×

ขั้วเก่าล้มกระดาน! ถ้า สว. อิสระเกิน 70 คน

11.06.2024
  • LOADING...
โอฬาร ถิ่นบางเตียว

HIGHLIGHTS

  • โอฬาร ถิ่นบางเตียว ให้ความเห็นว่า บรรดา สว. กลุ่มอิสระ ที่มาจากภาคประชาชน มีลักษณะจัดตั้งแบบธรรมชาติ ต่างคนต่างรู้ว่าต้องช่วยกัน
  • ถ้าในระดับจังหวัดมี สว. กลุ่มอิสระ เข้ารอบ 70 คนขึ้นไป ฝ่ายอำนาจเก่าจะต้องเดินเกมสกัดกั้น ซึ่งอาจไปถึงขั้นให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ
  • ผลลัพธ์ของการเลือก สว. ระดับจังหวัด จะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลถึงการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยการให้ สว. ชุดเดิม อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

โฉมหน้าของผู้สมัคร สว. ที่ผ่านเข้ารอบระดับอำเภอไปชิงต่อในระดับจังหวัด กำลังบอกอะไรเรา? และผลลัพธ์การเลือก สว. 2567 ในระดับจังหวัด กลายเป็น ‘สงครามตัวแทน’ ของการเมืองภาพใหญ่ได้อย่างไร?

 

นับตั้งแต่ผลการเลือกระดับอำเภอที่ทำเอาผู้สังเกตการณ์บางส่วนยอมรับว่า ‘เกินคาด’ หลังผู้สมัคร สว. หลายต่อหลายคน ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น ‘อิสระ’ หรืออยู่ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ผ่านเข้าสู่รอบจังหวัดเป็นจำนวนมาก สวนทางกับบางมุมที่วิเคราะห์ว่า อาจจะถูกฝ่ายขั้วอำนาจเก่าสกัดตั้งแต่รอบแรก

 

THE STANDARD ชวน โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ผลการเลือก สว. ระดับอำเภอ ไปจนถึงความเข้มข้นที่ต้องจับตาในระดับจังหวัด ที่อาจสะเทือนถึงขั้นล้มกระดาน

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว 

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

กลุ่มอิสระกับบ้านใหญ่ ใครทำได้ดีกว่า?

 

ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ มีเรื่องไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะในการจัดตั้งและฮั้วกัน กลุ่มที่มีการจัดตั้งทั้งกลุ่มขั้วอำนาจเก่าหรือกลุ่มพรรคการเมืองก็ไม่สามารถเข้ามาจัดตั้งในกลุ่มอิสระได้ กลุ่มอิสระจึงไหลไปตามธรรมชาติ

 

กลุ่มอิสระเองก็มีการจัดตั้ง เพราะทุกคนก็รู้กันว่าใครเป็นใคร ด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการจัดตั้งโดยธรรมชาติ ต่างคนต่างรู้ว่าต้องช่วยกัน

 

ส่วนตัวผมคิดว่า ในระดับอำเภอเป็นเพียงการทำให้เห็นหน้าเห็นหลังกัน ว่าจะต้องตระเตรียมวางแผนกันอย่างไรหากจะจัดตั้งในระดับจังหวัด  ซึ่งประมาทไม่ได้

 

เครือข่ายภาคประชาชนจัดกิจกรรมจำลองการเลือก สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ในขณะที่กลุ่มบ้านใหญ่จะเน้นจัดตั้งในกลุ่มอาชีพเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพรับจ้างทั่วๆ ไป แต่เขาไม่สามารถควบคุมอาชีพในระดับกลุ่มการศึกษา กลุ่มราชการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกลไกจัดตั้งแยกต่างหาก 

 

เท่าที่ผมเก็บข้อมูลพบว่า มีการแบ่งงานกัน ว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน เช่น กลุ่มอดีตข้าราชการเกษียณที่มีบทบาทก็จะมีความยึดโยงกับอำนาจเก่าอยู่แล้ว 

 

จึงไม่แปลก หากในกลุ่มการศึกษาหลายๆ จังหวัด จำพวกนักวิชาการหรือคนที่มีบทบาทในการทำหน้าที่ทางสังคม จะตกรอบเยอะ เพราะมีการจัดตั้งโดยกลุ่มข้าราชการที่มีความสัมพันธ์กับอำนาจเก่าหรือกลุ่มข้าราชการพลเรือน

 

ขณะที่ในระดับจังหวัดก็ต้องไปดูอีกว่า คนที่ผ่านเข้ารอบมาในแต่ละกลุ่มอาชีพมีความสัมพันธ์อย่างไรกับกลุ่มต่างๆ

 

ฝ่ายอิสระรุกคืบ ขั้วอำนาจเก่ากลัวหรือไม่?

 

กลัวครับ เขากลัวแน่ เพราะอย่างที่บอกว่า อย่างไรก็ตาม สว. ภาคประชาชน ประชาสังคม ก็ผ่านการจัดตั้งโดยธรรมชาติ ในระดับจังหวัดก็ต้องสนับสนุนกันแบบเดิมอีก 

 

“มองหน้ามองตากัน แล้วก็อย่าทิ้งกัน”

 

ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่า มีการจัดตั้งจริง ระหว่างการจัดตั้งของกลุ่มอำนาจเก่ากับการจัดตั้งของภาคประชาสังคม เพื่อให้คนของตัวเองมีโอกาสเข้าไปให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ 70-80 คน

 

 

สมชาย แสวงการ และกลุ่ม สว. ชุดเฉพาะกาล 

ขณะร่วมอภิปรายในการประชุมวุฒิสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

แต่ผมกลัวอย่างเดียวว่า หากมี สว. ภาคประชาชน เข้าไปได้สัก 70 คน จะมีการร้องโมฆะ ล้มทั้งกระดาน แล้วให้ สว. ชุดเก่า ทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งมันก็เห็นสัญญาณมาเป็นระยะๆ

 

ผมคิดว่าถ้ากลุ่มอิสระเข้าไปได้ไม่เกิน 50 คน ฝั่งตรงข้ามน่าจะโอเค เพราะมีความชอบธรรมขึ้นมา แต่ถ้าเกิน 70 คนเมื่อไรจะยุ่ง เพราะมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกติกาที่พวกเขามีผลประโยชน์อยู่

 

ส่วนการประเมินผลการเลือก สว. ระดับประเทศ จำเป็นต้องรู้ผลจากระดับจังหวัดก่อน ที่ทำได้คืออาศัยกระแสสังคมช่วยกันจับตา วิพากษ์วิจารณ์ และชี้ให้เห็นว่าแต่ละคนมีข้อน่าสงสัยในความสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคการเมืองหรือกับกลุ่มอำนาจ

 

จุดไหนที่ต้องล้มกระดาน?

 

เงื่อนไขของการล้มกระดานจะอยู่ที่จำนวนของ สว. ของแต่ละกลุ่มที่ผ่านเข้ารอบจังหวัดเป็นสำคัญ 

 

หากกลุ่มอำนาจเก่าเห็นว่าสามารถควบคุมจังหวัดได้ก็จะปล่อยผ่าน แต่หากคุมจังหวัดไม่ได้ เงื่อนไขของการล้มกระดานจะเกิดขึ้น

 

หากการเลือก สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะ สว. ชุดปัจจุบันก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อ ถึงแม้ว่าจะหมดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอาจจะถึงขั้นไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความให้ สว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ คาดว่าเพราะฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนขั้วนั้นมีเสียง สส. ในมือไม่ถึง 250 เสียง จึงต้องยืมมือ สว. 

 

 

บรรดาผู้สมัคร สว. ระหว่างการเลือก สว. ระดับอำเภอ 

ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

สว. ระดับจังหวัด ‘สงครามตัวแทน’ การเมืองภาพใหญ่

 

การเดินเกมล้มกระดานก็อาจจะเข้าทางฝ่ายอำนาจเก่าที่ต้องการอยู่ยาว เพราะดูแล้วว่าการเปิดศึกระหว่างทักษิณกับ ‘คนในบ้านป่าฯ’ น่าจะเอาจริงแล้วคราวนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟาดใครก่อน

 

ผมเชื่อว่าที่ทักษิณทำอะไรไปเขาไม่ได้โง่นะ การแสดงท่าทีของทักษิณแบบนี้ แปลว่าต้องเชื่อแล้วว่ามีแบ็กดี ถึงขั้นนำตัว วิษณุ เครืองาม มาทำให้เสียคนขนาดนี้ แปลว่าต้องเกรงใจใครสักคน

 

อย่างไรก็ตาม คดีความผิดตามมาตรา 112 ของทักษิณ จะเป็นจุดหักเหสำคัญ หากทักษิณไม่ได้รับการประกันตัว เพื่อไทยอาจจะเล่นเกมเป็นแนวร่วมมุมกลับกับพรรคก้าวไกล 

 

ผลลัพธ์ของการเลือก สว. รอบจังหวัด จะแสดงให้เห็นหน้าเห็นหลัง ว่าใครสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจใด และถ้าจะจัดตั้งต้องทำอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising