×

อินเดียแบนส่งออกข้าวสาลีกำลังซ้ำเติมให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และกระทบต่อหุ้นผู้ผลิตอาหาร

22.05.2022
  • LOADING...
อินเดียแบนส่งออกข้าวสาลี

จากกรณีที่อินเดียออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลี และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาสต๊อกข้าวสาลีในประเทศขาดแคลนจากภาวะอากาศร้อนจากคลื่นความร้อน และเพื่อรักษาภาวะความมั่นคงทางอาหาร ผ่านมาตรการแจกข้าว หรือข้าวสาลีฟรี 5 กิโลกรัมแก่ผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศที่มีความจำเป็นตามคำขอเป็นรายประเทศ 

 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก USDA ณ สิ้นปี 2021 ระบุว่า อินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลี 109.6 ล้านเมตริกตัน คิดเป็น 14% ของการผลิตทั้งโลก มากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และส่งออกข้าวสาลีปีละ 8.2 ล้านเมตริกตัน มากสุดอันดับ 8 ของโลก 

 

จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้อุปทานของข้าวสาลีลดลง ส่งผลให้อินเดียได้ประโยชน์จากยอดส่งออกที่มากขึ้น พร้อมกับราคาข้าวสาลีในตลาดที่เพิ่มขึ้น 38% เป็น 1,167 เซนต์ต่อบุชเชล อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากคลื่นความร้อนทำให้อินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนข้าวสาลี จนนำมาซึ่งมาตรการดังกล่าว 

 

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีโดยตรงจากอินเดีย แต่จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอื่นๆ ในขณะที่ราคาข้าวสาลีมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

“ผลกระทบของมาตรการดังกล่าว คือ ราคาข้าวสาลีโลกจะเร่งขึ้นต่อ ส่งผลให้เงินเฟ้อด้านอาหารมี Upside Risk มากขึ้น เพิ่มผลกระทบด้านลบต่อเนื่อง และจะเพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลาง และกรณีเลวร้ายสุดอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง Stagflation ได้” 

 

สัดส่วนราคาอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยสูงถึง 41% เป็นอันดับรองจากอินเดียที่ 47% ดั้งนั้นหากราคาอาหารเพิ่มขึ้น แนวโน้มเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตาม และสร้างแรงกดดันให้ กนง. อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

 

“ในกรณีฐาน บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในไตรมาส 1/66 และไตรมาส 2/66 สู่ระดับ 1% ดังนั้น หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ธนาคาร ประกัน” 

 

ส่วนผลกระทบจากการที่ราคาข้าวสาลีปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยข้าวสาลีเป็นต้นทุนแป้งสาลีที่เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ คิดเป็น 15% ของต้นทุน ส่วนสัตว์บกจะคิดเป็น 5% ของต้นทุน ขณะที่หุ้นที่ใช้วัตถุดิบผลิตจากข้าวสาลี เช่น TFM, RBF, PB, TFMAMA, SNNP และ NSL ในระยะสั้นควรจะหลีกเลี่ยง ส่วนหุ้นอย่าง GFPT, CPF, ASIAN และ TU คาดเป็นเพียงแรงกดดันระยะสั้น 

 

ด้าน วัลดิส โดมโบรฟสกิส (Valdis Dombrovskis) หัวหน้าฝ่ายการค้าของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การพยายามจัดการกับความมั่นคงทางอาหารของแต่ละประเทศในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล หลายประเทศเริ่มที่จะออกมาตรการควบคุมบางอย่างในภาวะที่ราคาอาหารกำลังเพิ่มขึ้น และเกิดความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเราคิดว่าความพยายามในลักษณะนี้จะเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่า 

 

อย่างกรณีของอินโดนีเซียที่แบนการส่งออกน้ำมันปาล์มก่อนหน้านี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง เนื่องจากการจำกัดการส่งออกจะยิ่งผลักให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก และต้นทุนของการผลิตอาหารด้วยเช่นกัน 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising