ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจในเอเชียใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรวัยทำงาน และกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
การค้าระหว่างไทยกับอินเดียในปี 2561 มีมูลค่ารวมกว่า 1.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.96 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออกไปอินเดียคิดเป็นมูลค่ากว่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.43 แสนล้านบาท และนำเข้าจากอินเดียเป็นมูลค่า 4.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.55 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไปที่ตลาดอินเดียขยายตัว 8% ในปี 2562 คิดเป็นมูลค่าราว 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.62 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอินเดียก็มีนโยบาย Look East ที่จะให้ความสำคัญกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกรวมถึงอาเซียนมากขึ้นด้วย
สำหรับแผนการเจาะตลาดอินเดียในปีนี้ จะเน้นผลักดันกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และนักลงทุนไทยผ่านการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะเน้นเป็นบางรัฐที่มีศักยภาพ โดยเน้นกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำนมข้าว อาหารมังสวิรัติ (Vegan) ผ่านช่องทางสมัยใหม่อย่างห้างค้าปลีกและการค้าออนไลน์
กระทรวงพาณิชย์ยังเน้นเรื่องโอกาสการขยายธุรกิจของไทยในภาคการก่อสร้าง บริการระบบสาธารณูปโภค บริการโรงแรมและสปา เทคโนโลยีการผลิตอาหารแปรรูป และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่อินเดีย เนื่องจากรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพี, อิตาเลียนไทย, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, ไทยซัมมิท, เดลต้า, เอสซีจี เทรดดิ้ง, ดัชมิลล์, แอ็ลไลด์ เม็ททัลส์, วีรับเบอร์ และไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป เป็นต้น
ส่วนธุรกิจที่อินเดียต้องการเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ไอที ธุรกิจเคมี เครื่องมือแพทย์ รวมถึงบริการด้านการศึกษา ปัจจุบันบริษัทอินเดียที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ Indo Rama, Aditya Birla, GP, Polyplex และ Tata
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- กระทรวงพาณิชย์