้งฝั่งปากีสถานและฝั่งอินเดีย ก็ดูจะเป็นการตัดเส้นทางความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับปากีสถานที่จะได้ผลสูงสุด เพราะระเบียงเศรษฐกิจ CPEC จะไร้ประโยชน์ทันทีหากปากีสถานไม่สามารถเชื่อมโยงกับชายแดนจีนได้ ยิ่งมีอินเดียเข้ามาใช้ปฏิบัติการทางการทหาร ก็ยิ่งทำให้บทบาทของกองทัพปากีสถานมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ยิ่งกระแสชาตินิยมรุนแรงมากยิ่งขึ้น กองทัพและรัฐพันลึกก็ได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นเมื่อมองจากเหตุผลของทั้งสองฟากของชายแดน หรืออาจจะ 3 ฟาก หากนำตัวแปรจีนเข้ามาร่วมคำนวณด้วย เราก็จะยิ่งตอบคำถามได้ว่า Why Not hesitate to start a war? ทำไมถึงจะไม่ลังเลที่จะก่อสงครามล่ะ?
คำถามที่ 2 และ 3 ที่ต้องถามต่อคือ Who else? แล้วประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจจะเข้ามาพัวพันด้วยไหม รวมทั้ง What’s Next? แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สงครามนิวเคลียร์จะเกิดหรือไม่ เอาไว้อ่านต่อในตอนต่อไปนะครับ
ภาพ: Faisal Khan / Anadolu via Reuters