ข้อกล่าวหาของแคนาดาที่ว่า อินเดียอาจเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์บนแผ่นดินแคนาดานั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดหนัก เมื่อต่างฝ่ายต่างขับนักการทูตอาวุโสออกนอกประเทศ
การตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด เปิดเผยว่า แคนาดากำลังสืบสวน ‘ข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือ’ กรณีที่อินเดียอาจเกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร ฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ ผู้นำซิกข์คนสำคัญซึ่งเป็นพลเมืองแคนาดา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงของแคนาดาได้ติดตามข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสายลับของรัฐบาลอินเดียกับการสังหารพลเมืองแคนาดา ฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์” ทรูโดกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 กันยายน) พร้อมเสริมว่า รัฐบาลของเขาจะดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็น “เพื่อนำผู้กระทำผิดในคดีฆาตกรรมนี้มารับโทษ”
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาแคนาดาได้มีคำสั่งขับนักการทูตอินเดียรายหนึ่งออกจากประเทศ ซึ่ง เมลานี โจลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา อธิบายว่า นักการทูตรายนี้เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอินเดียในแคนาดา ขณะเดียวกันเธอก็เผยด้วยว่า ทรูโดได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือร่วมกับทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของสหราชอาณาจักร
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งวัน กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียก็ออกมาตอบโต้ในทำนองเดียวกัน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า อินเดียได้ขับนักการทูตอาวุโสของแคนาดารายหนึ่งออกนอกประเทศ
“นักการทูตที่เกี่ยวข้องถูกขอให้ออกจากอินเดียภายใน 5 วัน” กระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุในแถลงการณ์ “การตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลอินเดียต่อกรณีที่นักการทูตแคนาดาแทรกแซงเรื่องภายในของเรา และการที่นักการทูตแคนาดามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านอินเดีย”
นอกจากนี้อินเดียยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของทรูโด โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นไร้สาระ
“เราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อหลักนิติธรรม” แถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุ
“ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานดังกล่าวพยายามที่จะเปลี่ยนจุดสนใจจากผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงคาลิสตานี ซึ่งได้รับการจัดหาที่พักพิงในแคนาดา และยังคงคุกคามอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินเดีย การที่รัฐบาลแคนาดานิ่งเฉยในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรากังวลมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน”
ตำรวจแคนาดายังไม่ได้จับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนิจจาร์ แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้ออกแถลงการณ์ว่า กำลังสอบสวนผู้ต้องสงสัย 3 คน และขอให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสยานพาหนะที่ผู้ต้องสงสัยอาจใช้หลบหนี
ข้อกล่าวหาของแคนาดาต่อรัฐบาลอินเดียที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มีแนวโน้มที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศย่ำแย่ลง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการค้าของอินเดียกล่าวว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศที่กำลังดำเนินอยู่นั้นถูกพักไว้ก่อน พร้อมกับเสริมว่า มีบางประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
หลังจากถ้อยแถลงของทรูโดเมื่อวันจันทร์ ชุมชนชาวซิกข์สองกลุ่มหลักในแคนาดา ได้แก่ British Columbia Gurdwaras Council (BCGC) และ Ontario Gurdwaras Committee (OGC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดาระงับความร่วมมือด้านข่าวกรอง การสืบสวน และการดำเนินคดี กับอินเดียโดยทันที
ทั้งนี้ นิจจาร์เป็นผู้นำซิกข์ที่มีชื่อเสียงในแคนาดาตะวันตก เขาถูกยิงเสียชีวิตในรถบรรทุกของตัวเองเมื่อเดือนมิถุนายน โดยมือปืนสวมหน้ากาก 2 คนที่บริเวณด้านนอกวัดซิกข์ในเมืองเซอร์เรย์ รัฐบริติชโคลัมเบีย
การเสียชีวิตของนิจจาร์สร้างความตกตะลึงและความโกรธแค้นให้กับชุมชนซิกข์ในแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนชาวซิกข์ที่ใหญ่ที่สุดนอกอินเดีย โดยมีสมาชิกมากกว่า 770,000 คน
นิจจาร์เป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนและการสร้างดินแดนของชาวซิกข์ที่รู้จักกันในชื่อคาลิสถาน (Khalistan) ตามแถลงการณ์ขององค์การซิกข์โลก (World Sikh Organization)
ขบวนการคาลิสสถาน (Khalistan Movement) เป็นกลุ่มนอกกฎหมายในอินเดีย และรัฐบาลอินเดียถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ถูกระบุว่าเป็น ‘องค์กรก่อการร้าย’ ภายใต้กฎหมาย (การป้องกัน) กิจกรรมผิดกฎหมาย (Unlawful Activities (Prevention) Act) หรือ UAPA ของอินเดีย ซึ่งชื่อของนิจจาร์ปรากฏในรายชื่อผู้ก่อการร้ายตามกฎหมาย UAPA ของกระทรวงมหาดไทยอินเดีย
ในปี 2020 สำนักงานสืบสวนแห่งชาติของอินเดียกล่าวหาว่านิจจาร์พยายามทำให้ชุมชนซิกข์ทั่วโลกมีความคิดหัวรุนแรง เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งคาลิสถาน และเสริมว่า เขาพยายามยุยงให้ชาวซิกข์ลงคะแนนเสียงเพื่อแบ่งแยกดินแดนและปลุกปั่นต่อต้านรัฐบาลอินเดียและดำเนินกิจกรรมที่รุนแรง
ประเด็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มซิกข์พลัดถิ่นขนาดใหญ่ในแคนาดาเป็นสาเหตุหนึ่งของความตึงเครียดมาอย่างยาวนาน โดยรายงานข่าวระบุว่า โมดีและทรูโดมึนตึงกันมานานแล้ว
เมื่อโมดีเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำกลุ่ม 20 (G20) ในนิวเดลี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เขาไม่ได้จัดการประชุมแบบตัวต่อตัวกับทรูโด แต่ผู้นำทั้งสองพบกันตามการประชุมคู่ขนานต่างๆ ซึ่งในโอกาสเหล่านั้นผู้นำอินเดียได้แสดงความกังวลต่อผู้นำแคนาดาเกี่ยวกับกิจกรรมต่อต้านอินเดียของกลุ่มหัวรุนแรงในแคนาดา ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลอินเดีย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 มีผู้พบเห็นทรูโดที่งานกิจกรรมของชาวซิกข์ในเมืองโทรอนโต ซึ่งมีการจัดแสดงธงและโปสเตอร์แบ่งแยกดินแดนเป็นรูปผู้นำชาวซิกข์หัวรุนแรงที่ถูกสังหารในปฏิบัติการของกองทัพอินเดียในปี 1984
ในแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของทรูโดเมื่อวันอังคารนั้น รัฐบาลอินเดียระบุว่า การที่บุคคลสำคัญทางการเมืองของแคนาดาแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างเปิดเผยต่อกลุ่มต่อต้านอินเดียนั้นถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง
“การที่แคนาดามีพื้นที่สำหรับกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ รวมถึงการฆาตกรรม การค้ามนุษย์ และกลุ่มอาชญากร ไม่ใช่เรื่องใหม่” คำแถลงระบุ “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดาดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มต่อต้านอินเดียโดยทันทีและมีประสิทธิภาพ”
ศาสนาซิกข์ถือกำเนิดขึ้นในรัฐปัญจาบเมื่อศตวรรษที่ 15 โดยคุรุนานัก และมีสาวกประมาณ 25 ล้านคนทั่วโลก ชาวซิกข์ถือเป็นชนกลุ่มน้อยในอินเดีย โดยมีจำนวนน้อยกว่า 2% ของประชากรทั้งหมด 1.4 พันล้านคนของประเทศ แต่เป็นคนส่วนใหญ่ในรัฐปัญจาบทางตอนเหนือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรซิกข์ขนาดใหญ่และทรงอำนาจ
ภาพ: Sanjeev Verma / Hindustan Times via Getty Images
อ้างอิง: