×

กลัวถูกจับได้ว่าตัวเองไม่เก่ง รู้จัก Impostor Syndrome ยิ่งสำเร็จยิ่งมีโอกาสเป็น?

14.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • Impostor Syndrome ไม่ใช่ความรู้สึกว่าเรื่องนี้ยากเกินไป เราจะทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ความกลัวที่จะล้มเหลวด้วย แต่เป็นความรู้สึกที่ว่าเอาจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีความสามารถในเรื่องนั้นแบบนั้น และมีความรู้สึกว่ากลัวคนอื่นจะ ‘จับได้’ ว่าเราไม่ได้มีความสามารถแบบนั้น
  • เมื่อ Impostor Syndrome มาเยือน สิ่งที่ต้องทำคือ 1. ‘Don’t Freeze’ อย่าเหวอจนทำอะไรไม่ถูก 2. ‘Find Your Way Out’ หาทางออกให้ได้
  • Impostor Syndrome อาจจะไม่หายไป แต่ถ้าคุณรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร มันอาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ไมค์ แคนนอน-บรูคส์ (Mike Cannon-Brookes) คือ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Atlassian ซึ่งเป็นเจ้าของ Jira และ Trello ที่คนยุคใหม่น่าจะคุ้นเคยกันดี

 

ด้วยอายุเพียง 40 ปี และมูลค่าบริษัทประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ เขาน่าจะถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากที่สุดคนหนึ่งในโลกเลยก็ว่าได้

 

ผมได้มีโอกาสฟัง TED Talks ของไมค์ ที่เขาไม่ได้มาพูดเรื่องความสำเร็จหรือเรื่องธุรกิจ แต่เขามาพูดเรื่อง Impostor Syndrome หรืออาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งจริง

 

เขาพูดว่าตัวเขาเองนั้นรู้สึก Out of His Depth อยู่ตลอดเวลา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่

 

คำว่าว่า Out of His Depth ถ้าจะแปลให้ตรงตัว น่าจะแปลว่าเกินความสามารถของตัวเองไป

 

และนี่เป็นหนึ่งคำอธิบายของ Impostor Syndrome

 

Impostor Syndrome ไม่ใช่ความรู้สึกว่าเรื่องนี้ยากเกินไป เราจะทำไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่ความกลัวที่จะล้มเหลวด้วย แต่เป็นความรู้สึกที่ว่าเอาจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีความสามารถในเรื่องนั้นแบบนั้น และมีความรู้สึกว่ากลัวคนอื่นจะ ‘จับได้’ ว่าเราไม่ได้มีความสามารถแบบนั้น

 

ไมค์ใช้คำว่ามันคือสถานการณ์ที่เรา ‘Guessed / BS out of that situation’ คือประมาณว่าไม่เดาๆ ก็ แถๆ ออกจากเรื่องนั้นไป

 

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่บริษัทของเขาได้ชนะเป็นตัวแทนประเทศออสเตรเลียไปแข่งขัน World Entrepreneur of the Year ที่มอนติคาร์โล กับตัวแทนของประเทศต่างๆ อีก 40 ประเทศ

 

ตัวเขาเองรู้สึกว่าอยู่ผิดที่ผิดทางมาก รู้สึกว่าตัวเขาเองไม่ควรมาอยู่ตรงนี้เลย

 

ระหว่างนั้นเองก็เหลือบมองไปเห็นชายวัย 65 ปี ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ไมค์ เลยชวนคุยเพื่อลดความประหม่า จนได้ความว่าชายคนนั้นเป็นตัวแทนจากประเทศโปรตุเกส

 

บริษัทที่ชายคนนั้นเป็นมีพนักงาน 30,000 และมียอดขาย 4,000 ล้านเหรียญ

 

บริษัท Atlassian ของไมค์ ตอนนั้นมีพนักงาน 70 คน ส่วนยอดขายไม่ต้องพูดถึง

 

เขารู้สึกอยู่ผิดที่ผิดทางมาก

 

เลยพูดกับชายคนนั้นว่า “ผมบอกตามตรงเลยนะครับว่าผมไม่คิดว่าผมควรจะมาอยู่ที่นี่เลย มันเกินความสามารถผมไปมาก ผมคิดว่าเดี๋ยวคงมีคนคิดเรื่องนี้ออกแล้วส่งผมขึ้นเครื่องบินกลับไปออสเตรเลีย”

 

ชายคนนั้นหันกลับมาหาไมค์ แล้วพูดเบาๆ ว่า

 

“ผมรู้สึกเหมือนคุณเป๊ะเลย ผมก็คิดว่าความสามารถผมไม่พอจะมาที่นี่เหมือนกัน”

 

ทันใดนั้น ไมค์เข้าใจเรื่องสองเรื่อง

1. คนอื่นก็เป็น Impostor Syndrome เหมือนกัน

2. ความสำเร็จไม่ได้ทำให้ Impostor Syndrome หายไป ถ้าจะว่าไปมันอาจจะยิ่งทำให้มี Impostor Syndrome มากขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งสำเร็จอาจยิ่งเป็น Impostor Syndrome มากขึ้น

 

อีกเหตุการณ์ที่สอนเขาเรื่องนี้เป็นอย่างดี คือเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานเมื่อ อีลอน มัสก์ บอกว่าเขาอาจจะมีวิธีการแก้ปัญหาไฟดับเรื้อรังทางตอนใต้ของออสเตรเลียได้

 

ไมค์อ่านทวีตแล้วก็เขียนตอบไปหลายข้อความอยู่ประมาณว่า “ทำได้จริงๆ เหรอ”

 

อีลอน มัสก์ ตอบทวีตของไมค์ บอกว่า “I’m dead serious” คือ ทำได้จริง และยังบอกอีกว่าเขาสามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 100 Megawatt-Hour ภายใน 100 วันแล้วปัญหานี้จะถูกแก้แน่นอน

 

ถ้าทำจริงๆ การติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เท่านี้จะเป็นหนึ่งในการติดตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

วันรุ่งขึ้นสื่อทุกสื่อจากทั่วโลกติดต่อหาไมค์ เพื่อต้องการความเห็นจาก ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ด้านพลังงานจากเขา

 

เขาบอกว่าตัวเขาเองยังแยกไม่ออกระหว่างแบตเตอรี่ที่ใส่ของเล่นลูก กับแบตเตอรี่ที่ อีลอน มัสก์ พูดถึงเลยว่ามันต่างกันอย่างไร

 

นี่คือ Imposter Syndrome ของแท้เลย

 

แต่แทนที่เขาจะถอย เขาเลือกที่จะหาความรู้ หาข้อมูล จนในที่สุดโครงการนี้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังส่งผลต่อร่างกฎหมายเรื่องพลังงานทดแทนในรัฐสภาของออสเตรเลียด้วย

 

จากที่ไม่รู้อะไรเลย เขากลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้โครงการใหญ่ระดับประเทศเกิดขึ้นจริงได้ และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนจริงๆ

 

สิ่งที่ไมค์อยากจะบอกพวกเราคือ เมื่อ Impostor Syndrome มาเยือน สิ่งที่ต้องทำคือ

1. ‘Don’t Freeze’ อย่าเหวอจนทำอะไรไม่ถูก

2. ‘Find Your Way Out’ หาทางออกให้ได้

 

Impostor Syndrome อาจจะไม่หายไป แต่ถ้าคุณรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร มันอาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิดก็ได้

 

บทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่มีค่ากับผมมากครับ

 

เหมือนที่ เจนนิเฟอร์ โลเปซ เคยกล่าวไว้ว่า

 

“Even though I had sold 70 million albums, there I was feeling like ‘I’m no good at this.’”

 

“ถึงฉันจะขายเพลงไป 70 ล้านอัลบั้มแล้ว ฉันก็ยังมีความรู้สึกว่าฉันร้องเพลงไม่เก่งอยู่ดี”

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising