×

Vogue อเมริกา เปิดตัวโปรแกรม In Vogue หารายได้ช่องทางใหม่ พร้อมค่าสมาชิก 3.2 ล้านบาทต่อปี

16.10.2018
  • LOADING...

ยังคงปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องสำหรับนิตยสาร Vogue อเมริกา ภายใต้การดูแลของ แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารและอาร์ติสท์ไดเรกเตอร์ของ Condé Nast ที่แม้จะยังเป็นเบอร์หนึ่งเชิงภาพลักษณ์ในวงการแฟชั่น แต่ก็ได้เห็นเม็ดเงินที่แต่ก่อนเทไปที่หน้าโฆษณาในนิตยสารถูกกระจายและลงทุนไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยล่าสุดที่งานสัมมนา Forces of Fashion ในนิวยอร์กที่จัดโดย Vogue ทางเว็บไซต์ Business of Fashion ก็ได้รายงานว่าต้นปีหน้าในช่วงไตรมาสแรก Vogue อเมริกา จะเปิดตัวโปรแกรมใหม่ชื่อ ‘In Vogue’ เพื่อหารายได้ช่องทางใหม่ๆ และเปิดตัวเองสู่ผู้อ่านที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของโลกแฟชั่นมากขึ้น

 

In Vogue เป็นโปรแกรมแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สมาชิกจะมีโอกาสได้ร่วมอีเวนต์ต่างๆ ที่ Vogue จัดขึ้นเป็นพิเศษ เช่น เข้าเวิร์กช็อปที่บรรณาธิการของเล่มมาบรรยาย, รับข่าวสารก่อนใคร และยังได้ร่วมงานสัมมนา Forces of Fashion ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในนิวยอร์ก ซึ่งในปีนี้จะมี ปิแอร์เปาโล ปิกชิโอลี ดีไซเนอร์แห่ง Valentino, แคลร์ เวต เคลเลอร์ ดีไซเนอร์แห่ง Givenchy, จีจี้ ฮาดิด, เคนดัลล์ เจนเนอร์ และคริส เจนเนอร์ มาพูดคุย

 

แถมในช่วงแฟชั่นวีก สมาชิกโปรแกรม In Vogue ก็จะได้ร่วมงานและกระทบไหล่กับดีไซเนอร์แถวหน้าของวงการในปาร์ตี้ที่ Vogue จัดขึ้นเป็นประจำ และยังมีกิจกรรมกินข้าวเช้าทั้งที่ปารีสและนิวยอร์กที่เคยลองทำมาแล้ว 2 ครั้ง พร้อมแอนนา วินทัวร์ และสเตฟาโน ตองกี บรรณาธิการบริหาร W Magazine

 

แม้ยังไม่ได้ประกาศราคาค่าสมาชิกออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็จะมาแบบแพ็กเกจต่างระดับ ซึ่ง Business of Fashion รายงานว่าแพ็กเกจแพงสุดมีราคาสูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยคนที่จะมาดูแลโปรเจกต์นี้ก็คือ ริกกี้ เดอ โซล ที่ยังคงดำรงตำแหน่งแฟชั่นไดเรกเตอร์ของ W Magazine ควบคู่กับตำแหน่งใหม่ Head of Fashion Initiatives ของ Condé Nast ที่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบรรณาธิการยุคนี้ต้องเริ่มต้องทำงานหลายขาเพื่อช่วยลดต้นทุนบริษัท

 

หากวิเคราะห์แบบผิวเผิน เพราะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับ In Vogue ออกมามากนัก เรามองว่าสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากมีโอกาสเหยียบเข้ามาในวงการแฟชั่นระดับโลก โปรแกรมนี้ก็อาจเป็นทางลัดให้ได้พบเจอผู้คนที่จะช่วยเหลือได้ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ส่วนผู้ใหญ่ ไฮโซ หรือตัวแทนจากบริษัทใหญ่ก็สามารถใช้โปรแกรมนี้ในการสร้างคอนเน็กชันและเน็ตเวิร์กใหม่ๆ กับวงการแฟชั่นที่สำคัญในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์

 

แต่ในขณะเดียวกัน ทาง Condé Nast และ Vogue อเมริกา ก็ได้พยายามสร้างสรรค์หลายๆ โปรเจกต์ที่ ‘เล่นใหญ่’ ตอนประกาศ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จหรือยกเลิกไปเลยเพราะปัจจัยทางสังคมและธุรกิจ เช่น โปรเจกต์ Vs ที่จะทำร่วมกับ Vice ในช่วงต้นปีนี้ก็ยังคงเงียบกริบ ส่วนผลตอบรับเว็บไซต์ Style.com ที่ Condé Nast ตั้งใจลงทุนไปกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้เป็นเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์เบอร์ต้นๆ ก็ไม่เวิร์กตามคาด จนภายหลัง Farfetch ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือและซื้อกิจการไป

 

ความน่าสนใจของโปรเจกต์ In Vogue เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวงการสื่อแฟชั่นหัวใหญ่ฝั่งอเมริกาคงไม่สามารถอาศัยรูปแบบการทำงานเดิมๆ ได้อีกต่อไปด้วยการอยู่แต่ในโลกของตัวเองอย่างถือตัวและไม่ให้คนนอกสัมผัสได้ แต่ถ้าโปรเจกต์ประสบความสำเร็จก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะหากหัวอื่นของ Condé Nast อย่าง Vanity Fair จะทำโปรเจกต์คล้ายกัน แต่ผูกไปกับวงการฮอลลีวูด หรือ GQ อเมริกา ก็สามารถทำโปรแกรมสำหรับสุภาพบุรุษ แต่หากถามว่า Vogue ประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษภายใต้การควบคุมของ เอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล จะนำรูปแบบโปรแกรมนี้ไปทำในเวอร์ชันของตัวเองได้ไหมก็อาจจะยาก เพราะสำหรับ In Vogue ของ Vogue อเมริกา เปิดให้ใครก็ได้ทั่วโลกเป็นสมาชิก แต่ก็อาจปรับเป็นการทำงานร่วมกันมากกว่าเพื่อหารายได้เข้า Condé Nast เหมือนที่นิตยสาร Condé Nast Traveler ของอังกฤษและอเมริกาก็จะรวมทีมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อทำนิตยสารด้วยกัน โดยจะเริ่มฉบับแรกในเดือนมกราคมปีหน้า

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X