×

สรุปประเด็นเสวนา ‘สื่ออิสระในสถานการณ์วิกฤต บทสะท้อนชะตากรรมเสรีภาพประชาชน’

15.10.2021
  • LOADING...
สื่ออิสระ

วานนี้ (14 ตุลาคม) สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Democracy Alliance: DemAll) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสื่ออิสระที่รายงานสถานการณ์การชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย ประสานงานโดย ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ประสานงานของกลุ่ม ได้ร่วมกับสำนักข่าว The Reporters จัดเสวนา ‘สื่ออิสระในสถานการณ์วิกฤต บทสะท้อนชะตากรรมเสรีภาพประชาชน’ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00-16.00 น. ที่ Doc Club & Pub ชั้น 2 อาคาร WOOF PACK ซอยศาลาแดง 1 โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ The Reporters และแฟนเพจ DemAll

 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 

  • ณัฐพงศ์ มาลี จากแฟนเพจ สำนักข่าวราษฎร
  • สถิตย์ คำเลิศ จากแฟนเพจ กะเทยแม่ลูกอ่อน 
  • แอดมินนินจา จากแฟนเพจ Live Real 
  • นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ 
  • ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters 

 

ฐปณีย์กล่าวว่า วันนี้เป็นการพูดคุยเรื่องสื่ออิสระที่ทำหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม เนื่องจากมีหลายท่านถูกดำเนินคดีไม่ต่างจากผู้ชุมนุมในเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง 

 

สำหรับที่มาของสื่ออิสระมีที่มาฉีกกฎของสื่อมวลชนจาก Norm เดิมที่เราคุ้นเคยเป็นจารีตของวงการสื่อมวลชนไทย ที่มักจะมองว่าคนจะมาเป็นสื่อได้ก็ต้องทำข่าวอยู่ในสำนักข่าว ในบริษัทหรือองค์กรสื่อที่ได้รับการยอมรับหรือมีตัวตนเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนที่มาทำสื่อไม่ใช่ทุกคนที่จะมีที่มาเริ่มต้นแบบนั้น พลวัตของการทำสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน เราไม่ควรที่จะผูกขาดความเป็นสื่อในโลกที่ทุกคนเป็นสื่อได้

 

ณัฐพงศ์ มาลี จากแฟนเพจ สำนักข่าวราษฎร กล่าวว่า ชื่อสำนักข่าวราษฎร มาจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2563-2564 ที่ขบวนการเคลื่อนไหวใช้ชื่อราษฎร ส่วนตัวคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวนี้ด้วย แต่ทำหน้าที่นำเสนอข้อเรียกร้องผ่านการรายงานข่าว ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเลือกข้างฝั่งไหน ทั้งนี้ ยืนยันรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ข้อสำคัญคือรายงานตามข้อเท็จจริง ปราศจากความคิดเห็น แต่มีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ขณะนี้อายุ 23 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบมาว่างงานจึงมาเปิดแฟนเพจและใช้ความรู้จากการเรียนเขียนข่าวมาใช้ในสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมา เหตุที่เปิดเพจเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสังเกตการณ์เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมให้สังคมได้รับทราบ เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน ปัญหาความขัดแย้งจะได้เบาบางลง เริ่มเปิดเพจรายงานสถานการณ์ครั้งแรกวันที่ 24 มกราคม 2564 ขณะนี้มีผู้ติดตาม 2.7 แสนคนใน Facebook ส่วนใน YouTube มีผู้ติดตาม 1.5 หมื่นคน ในระยะเวลา 9 เดือน

 

เคยส่งใบสมัครงานไปตามบริษัทต่างๆ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ส่วนตัววางแผนที่จะเปิดเว็บไซต์ในอนาคต และมองว่าการเปิดเพจตัวเองก็มีอิสระ ขณะที่ถ้าเป็นสื่อสำนักใหญ่ๆ อาจจะมีเพดานของการนำเสนอข่าว แต่สำนักข่าวที่เปิดเองมีเพดานเทียบเท่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ตอนนี้มีคดี 1 คดี 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว จากการถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เพิ่งไปรายงานตัวที่ศาลแขวงพระนครเหนือ อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง แต่สามารถสั่งฟ้องได้ภายในอายุความ 1 ปี ขึ้นอยู่กับอัยการ

 

ตอนโดนจับตนก็ทำใจว่าคงไม่มีใครจะมารับรองหรือไม่มีใครมาออกหน้าแทน แต่ก็ยังมีกำลังใจเต็มเปี่ยมในการรายงานข่าว และอยากเสนอว่าให้สังคมไทยและองค์กรที่มีอยู่โอบรับสื่อมวลชนอิสระ ส่วนตัวมองว่าการรายงานอย่างปลอดภัยก็ส่งผลให้ข้อเท็จจริงส่งถึงผู้ชมอย่างชัดเจน

 

สถิตย์ คำเลิศ จากแฟนเพจ กะเทยแม่ลูกอ่อน เล่าว่า ทำช่อง YouTube มา 7 ปี มีผู้ติดตาม 3 แสนกว่าคน ส่วนช่องทาง Facebook เพิ่งเปิดได้ 2-3 เดือน มีผู้ติดตามเกือบ 3 หมื่นคน นอกจากนั้นยังมี TikTok เมื่อก่อนทำเนื้อหาคลิปด้านการเกษตรทำเชื้อเห็ด เผยแพร่คลิปทาง YouTube และให้คนมาเรียนที่บ้านด้วย ก่อนจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

 

ชื่อช่องกะเทยแม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อก่อนเลี้ยงสัตว์และเลี้ยงคน พอโตแล้วเขาก็ไป จึงใช้ชื่อนี้ แต่เมื่อมาม็อบก็เปลี่ยนความหมายว่า เป็นช่องที่มีคนอ่อนประสบการณ์ในการ Live เรามาสอนคนอ่อนประสบการณ์ จึงเป็นแม่

 

นอกจากนั้น เป็นเจ้าของร้านโทรศัพท์มือถือ เปิดร้านมา 14 ปีด้วย ทุกวันนี้จึง Live ได้สบาย ตอนแรกมาแจกของในม็อบ ที่มาเป็นสื่อเพราะเมื่อแจกของเสร็จเจอคนในพื้นที่หลังยุติการชุมนุมเขายังอยู่ ก็เลยหัดให้เขา Live เพราะเขาอยู่ในพื้นที่มากกว่าเรา เขาสามารถเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนได้มากกว่าเรา เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่าเรา

 

เนื่องจากทำธุรกิจมาก่อน ก็ได้จดทะเบียนช่องว่าเป็นสื่อให้บริการทางอินเทอร์เน็ต จดทะเบียน มีสังกัด และยื่นเสียภาษี มีทีมงานไม่ต่ำกว่า 18 คน แต่ไม่มีเงินเดือนให้ ทุกคนใช้ความสามารถช่วยกัน ถ้ามีนายทุนก็ต้องนำเสนอตามที่เขาสั่ง เราไม่เอาแบบนั้น จึงให้ประชาชนร่วมสมทบเข้ามาในแต่ละวัน

 

บางคนบอกว่าเป็นสื่อเถื่อน ไม่เป็นกลาง เอียงข้าง ส่วนตัวมองว่า ถ้าภาพที่ถ่ายออกไปแล้วใครได้ประโยชน์ คนนั้นก็จะบอกว่าเราเป็นสื่อดี ถ้าภาพออกมาเป็นลบกับใคร เขาก็จะบอกว่าเป็นสื่อไม่ดี ฉะนั้นขึ้นอยู่กับเขาได้รับผลแบบไหน อย่างไรก็ตาม ขอพื้นที่ให้สื่อได้รายงานจากเหตุการณ์จริง เพราะสถานการณ์บังคับให้พูดความจริงอยู่แล้วเวลา Live และเมื่อสื่อทำงานอิสระก็จะสะท้อนว่าใครดีใครเลว

 

แอดมินนินจา จากแฟนเพจ Live Real กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจมาเป็นสื่อมวลชน เดิมเป็นนักดนตรี เพียงแต่เป็นคนดินแดง เกิดที่นั่น เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง จึงอยากถ่ายภาพเก็บเอาไว้ เปิดเพจเพื่อนำภาพเหล่านั้นเป็นความทรงจำ ก่อนหน้านี้เป็นช่างภาพอิสระ มองเป็นศิลปะ 

 

แต่เหตุการณ์พัฒนาขึ้นมา ภาพไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่จะนำเสนอได้ครบถ้วน เห็นปัญหาผลกระทบจากภาครัฐ จึงตัดสินใจ Live ซึ่งการ Live ไม่สามารถปรุงแต่งใดๆ ได้ มันคือ Real Time ต้องการเก็บไว้เป็นปากเสียง เรียกร้องให้คนเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งก็คือบ้าน

 

ก่อนที่จะมาทำหน้าที่สื่อ จำเป็นที่จะต้องปรับตัว เรียนรู้กรรมวิธีต่างๆ เกี่ยวกับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิธี ทัศนคติ สิ่งที่ควร สิ่งที่ไม่ควร การนำเสนอก็จำเป็นต้องศึกษา เพราะในช่วงแรกไปยืนถ่ายรูปเก้ๆ กังๆ ยืนบังสื่อหมดเลย เพราะไม่ใช่สื่อแต่แรก ก็ต้องปรับตัวไม่ให้กระทบสื่อหลัก เดิมเป็นนักดนตรีและมองว่าดนตรีก็คือการสื่อสารเช่นเดียวกับสื่อมวลชน 

 

ก่อนจะมา Live ก็เห็นสื่อมวลชนอยู่กันเยอะและสถานการณ์เดินไปตลอดเวลา บางครั้งตีสี่ก็มีสถานการณ์แต่สื่อมวลชนไม่อยู่แล้ว ขณะที่สถานการณ์ยังอยู่ จึงเลือกที่จะทำ ไม่ได้คิดว่าจะต้องเจอกับอะไร เพราะคนเหล่านั้นคือพี่น้อง ที่ตรงนั้นคือบ้าน หลายๆ คนบอกให้ระวัง แต่จะระวังทำไมในเมื่อตรงนั้นคือบ้าน

 

การใช้ปลอกแขน DemAll ส่วนตัวมองการคัดกรองของรัฐว่า หลีกเลี่ยงไม่ให้สื่อนำเสนอสถานการณ์ที่ภาครัฐไม่ต้องการให้บุคคลทั่วไปรับทราบ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมักใช้วิธีรุนแรง ล่าสุดตอนโดนจับตัว มีน้องที่อยู่ในห้องขังด้วยกันร้องไห้และบอกว่าออกมาซื้อของแล้วถูกตะครุบและถูกทำร้าย หลังจากนั้นทุกคนถูกคุมตัวขึ้นรถ นำตัวไปบริเวณดุริยางค์ทหารบก ถูกทำร้าย ส่วนตัวถูกใช้เข่ากระทุ้งไปที่น่องขาเพื่อให้นั่งลง แต่มีเจ้าหน้าที่มากัน บอกว่าเป็นสื่อ เพราะมีปลอกแขน จึงรอดจากการถูกกระทำเหล่านั้น แต่น้องๆ ถูกทำร้าย ส่วนตัวมองว่าเกินกว่าเหตุ เกินไปที่ภาครัฐต้องการจะควบคุมให้สงบเรียบร้อย มันมากกว่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ตนยังทำหน้าที่สื่อต่อไป ถ้าคนในพื้นที่เองยังเกรงกลัวหลบเลี่ยงคงไม่ต้องพึ่งใครมาช่วย ถ้าเจอความไม่เป็นธรรมแล้วหยุดมัน จะกลายเป็นแบบอย่างให้ผู้คนหยุดไปด้วย ยอมแพ้ไปด้วย ดังนั้นตอนนี้ถือว่าเป็นสื่อมวลชนก็ต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ราษฎร เป็นหนึ่งในที่พึ่งของผู้คนที่ตีแผ่ความจริงให้ชุมนุมของตัวเองและพี่น้องประชาชน ถ้าหยุดแปลว่าเรายอมให้สถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นกับพี่น้องของเราในบ้านของเรา

 

นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ กล่าวว่า ฟังทั้ง 3 คนแล้วประทับใจมาก คิดว่าคนรับข่าวสารรวมถึงสื่อด้วยกันควรจะขอบคุณพวกเขา เพราะถ้าไม่มีพวกเขา เราก็จะไม่ได้รับข่าวสารอีกจำนวนมากเลย เนื่องจากช่วงเวลานี้สื่อมีข้อจำกัดสูงมาก มีเงื่อนไขทั้งเรื่องเอกสารและคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะบอกว่าห้ามไปตรงนั้น ทำให้เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน 

 

สื่อที่มีสังกัดจะมีข้อจำกัด รวมทั้งเคอร์ฟิว เอกสาร ปลอกแขนที่ทางหน่วยราชการออกให้ ดังนั้นเหตุการณ์ที่ดินแดง คนจะทำข่าวได้ต้องไม่ยอมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ แปลว่าต้องละเมิดบางสิ่งบางอย่างซึ่งอาจจะถูกจับก็ได้ เวลาถูกจับก็มีแต่พวกเขาที่จะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ที่สายตาประชาชนเข้าไปไม่ถึง

 

เราอาจจะต้องคิดใหม่ ใครเป็นสื่อ ใครไม่เป็นสื่อ ถ้ามองภาพกว้างจะเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้ามองด้วยบริบทของเจ้าหน้าที่ สื่อต้องสังกัดองค์กร สังกัดสมาคม จดทะเบียน มีบัตร มีปลอกแขน ทั้งหมดถ้าดึงออก คำถามคือคุณทำหน้าที่เป็นสื่อหรือเปล่า

 

ถ้าเราเอาผลประโยชน์ประชาชนผู้รับข่าวสารเป็นหลัก เราจะพบว่าทุกๆ อย่างที่เป็นเงื่อนไขในการทำงาน ควรจะคำนึงถึงเรื่องการได้รับข่าวสารของประชาชนเป็นตัวต้น

 

ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ ควรจะมองว่าการทำงานอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สำหรับสังคม รวมถึงตัวเจ้าหน้าที่เองด้วย เพราะถ้าทำงานแล้วอยู่ในสายตาสังคมตลอดเวลา หมายความว่าทำงานอย่างมืออาชีพ คนจะรู้สึกว่าโอเค เราได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่งตัวในเครื่องแบบ ระบุชื่อ หรือได้กระทำการตามสมควรหรือไม่ มาตรการเหล่านี้คือมีสปอตไลต์ส่อง คือสิ่งที่ช่วยทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย

 

เราควรปรับวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างกฎกำกับการทำงานของสื่อ สิ่งที่เราต้องการเวลานี้ไม่ใช่การกำกับว่าต้องจดทะเบียนเป็นสื่อเท่านั้นถึงจะทำหน้าที่สื่อได้ สิ่งที่เราต้องการในวันนี้ก็คือ เราจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มพลังความรู้และทักษะให้ประชาชนรู้ว่าควรจะสื่อสารอย่างไรให้ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่อ้างอิงได้ เชื่อถือได้ เป็นประโยชน์สำหรับสังคม

 

ยกตัวอย่าง เรามีกรมประชาสัมพันธ์ มีช่อง 5 รวมถึง กอ.รมน. ก็มีเพจสื่อสารของตัวเองส่งข่าวตลอดเวลา หมายความว่าทุกองค์กรของภาครัฐมีสื่อในสังกัดตัวเอง มีเครื่องมือเผยแพร่ พูดอะไรหลายอย่างได้ 

 

ดังนั้นในบางสถานการณ์การมีสำนักข่าวอิสระอยู่ดินแดง รายงานอย่างมีจริยธรรมได้เพราะการทำ Live ไม่สามารถพูดอะไรนอกเหนือจาก Live ได้ เราห้ามสิ่งนี้ยากเพราะเป็นกระแส เป็นเทรนด์ที่ทำกัน สิ่งที่ควรจะทำคือทำอย่างไรให้ทุกคนมีทักษะให้ข้อมูลที่ออกมาเชื่อถือได้อ้างอิงได้ ไม่กล่าวหาใครลอยๆ สิ่งเหล่านี้ควรจะทำ ไม่ใช่ไปบอกว่าต้องสังกัดสำนักสื่อใหญ่เท่านั้นจึงมีสิทธิ์จะพูดเรื่องนี้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และการคิดว่าคนเหล่านี้สนับสนุนโดยกลุ่มการเมืองจึงเป็นแบบนี้ ก็เป็นอีกวิธีคิดที่ติดป้ายติดยี่ห้อให้คนว่าเขาไม่มีคุณค่าพอที่จะฟัง ซึ่งไม่ใช่ ขณะที่เสียงของทุกคนควรได้รับการรับฟัง เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาไหม

 

ลงไปดูพื้นที่ดินแดง 2-3 ครั้ง บรรยากาศคล้าย 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ขาดพื้นที่การสื่อสาร อย่างใน 3 จังหวัด เจ้าหน้าที่ใช้ประเด็นว่าสื่อไม่ควรลงพื้นที่บางกรณีเพื่อความปลอดภัยของสื่อเอง เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถดูแลสื่อได้ ซึ่งสื่อก็คิดแบบนี้เช่นเดียวกัน เช่นในเหตุการณ์กลางคืนพื้นที่ห่างไกล มีระเบิดลูกที่ 2-3 ตามมา ขณะที่สื่อไม่มีอาวุธอยู่แล้ว มีแต่ความสามารถในการสื่อสาร แต่ไม่สามารถเข้าถึงบางพื้นที่ได้ และในพื้นที่ที่มีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ สื่อก็เข้าถึงน้อยมาก 

 

จึงมีปรากฏการณ์ปะทะกันแล้วลงเอยด้วยวิสามัญฆาตกรรม แล้วหลายกรณีชาวบ้านโวยวายว่านี่ไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการล้อมยิง บางทีเจ้าหน้าที่ออกมาขอโทษ เยียวยา ชดเชยกันไป ประเด็นคือเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นไม่มีใครรู้ แล้วข่าวออกมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้แถลง

 

ในหลายครั้งการจับกุมผู้คน เกิดอะไรขึ้นระหว่างถูกจับ ระหว่างสอบปากคำ ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ ขณะที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องให้อยู่ในสายตาสาธารณะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น มีการบันทึก สถานการณ์เช่นนี้อันตรายหากไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ความไว้วางใจต่อรัฐบาลก็จะลดลงไปด้วย

 

กิตติธัช วิทยาเดชขจร ผู้สื่อข่าว The Reporters ร่วมรับฟังการเสวนาและได้เล่าประสบการณ์การรายงานข่าวบริเวณแยกดินแดงว่า เจอเหตุการณ์ระหว่างรายงานข่าวบริเวณแฟลตดินแดง คืนวันที่ 13 ตุลาคม 2564 หลังได้รับรายงานว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมขว้างปาประทัดใส่แนวเจ้าหน้าที่บริเวณซอยต้นโพธิ์ ระหว่างรายงานสถานการณ์สักพักมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งถามว่า มึงอยู่ฝ่ายไหน เมื่อโชว์บัตรสำนักข่าวให้เขาดู เขาบอกว่า กูรู้ แต่กูอยากรู้ว่ามึงอยู่ฝ่ายไหน จากนั้นก็ดึงโทรศัพท์ที่กำลัง Live ไป ให้ลูกน้องอ่านคอมเมนต์ว่ามีการรายงานอะไรให้ทางฝั่งม็อบดูหรือไม่

 

ตอนนั้นมีความตกใจ แต่พูดจากับเขาอย่างมีเหตุผลว่ามาจากองค์กรนี้ มีบัตรของ บช.น. มีเอกสารครบ เขาก็บอกว่า อ๋อ กูว่าแล้ว พวกมึงมาแทรกซึมหาข่าวตำรวจนี่หว่า

 

เราก็บอกไปว่า องค์กรเรามีผู้ติดตาม 1.8 ล้านคน จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสีย ที่เราเข้ามาเพราะถ้ามีใครขว้างปาประทัดใส่แนวเจ้าหน้าที่ ภาพจะออกไปเองว่าผู้ชุมนุมกระทำต่อเจ้าหน้าที่ เราไม่ใช่ถ่ายแค่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมอย่างเดียว

 

เขาบอกให้ไปถ่ายหลังม็อบไม่ใช่ถ่ายแนวตำรวจ ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะสื่อ เขาพูดประมาณนี้ เขาบอกว่ามียศร้อยตำรวจเอกเดินมาด้านหลัง ก่อนที่จะมีลูกน้อง 4-5 คนมาประกบซ้ายขวา เจอเหตุการณ์นี้เวลา 20.30 น. ยังไม่เคอร์ฟิว

 

ด้านฐปณีย์กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องทัศนะของเจ้าหน้าที่กับสื่อ เป็นทัศนะที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่ออิสระ แต่รวมถึงสื่อทั่วไป รวมถึง The Reporters ซึ่งเป็นองค์กร แม้ผู้สื่อข่าวจะมีบัตรมีสังกัดก็เจอสถานการณ์ที่แสดงถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ คล้ายกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งกระทบเสรีภาพสื่อมวลชน

 

ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ประสานงาน DemAll กล่าวว่า พยายามคิดเรื่องการปกป้องนักข่าวในการช่วยดูแลสวัสดิภาพ เราพยายามส่งเสียงเพื่อชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีตัวตน ทุกคนทำหน้าที่ และนี่คือพลวัตของการพัฒนาของสื่อในปัจจุบัน เราพยายามตั้งเป็นองค์กรเพื่อที่จะดึงให้ทุกคนมารวมตัวกัน การรวมตัวกันจะมีพลังในการส่งเสียง เราเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของทุกคน เรามีอาสาสมัครมาช่วยกัน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีผลประโยชน์หรือรายได้

 

สิ่งหนึ่งที่ทำไปแล้ว แล้วคิดว่าจะต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นคือปลอกแขน ตอนนี้ผลิตเรียบร้อย แจกจ่ายนักข่าวในภาคสนามเรียบร้อยแล้ว ปลอกแขนไม่ใช่สิ่งที่ป้องกันความรุนแรง แต่เป็นเรื่องการบอกตัวตน

.

ส่วนเรื่องของความรุนแรง เราต้องเดินหน้าให้เจ้าหน้าที่รัฐรับรู้การมีอยู่ของปลอกแขนตรงนี้ว่าไม่ได้มาแบบลอยๆ มีความตั้งใจที่จะทำให้นักข่าวอิสระทุกคนมีตัวตน แล้วเจ้าหน้าที่เองต้องให้การยอมรับว่า ปลอกแขนที่แสดงสัญลักษณ์เป็นอุปกรณ์ของสื่อที่ทำงานภาคสนาม ซึ่งเราแจกจ่ายเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ เราอยากจะไปเจอกับทาง บช.น. เพราะเป็นองค์กรตำรวจที่ดูแลการชุมนุมใน กทม. ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา แต่อยากรับฟังเสียงเพื่อนสื่ออิสระทั้งหลาย เราจะไปด้วยกัน เพราะถ้า DemAll ไปกันเองจะเป็นเพียงกลุ่มกลุ่มหนึ่ง ถ้าสื่ออิสระไป จะไปในนามวิชาชีพ ไปแจ้งให้ทราบว่านี่คือปลอกแขนของสมาพันธ์สื่อไทย

 

ก่อนหน้านี้ได้ไปคุยกับนายกสมาคมนักข่าว ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ไปคุยกับ มงคล บางประภา และอุปนายกสมาคม เขาก็ทราบว่าทำตรงนี้ 

 

หลังจากนี้ DemAll จะเปิดฝึกอบรมทักษะวิชาชีพสื่อ จะมีการออกแบบหลักสูตร สามารถมาลงทะเบียนได้ เดี๋ยวจะประกาศทางเพจ พร้อมเปิดรับทุกคน

 

ภาพ: สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Democracy Alliance: DemAll)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising