จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ช่วงเช้าวันนี้ (17 พฤศจิกายน) เกิดขึ้นที่ระดับความลึกประมาณ 9 กิโลเมตร ในประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งจุดที่เกิดแผ่นดินไหวมีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน
กระทบหลายจังหวัดในภาคเหนือ และ กทม.
แผ่นดินไหวดังกล่าวจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้น จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน น่าน และกรุงเทพฯ
ผลกระทบจากแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างอาคาร
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้อธิบายถึงผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร โดยแบ่งเป็น 1. พื้นที่ในภาคเหนือ และ 2. กรุงเทพฯ
สำหรับจังหวัดในภาคเหนือ เนื่องจากระยะทางจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวถึงจังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าห่างกันพอสมควร แต่ก็ทำให้อาคารเกิดการสั่นไหว และเกิดการแตกร้าวหรือการหลุดร่อนของผนังปูนฉาบในอาคารบางหลังได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้อาคารถล่มลงมาทั้งหลังได้ ทั้งนี้ อาคารในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มอาคารเตี้ยถึงสูงปานกลาง เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความถี่สูง และจากสภาพพื้นที่เป็นชั้นดินทรายหรือดินแข็ง จึงกระตุ้นให้อาคารกลุ่มนี้สั่นไหวได้มากกว่าอาคารสูงในบริเวณเดียวกัน
ศ.ดร.อมร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับกรุงเทพฯ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 900-1,000 กิโลเมตร แต่อาคารหลายแห่งก็สั่นสะเทือนได้เช่นกัน เนื่องจากสภาพชั้นดินของกรุงเทพฯ ที่เป็นดินอ่อน จึงสามารถขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากระยะไกลได้ และส่งผลกระทบต่ออาคารสูงตั้งแต่ 5-6 ชั้นเรื่อยไปจนถึงอาคารสูงหลายสิบชั้น แต่เชื่อว่าด้วยระยะทางที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรจะไม่ส่งผลกระทบให้โครงสร้างหลักของอาคารในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้
43 จังหวัด มีกฎกระทรวงกำหนดให้อาคารต้านแรงแผ่นดินไหว
“ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ” ศ.ดร.อมร กล่าว
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ก็ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ได้ และไม่ว่าจะเกิดจากรอยเลื่อนในประเทศหรือนอกประเทศก็ตาม
ทั้งนี้ มาตรการในการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดคือการทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เนื่องจากแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้
ภาพ: กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา