×

อินเดียวิกฤตหนัก หลายครอบครัวพึ่งโซเชียลมีเดียตัดสินเป็น-ตาย ส่งข้อความตามหาเตียง โรงพยาบาล ออกซิเจน และยา

27.04.2021
  • LOADING...
อินเดียวิกฤตหนัก หลายครอบครัวพึ่งโซเชียลมีเดียตัดสินเป็น-ตาย ส่งข้อความตามหาเตียง โรงพยาบาล ออกซิเจน และยา

สำนักข่าว BBC เผยแพร่บทความที่แสดงให้เห็นภาพสถานการณ์เลวร้ายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ในอินเดีย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึงกว่าวันละ 350,000 คน ยังทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ทั้งหาเตียงในโรงพยาบาล ออกซิเจน และยารักษาโควิด-19 อย่างเรมเดซิเวียร์ ตลอดจนพลาสมาจากผู้ติดเชื้อที่หายดีแล้ว ซึ่งหนทางหลักคือใช้โซเชียลมีเดียในการขอความช่วยเหลือเหล่านี้

 

บทสนทนาในแอปพลิเคชันที่ชาวอินเดียนิยมใช้อย่าง WhatsApp เต็มไปด้วยความปั่นป่วนจากข้อความที่หลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลา เพื่อขอและแบ่งปันความช่วยเหลือ เช่น “เตียง ICU ว่าง 2” หรือ “ต้องการเครื่องผลิตออกซิเจนด่วน” 

 

ซึ่งข้อความที่เสนอเตียงโรงพยาบาล หรือให้ความช่วยเหลือต่างๆ จะหมดไปอย่างรวดเร็วในไม่กี่นาที ขึ้นอยู่กับว่าใครติดต่อมาก่อนได้ก่อน หรือพูดในอีกทางหนึ่งคือ ‘อยู่ที่ดวง’ ที่จะกำหนดความเป็นความตายของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ 

 

ตัวอย่างหนึ่งคือ ชายที่พยายามหาถังออกซิเจนผ่านทาง WhatsApp ตั้งแต่วันศุกร์ (23 เมษายน) เพื่อช่วยรักษาลูกพี่ลูกน้องวัย 30 ปี ในรัฐอุตตรประเทศที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ไม่ทัน และเขาเสียชีวิตในวันอาทิตย์ (25 เมษายน)

 

อีกคนคือ อาวานี ซิงห์ หญิงสาวอินเดียที่อาศัยอยู่กับแม่ในสหรัฐฯ ซึ่งปู่วัย 94 ปีของเธอที่อยู่ในนิวเดลี ป่วยหนักจากโควิด-19 ทำให้เธอต้องพยายามติดต่อหาความช่วยเหลือข้ามประเทศ ทั้งผ่านอินเทอร์เน็ต, WhatsApp และโทรติดต่อผ่านญาติ เพื่อน คนรู้จัก และทุกคนที่พอจะให้ความช่วยเหลือ ทั้งเตียงโรงพยาบาล ออกซิเจน และยารักษา

 

“เรากำลังติดต่อทุกคนที่เรารู้จัก ฉันค้นหาในโซเชียลมีเดีย มันมีหลายเพจที่ฉันติดตามอยู่ ที่บอกและยืนยันว่ามีเตียง ICU หรือที่นี่มีออกซิเจน ระหว่างนั้นเราพยายามติดต่อไปกว่า 200 ที่” อาวานีกล่าว 

 

ซึ่งท้ายที่สุด เพื่อนสมัยเรียนของอาวานีพบโรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง แต่ก็ไม่มีออกซิเจน และปู่ของเธอก็ไม่รู้สึกตัวแล้ว แต่โชคดีที่แม่ของเธอได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่รู้จักห้องฉุกเฉินที่มีออกซิเจน หลังจากที่โพสต์ขอความช่วยเหลือทาง Facebook 

 

“ฉันโพสต์ข้อความอ้อนวอนบน Facebook และเพื่อนคนหนึ่งรู้จักห้องฉุกเฉินที่มีออกซิเจน เพราะเพื่อนคนนั้น พ่อของฉันถึงรอดชีวิตมาได้ในคืนนี้” อมริตา แม่ของอาวานีเผย 

 

ขณะที่ครอบครัวของอาวานียังคงพยายามหายาเรมเดซิเวียร์ เพื่อใช้ฉีดรักษาปู่ โดยใช้วิธีโทรศัพท์หาจากร้านขายยาต่างๆ และให้ญาติที่อยู่ในนิวเดลีขับรถไปหาซื้อ ซึ่งบางวันต้องขับรถกว่า 160 กิโลเมตร 

 

“เราได้ยินว่าร้านขายยาแห่งหนึ่งมียา (เรมเดซิเวียร์) แต่เมื่อลูกพี่ลูกน้องของฉันไปถึงที่นั่นก็ไม่มีใครอยู่แล้ว ร้านเปิดทำการเวลา 08.30 น. และมีคนไปต่อแถวรอตั้งแต่เที่ยงคืน มีเพียง 100 คนแรกเท่านั้นที่ได้ยา” เธอกล่าว ขณะที่ราคายาเรมเดซิเวียร์ในตลาดมืดตอนนี้พุ่งไปถึงเข็มละ 100,000 รูปี หรือประมาณ 42,000 บาท จากที่ควรจะไม่เกิน 1,200 รูปี หรือประมาณ 500 บาท แถมยังไม่แน่ว่าจะได้ยาจริงด้วยหรือไม่

 

ภาวะล่มสลายของระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในอินเดีย ณ ขณะนี้ ยิ่งสะท้อนถึงโอกาสในการรักษา ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะได้ฉีดยารักษาอย่างเท่าเทียม แต่ผู้ที่มีเงิน มีเส้นสาย และช่องทางติดต่อผ่านครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก หรือมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากกว่า 

 

วิกฤตความโกลาหลที่เกิดขึ้น ทำให้มีหลายกลุ่มบุคคลพยายามตั้งกลุ่มเพื่อรวบรวมข้อมูลและส่งต่อความช่วยเหลือ โดยใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Instagram ในการติดต่อ

 

ในจำนวนนี้ คือ อาร์พิตา โชวด์ฮิวรี นักศึกษาหญิงวัย 20 ปี พร้อมกลุ่มเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงนิวเดลี ที่กำลังทำฐานข้อมูลความช่วยเหลือ ทั้งเตียงโรงพยาบาล ออกซิเจน ยารักษา และพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้ว ซึ่งเธอและเพื่อนๆ พยายามรวบรวมและหาข้อมูลความช่วยเหลือด้วยตัวเอง ทั้งการติดต่อโรงพยาบาล หรือจากข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเป็นตัวกลางส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือจากญาติผู้ป่วย แต่แน่นอนว่าการขอความช่วยเหลือท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“มันเปลี่ยนทุกชั่วโมงและนาทีเลย 5 นาทีที่แล้ว ฉันได้ข้อมูลว่ามีโรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง 10 เตียง แต่เมื่อโทรไป ปรากฏว่าไม่มีเตียงแล้ว” เธอกล่าว ขณะที่เธอและเพื่อนๆ ยังพยายามติดต่อในทุกช่องทางที่หาได้ และยืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเพียงเรื่องพื้นฐานที่พอทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเท่านั้น

 

ภาพ:  Naveen Sharma / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X