รายงานผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอะซีม เพรมจี ในเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย ชี้ผลกระทบจากวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปี ส่งผลให้ชาวอินเดียจำนวนกว่า 230 ล้านคนต้องตกอยู่ในความยากจน โดยเด็กและผู้หญิงนั้นได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่การแพร่ระบาดระลอก 2 ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม
จากข้อมูลรายงานระบุว่า การล็อกดาวน์ของทางการอินเดียตลอดหลายเดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวอินเดียราว 100 ล้านคนต้องตกงาน และราว 15% ไม่สามารถหางานใหม่ได้จนถึงช่วงสิ้นปี ซึ่งในกลุ่มแรงงานหญิงนั้นถูกเลิกจ้างมากกว่าถึง 47%
รายงานฉบับนี้ให้คำนิยามของประชาชนที่ตกอยู่ในความยากจนว่าเป็นผู้ที่หาเลี้ยงชีพ โดยมีรายได้ต่ำกว่า 375 รูปีต่อวัน หรือประมาณ 159 บาท
“แม้ว่ารายได้จะลดลงทั่วกระดาน แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบที่หนักกว่ากับครัวเรือนที่ยากจน” รายงานระบุ
ก่อนการระบาดของโควิด-19 ในอินเดียปีที่ผ่านมา มีการประเมินว่าประชากรอินเดียราว 50 ล้านคนจะหลุดพ้นจากความยากจน แต่สถานการณ์จริง ณ ปัจจุบัน เป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยวิกฤตแพร่ระบาดระลอก 2 ทำให้ครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของอินเดียราว 20% ไม่มีรายได้ หลังธุรกิจต่างๆ ถูกระงับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม
“คงทราบแล้วว่าการระบาดระลอก 2 กำลังทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง” อามิต บาโซล หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว
ชาวอินเดียจำนวนมากยังต้องเอาชีวิตรอดจากรายได้ที่หดหาย ด้วยการใช้จ่ายให้น้อยลงและบางส่วนต้องกู้หนี้ยืมสิน โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่าราว 20% ของชาวอินเดียนั้นไม่ได้บริโภคอาหารที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย ในช่วง 6 เดือนหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่รายงานชี้ว่าการล็อกดาวน์ในปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นนับล้าน ซึ่งตัดสินใจเดินทางกลับถิ่นฐาน เพื่อรอความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่การระบาดหนักของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้โอกาสในการลืมตาอ้าปากนั้นยิ่งลดน้อยลง
“เราพบว่าตอนนี้การสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ การชดเชยความสูญเสียที่ประชาชนได้รับในช่วงปีแรก และการคาดการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 2”
ภาพ: Naveen Sharma / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: