วานนี้ (22 ก.ค.) อินเดียประสบความสำเร็จในการส่ง ‘มูน มิชชัน-2 (Moon Mission-2)’ หรือ ‘จันทรายาน-2 (Chandrayaan-2)’ ขึ้นสู่วงโคจรโลกแล้ว หลังภารกิจในวันที่ 15 กรกฎาคม ถูกยกเลิกไป เนื่องจากเกิดความขัดข้องทางเทคนิค
“ยานปล่อยดาวเทียม MkIII-M1 ที่บรรทุกจันทรายาน-2 ได้ถูกยิงขึ้นสู่อวกาศจากเกาะศรีหาริโคตรแล้ว” องค์กรวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ทวีตข้อความ พร้อมยืนยันว่า ยานเป้าหมายที่ส่งขึ้นไปได้เข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า (GTO) หรือวงโคจรโลกแล้ว
จรวด ‘GSLV-Mk-III’ ซึ่งบรรทุกยานโคจร ยานลงจอดวิคราม และยานสำรวจปราคยาอัม ได้ถูกยิงออกจากศูนย์อวกาศตีศธวันบนเกาะศรีหาริโคตร นอกอ่าวเบงกอล ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอานธรประเทศ ทางใต้ของอินเดีย เมื่อเวลา 14.43 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ทั้งนี้ อินเดียคาดว่า ยานลงจอดและยานสำรวจทั้งสองจะตกลงสู่พื้นที่ใกล้ขั้วโลกใต้ของดวงจันร์ในช่วงต้นเดือนกันยายน และกลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดในพื้นที่ดังกล่าว
หากปฏิบัติการลุล่วง อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ รองจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน
‘มูนมิชชัน’ มีมูลค่าเกือบ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.62 พันล้านบาท) มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ แร่ธาตุ และการก่อตัวของหินบนพื้นผิวดวงจันทร์
ในช่วงเช้าของวันจันทร์ บรรดานักวิทยาศาสตร์ขององค์กรฯ ยังได้จัดพิธีสวดภาวนาในวัดหลายแห่งที่อยู่ใกล้ฐานส่งจรวด พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างในสัปดาห์ที่แล้ว
องค์กรฯ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับจรวด GSLV-Mk-III ว่ามีน้ำหนักราว 640 ตัน ความยาว 44 เมตร หรือสูงกว่าอาคาร 15 ชั้น เรียกได้ว่าเป็นจรวดที่มีน้ำหนักมากที่สุดและใหญ่ที่สุดของอินเดีย อีกทั้งมีความสามารถในการปล่อยดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากถึง 4 ตัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว