×

‘IMF’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าเหลือ 2.7% พร้อมเตือนสถานการณ์ ‘เลวร้ายสุด’ กำลังรออยู่ข้างหน้า

12.10.2022
  • LOADING...
IMF

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จากเดิมที่ระดับ 2.9% มาอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมเตือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะทำให้หลายล้านชีวิตต้องเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรง 

 

รายงานของ IMF ยังระบุอีกว่า แนวโน้มคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 จะเป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2001 นอกจากวิกฤตการเงินโลกและปัญหาการระบาดอย่างหนักของโควิด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกปี 2022 จะยังคงเดิมที่ 3.2% ซึ่งลดลงจาก GDP ในปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 6%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


“ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า” แถลงการณ์ของ IMF ระบุ ซึ่งสอดคล้องกับคำเตือนขององค์การสหประชาชาติ (UN), World Bank และบรรดาซีอีโอระดับโลกก่อนหน้านี้ 

 

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศต่างๆ จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า คือมีการเติบโตลดลง 2 ไตรมาสต่อเนื่องกัน ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน จะชะลอตัวลง

 

Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC ว่า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเจ็บปวดในปีนี้ หลายประเทศจะเผชิญกับการชะลอตัว โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา

 

สรุปได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนักเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และประเทศหลักๆ ในยุโรป รวมทั้งสงครามในยูเครนที่ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 8 ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้และปีหน้า

 

รายงานระบุว่า สงครามในยูเครนยังคง “ทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกอย่างหนักหน่วง” ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานที่ “รุนแรง” ในยุโรป รวมถึงยังทำลายยูเครนเองด้วย

 

ราคาของก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตั้งแต่ปี 2021 เนื่องจากขณะนี้รัสเซียส่งมอบก๊าซน้อยกว่า 20% ของปี 2021 ส่วนราคาอาหารก็ถีบตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งดังกล่าว

 

IMF คาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกจะแตะจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ โดยแตะระดับ 8.8% จากระดับ 4.7% ในปี 2021 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.5% ในปี 2023 และแตะ 4.1% ในปี 2024 โดย IMF มองว่าส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อที่ปรับลด เป็นผลจากความเข้มงวดของนโยบายการเงินทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และ “การแข็งค่าอย่างแข็งแกร่ง” ของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน นโยบาย Zero-COVID ของจีนและผลลัพธ์จากการล็อกดาวน์ จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจประเทศ ยังคงน่าเป็นห่วงจากปัญหาหนี้และสภาพคล่อง 

 

ทั้งนี้ IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้สู่ระดับ 1.6% และปีหน้าลดลง 1% โดยได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

ขณะเดียวกัน IMF ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้สู่ระดับ 3.2% และปีหน้า 4.4% เนื่องจากถูกกระทบจากการใช้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเข้มงวด และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

สำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบในปี 2023 จะเป็นการ “เปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจที่เพิ่งจะรักษาได้เพียงบางส่วน หลังการระบาดใหญ่ของโควิด”

 

ด้านเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจะเพิ่มขึ้น 0.5% ในปีนี้ สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเพราะสงครามในยูเครน

 

Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการ IMF กล่าวในระหว่างการประชุมประจำปีระหว่าง IMF กับ World Bank ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม) ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่สดใสและมีสัญญาณถดถอยชัด และสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับภาวะเปราะบาง ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนองที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว ทำให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับ “สภาพแวดล้อมที่ท้าทายเสถียรภาพทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ซึ่ง “อาจทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องของตลาด การเทขายอย่างรุนแรง หรือภาวะซบเซา”

 

ด้าน Axel van Trotsenburg กรรมการผู้จัดการ World Bank กล่าวสนับสนุนรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF โดยเน้นไปถึงแนวโน้มความยากจนขั้นสุด (Extreme Poverty) จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 47% ของประชากรโลกทั้งหมดจะเข้าสู่ภาวะยากจน คือมีรายได้ต่ำกว่า 7 ดอลลาร์สหรัฐ 

 

ด้านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ออกโรงเตือนว่า บรรดาประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สินขั้นรุนแรง เช่นเดียวกับที่สถาบันและมูลนิธิต่างๆ เคยออกมาเตือนไปแล้วก่อนหน้านี้

 

ในรายงานฉบับใหม่ UNDP คาดการณ์ว่า 54 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรที่ยากจนที่สุดในโลก เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน ชาด เอธิโอเปีย และแซมเบีย จำเป็นต้องได้รับการผ่อนปรนการชำระหนี้ทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาวะยากจนที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก และเปิดโอกาสให้ประเทศยากจนได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

Achim Steiner ผู้บริหารสูงสุดของ UNDP ได้เรียกร้องให้มีการออกมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการตัดหนี้สูญ มอบความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเพิ่มเงื่อนไขพิเศษในสัญญาพันธบัตรรัฐบาลเพื่อบรรเทาวิกฤต โดยเจ้าตัวย้ำว่า แต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการและหาวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่สถานการณ์จะยากเกินแก้ หรืออาจแก้ไม่ได้เลย

 

IMF ย้ำว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางจากความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากการประเมินสถานการณ์ที่คลาดเคลื่อน โดยที่ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณตึงเครียดอย่างหนักในเวลานี้ 

 

รายงานของ IMF ฉบับล่าสุดได้รับการเปิดเผยในช่วงเวลาที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันถกเถียงว่า Fed จะตอบสนองต่อเงินเฟ้อได้เร็วพอดีหรือไม่ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 และธนาคารกลางอังกฤษต้องประกาศมาตรการเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ และรับมือกับการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ไม่ต้องการ โดย IMF แนะว่า อังกฤษจำเป็นต้องปรับแผนนโยบายการเงินครั้งใหญ่เพื่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง 

 

ในส่วนของสถานการณ์โดยรวมในยุโรป IMF เตือนว่าฤดูหนาวปีนี้เป็นฤดูกาลที่ท้าทาย แต่ฤดูหนาวปีหน้าจะเลวร้ายยิ่งกว่า โดยวิกฤตพลังงานจะกดดันเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างหนัก เนื่องจากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ปัญหาพลังงานกลายเป็นปัญหาถาวรเรื้อรัง 

 

ขณะที่ทางด้าน Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan Chase ให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC ว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปีหน้าเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วในขณะนี้ ซึ่งในส่วนของวิกฤตพลังงาน Dimon ระบุชัดว่า สหรัฐฯ ควรจะผลิตน้ำมันและก๊าซมากขึ้น

 

“สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีบทบาทเป็นผู้นำอย่างแท้จริง สหรัฐฯ คือ Swing Producer ไม่ใช่ซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น สหรัฐฯ จึงควรจะได้รับสิทธิ์ในการผลิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา” 

 

ด้าน Mateusz Morawiecki นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวว่า ปัญหาด้านพลังงานในปัจจุบันของยุโรปคือ “ผลที่ตามมาของนโยบายที่ผิดพลาด นโยบายหายนะซึ่งนำโดยเยอรมนี” และชี้ว่าการขาดแคลนก๊าซที่ทำให้ราคาก๊าซและไฟฟ้าแพงทั่วยุโรปคือราคาที่ต้องจ่ายที่แท้จริง ซึ่งมาจากข้อตกลงระหว่างเยอรมนีและรัสเซีย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising