×

จุรินทร์เดินหน้าประกันรายได้ยางพารา-พืชเกษตร 5 ชนิดต่อไป ยืนยันช่วยเกษตรกรได้ เห็นผลในภาวะวิกฤต

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (7 กรกฎาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน, ลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ร่วมกับ สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส. ตรัง ได้มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนที่ตําบลแหลมสอม อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

 

สำหรับครั้งนี้ จุรินทร์ได้เดินทางมาพบปะประชาชนเพื่อติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร และรับฟังปัญหาประชาชนอย่างใกล้ชิดที่ตําบลแหลมสอม อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารา

 

ช่วงหนึ่งระหว่างพบปะประชาชนร่วม 500 คน จุรินทร์กล่าวว่า ประชาชนร้อยละ 90 ที่นี่ทำสวนยางพารา ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่ายางพาราราคาไม่ดี เพราะโลกเปลี่ยนไป หลายจังหวัด หลายประเทศในโลกก็ปลูกยางพารา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และที่สำคัญเรามาพบกับภาวะโควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การใช้รถยนต์ก็ลดลง การนำยางไปผลิตยางรถยนต์ก็น้อยลง ประกอบกับน้ำมันโลกราคาลดลง จึงมีการนำน้ำยางเทียมที่มีราคาถูกกว่ายางธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์แทน และยอดส่งออกยางเดือนที่ผ่านมาตกไป 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ตกมากที่สุดคือรถยนต์ที่ประเทศไทยส่งออกไปต่างประเทศ ตกถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารถยนต์ส่งออกตก แปลว่ายางรถยนต์ขายไม่ได้ แปลว่ายางบ้านเราก็ราคาตก แล้วยังบวกกับราคาน้ำมันลด ซึ่งน้ำมันคือวัตถุดิบในการเอาไปทำยางเทียม ทำให้ยางเทียมราคาถูก ขณะที่คนที่ไปทำยางรถยนต์ก็หันไปใช้สัดส่วนยางเทียมมากขึ้นเพราะต้นทุนต่ำ แทนที่จะมาซื้อยางธรรมชาติที่เราตัด สุดท้ายก็กดราคายางในตลาดซ้ำไปด้วย

 

จุรินทร์กล่าวว่า จึงเป็นที่มาของนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ นโยบายหนึ่งคือนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะรู้ว่าอนาคตราคายางไม่ได้ดีเสมอไป และจะทำให้ชาวสวนยางเดือดร้อน มีรายได้ไม่พอกิน เราจึงมานั่งคิดตัวเลขกันว่า ถ้าให้ชาวสวนยางบ้านเราพอที่จะยังชีพ ราคายางแผ่นดิบชั้นสามซึ่งเป็นยางมาตรฐานที่เราใช้วัดกันในทางราชการกิโลกรัมละเท่าไร สุดท้ายได้คำตอบว่าควรกิโลกรัมละ 60 บาท ไม่ได้ทำให้พี่น้องรวย แต่พอยังชีพอยู่ได้ จึงมาเป็นมาตรฐานกลาง 

 

“ถ้าประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลวันไหน ประชาธิปัตย์จะเดินหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ยางแผ่นดิบชั้นสามกิโลกรัมละ 60 บาท แต่พี่น้องบ้านเราไม่ได้ทำแต่ยางแผ่น เราทำน้ำยางข้น ยางก้อนถ้วย ด้วยเพราะแรงงานทำยางแผ่นลดลง เราจึงได้มีนโยบายเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ว่า รับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าไปเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย รวมทั้งปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว สุดท้ายเลยประกันยางแผ่นดิบชั้นสามที่กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้นกิโลกรัมละ 57 บาท และยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 23 บาท” จุรินทร์กล่าว

 

จุรินทร์กล่าวอีกว่า นโยบายประกันรายได้นั้นช่วยเกษตรกรได้ในยามภาวะเศรษฐกิจตก และราคายางพาราไม่ดีวันนี้ประชาชนก็ได้รับส่วนต่างจากราคาขาย เพราะประชาชนได้เงินสองกระเป๋าคือ กระเป๋าซ้ายจากการขายยางพารา และกระเป๋าขวาเป็นส่วนต่างที่ได้รับจากนโยบายประกันรายได้ยามที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี พี่น้องก็ยังอยู่ได้ วันนี้เราทำมา 1 ปีแล้ว และมีคนบอกว่าจะทำต่อไหม ยืนยันว่าตราบใดที่ยังมีรัฐบาลชุดนี้ เราจะต้องทำต่อ เพราะประกันรายได้ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์ม และพืชเกษตรรวม 5 ชนิดนั้นเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาผูกพันแล้ว และไม่กี่วันมานี้เรามีมติในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติว่า เราจะทำประกันรายได้ชาวสวนยางต่อไปในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง โดยจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี และยังเพิ่มเงินกู้ให้กับพ่อค้าที่ทำธุรกิจไม้ยาง โดยจะได้รับวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยช่วยร้อยละ 3 

 

สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจอย่างยางแท่ง ก็มีวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ช่วยดอกเบี้ย 3% และสำหรับคนที่ทำน้ำยางข้น ถ้าทำธุรกิจน้ำยางข้นก็จะช่วยดอกเบี้ย 3% วงเงิน 20,000 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดต่อไปแล้ว 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising