×

‘วิกฤตอาหาร’ กระทบถ้วนหน้า ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิด แม้ราคาขายจะสูงขึ้น

06.06.2022
  • LOADING...
วิกฤตอาหาร

ประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในวิกฤตสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้ หลังจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ หนุนให้ราคาของสินค้าต่างๆ รวมถึงอาหารปรับตัวขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักไป ทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร และหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางอย่างเริ่มออกมาตรการจำกัดการส่งออก 


สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออก ในด้านหนึ่งอาจจะได้ผลบวกจากราคาขายที่เพิ่มขึ้น แต่ผลบวกที่ว่านี้ก็อาจจะถูกชดเชยไปด้วยแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

 

“วิกฤตอาหาร ผลกระทบสุทธิอย่างไรก็เป็นลบ หากจะมองเป็นบวก ต้องไปดูผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สามารถทดแทนสินค้าเกษตรหลักของรัสเซียที่ส่งออกไปยุโรป แต่ถูกคว่ำบาตรอยู่ตอนนี้ ซึ่งสินค้าที่ชัดเจนที่สุดคือ ข้าวสาลี หรือน้ำมันทานตะวัน แต่ทั้งสองตัวนี้ก็ไม่ใช่สินค้าเกษตรหลักของไทย” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าว

 

ปุ๋ยแพงสะเทือนผู้เพาะปลูก จับตาค่าครองชีพพุ่ง

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า หากจะมองผลบวกโดยอ้อมในกรณีที่เกิดวิกฤตอาหารในทุกๆ สินค้า ผู้ผลิตอาหารของไทยอาจจะได้อานิสงส์ทางอ้อมในแง่ของราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของปริมาณเป็นสิ่งที่อาจจะลดลงได้ 

 

“หากวิกฤตอาหารขยายตัวไปสู่สินค้าเกษตรอื่นๆ ผู้ที่จะได้ประโยชน์หลักต้องเป็นธุรกิจต้นน้ำ เช่น ผู้เพาะปลูก แต่ผู้ปลูกเองก็ถูกกระทบจากราคาปุ๋ยเช่นกัน ทำให้ผลบวกจะถูกลดทอนลงไป” 

 

ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ที่นำอาหารมาแปรรูป ซึ่งมีจำนวนมากในไทย ผู้ผลิตลักษณะนี้จะถูกกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาผู้ผลิตเหล่านี้พยายามจะอั้นราคาสินค้าไว้ และเริ่มถึงจุดที่รับไว้ไม่ไหวก่อนจะส่งผ่านมายังผู้บริโภค ทำให้ครึ่งปีหลังเราน่าจะเห็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

ในมุมของการลงทุน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะได้ประโยชน์บ้างจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังและน่าเป็นห่วงคือ การพุ่งขึ้นของราคาไม่ใช่ขาแรกของการปรับขึ้น 

 

“ถ้าเป็นรอบแรกที่ราคาขึ้นอาจถือได้ยาวหน่อย แต่ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะหากปัญหาส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจทำให้ชะลอหรือถดถอย มันจะกลายเป็นจุดกลับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะดีมานด์จะลดลง ซึ่งจะคล้ายกับปี 2008 เมื่อคนเริ่มกังวลต่อเศรษฐกิจ ก็ทำให้ราคาน้ำมันหักหัวลงกลายเป็นรูปตัว V คว่ำ”

 

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเข้าเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นโภคภัณฑ์ กลุ่มสินค้าเกษตรต้นน้ำ เช่น ปาล์ม น้ำตาล ถั่วเหลือง น่าจะได้ประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มอาหารที่นำสินค้ามาแปรรูปน่าจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่กลุ่มอาหารที่เป็นผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ อาจจะได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น

 

ส่วนผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มอื่นๆ หากมองเรื่องวิกฤตอาหารเป็นปัจจัยใหญ่ ธุรกิจที่อิงกับการบริโภคในประเทศจะถูกกระทบ เพราะเงินที่เหลือหลังจากการบริโภคสินค้าจำเป็นจะน้อยลง 

 

ภาคการผลิตส่อโดนผลกระทบจากอุปทานที่หายไป

ด้าน เบญจพล สุทธิ์วนิชย์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินว่า วิกฤตอาหารอาจจะส่งผลบวกต่อหุ้นไทยอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างจะเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละประเภท ในภาพใหญ่ไทยอาจจะได้เปรียบประเทศอื่นที่จำกัดการส่งออกในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอุปทานที่หายไปจะกระทบต่อการผลิต 

 

หากอุปทานที่หายไปลากยาว ผู้ผลิตอาหารอาจได้รับผลกระทบแทน เพราะปริมาณการผลิตก็อาจจะลดลงตามไปด้วย และความเสี่ยงที่ต้องจับตาเช่นกันคือ นโยบายรัฐ เพราะหากอาหารไม่พอก็อาจจะเห็นการจำกัดการส่งออกได้เช่นกัน

 

“ขณะนี้ยังประเมินค่อนข้างยากว่าผลกระทบจะยาวนานแค่ไหน แต่โดยมากแล้วรอบการนำเข้า-ส่งออกจะอยู่ที่ราว 3 เดือน จึงประเมินว่านับจากเดือนพฤษภาคมที่เริ่มเกิดวิกฤตอาหาร ช่วง 3 เดือนแรก ผู้ผลิตจะได้ผลบวก แต่หลังจากนั้นน่าจะกลายเป็นผลลบแทน” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X