มาตรการควบคุมคุณภาพสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากจีนของรัฐบาลอินเดียกำลังส่งผลกระทบขัดขวางบรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple และ Xiaomi เนื่องจากทำให้การนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์บางอย่างเกิดความล่าช้า
แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า มาตรการคุมเข้มสินค้านำเข้าจากจีนของรัฐบาลอินเดียที่เริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังเกิดข้อพิพาทบริเวณพรมแดนกับรัฐบาลจีน ทำให้กระบวนการพิจารณาการอนุมัตินำเข้าสินค้าของสำนักมาตรฐานสินค้าอินเดีย (Bureau of Indian Standards: BIS) ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาเพียง 15 วัน มาอยู่ที่ 2 เดือนหรือมากกว่านั้น
โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในจีนที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมตั้งแต่สมาร์ทโฟน, สมาร์ทวอทช์ และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป
ทั้งนี้ แม้ว่า Apple จะมีโรงงานผลิตสินค้าอยู่ในอินเดีย แต่สินค้าบางรุ่นรวมถึง iPhone 12 ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งมีการเปิดตัว ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนบางตัวจากจีนเป็นหลัก ก่อนนำมาประกอบในอินเดีย ซึ่งมาตรการคุมเข้มของรัฐบาล ทำให้เหล่าผู้บริหาร Apple ในอินเดียออกมาเรียกร้องให้ BIS เร่งรัดขั้นตอนการอนุม้ติให้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม Apple ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชิ้นส่วนของ iPhone 12 ล่าช้ามากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนเริ่มตึงเครียด เพราะการกระทบกระทั่งบริเวณชายแดน จนนำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มการนำเข้าสินค้าจากจีน ตลอดจากการสั่งแบนแอปพลิเคชันของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Tencent, Alibaba หรือ ByteDance
โดยตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน BIS มีลิสต์รายการสินค้าที่กำลังอยู่ในระหว่างรอพิจารณารวม 1,080 รายการ ส่วนใหญ่คือ แล็ปท็อป, แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน โดยในจำนวนนี้ 669 รายการ รอคำสั่งอนุมัติมาแล้วมากกว่า 20 วัน และบางรายการรออนุมัติตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีคำสั่งแบนแอปพลิเคชันจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 24 รายการ
มาตรการคุมเข้มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากจีนของรัฐบาลอินเดียยังสร้างความปวดหัวให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติหลายแห่งในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Xiaomi, Oppo และ Samsung ที่หวังอาศัยเทศกาลช้อปปิ้งของขวัญช่วงปลายปีของผู้บริโภคในอินเดียเพิ่มรายได้เข้าบริษัท หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การนำเข้าโทรทัศน์ 30,000 เครื่องของ Xiaomi ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลอินเดีย ขณะที่ Samsung ก็เผชิญกับการปฏิเสธในลักษณะเดียวกันจากทางการอินเดียเช่นกัน
ดูเหมือนว่าปีนี้จะไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในหลายประเทศ ที่ส่งผลต่อรายได้และผลกำไรของบริษัท โดยนอกจากมาตรการคุมเข้มสินค้าของรัฐบาลอินเดียแล้ว ยังมีมาตรการเก็บภาษีตัวใหม่ของรัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่มเข้ามาด้วย
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เตรียมจะเริ่มเก็บภาษีดิจิทัล 3% ของรายได้ของบริการด้านดิจิทัล จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีรายได้ทั่วโลกรวมกันมากกว่า 750 ล้านยูโรในปีงบประมาณภาษีปัจจุบัน
โดยกระทรวงการคลังฝรั่งเศสเตรียมส่งเอกสารเรียกเก็บภาษีดังกล่าวให้กับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึง Google, Facebook และ Amazon ภายในสิ้นปีนี้
รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติเห็นชอบกับการเก็บภาษีดิจิทัลตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินหน้ายกเครื่องปฏิรูประบบภาษีโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะมีมาตรการโต้ตอบรัฐบาลฝรั่งเศสหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ออกมาขู่อย่างชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลฝรั่งเศสทำให้สหรัฐฯไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีเช่นเดียวกัน
ถือเป็นความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศส่งท้ายปี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และกลายเป็นบททดสอบท้าทายของโจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่แสดงจุดยืนต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลยุโรป ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: Channel News Asia, CNN