×

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจโลก แต่เตือน ‘เงินเฟ้อ’ ยังคงเป็นปัญหาเบอร์หนึ่ง

26.07.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 กรกฎาคม) ซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 สู่ระดับ 3% จากการคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายนที่ระดับ 2.8% และคงอัตราคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตในปี 2024 ไว้เท่าเดิมที่ 3%

 

IMF ให้เหตุผลว่า การปรับเพิ่มตัวเลขแนวโน้มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคิดไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม IMF ก็เตือนว่า แม้ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างจะทุเลาเบาบางลง แต่ก็ยังมีความผันผวนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้รออยู่ข้างหน้า โดยมีปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกพึงต้องระวัง 

 

Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับการพิสูจน์แล้วว่าฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งนำไปสู่การปรับขึ้นเล็กน้อยสำหรับการเติบโตทั่วโลกในปี 2023 แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีตที่ผ่านมา การเติบโตทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอและค่อนข้างเปราะบาง 

 

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา IMF ตัดสินใจปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจโลกลง 1 ใน 10 เหลือ 2.8% เนื่องจากปัจจัยความปั่นป่วนในภาคการธนาคาร และความไม่สบายใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับตลาดที่อาจผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ เอาแน่เอานอนไม่ได้

 

แต่ผ่านไป 3 เดือน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเดือนกรกฎาคมกลับแสดงให้เห็นสัญญาณทางบวกของการเติบโตเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ของโควิดที่ไม่ถือเป็นวิกฤตสุขภาพโลกอีกต่อไป ห่วงโซ่อุปทานสามารถส่งต่อถึงกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงทรงตัวท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

 

IMF ชี้ว่า การแก้ปัญหาเพดานหนี้และการดำเนินการอย่างรวดเร็วของหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อระงับวิกฤตการธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรปช่วยสกัดกั้นความเสี่ยงของวิกฤตการเงินในวงกว้าง กระนั้น IMF ก็เตือนว่า ความสมดุลของความเสี่ยงต่อการเติบโตทั่วโลกยังคงเอียงไปที่ด้านลบ

 

Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF อธิบายว่า อัตราเงินเฟ้ออาจยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างดื้อดึงหรือมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น จากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้อาจทำให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและนำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินอีกครั้งอย่างอาจหลีกเลี่ยงได้ 

 

นอกจากนี้ การคาดการณ์การเติบโตในปัจจุบันที่ 3% ยังคงต่ำกว่ามาตรฐานการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เคยบันทึกไว้ โดยก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาดรุนแรง การเติบโตของเศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2000-2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ต่อปี ขณะที่การเติบโตในปี 2022 ล่าสุดอยู่ที่ 3.5%

 

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทำการเฉลิมฉลองใดๆ เพราะยังคงมีความท้าทายอีกมากรออยู่ข้างหน้า 

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเติบโตแบบรายประเทศ ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยังคงเติบโตในอัตราชะลอตัว โดย IMF คาดการณ์ว่าในปี 2023 นี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการขยายตัว 1.8% และขยายได้ 1% ในปีหน้า ส่วนสหราชอาณาจักรเติบโต 0.4% และยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมนียังคงชะลอตัว คือมีการหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3%

 

ขณะเดียวกัน เมื่อมองภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก IMF ยังคงมองเห็นความกังวลด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนที่อาจฟื้นตัวช้าลงอีก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระหนี้สินกดดันการเติบโต โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัว 5.2% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.5% ในปีหน้า

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่น่ากังวลของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ยังหมายรวมถึงการแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อุดมคติทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากโลกาภิวัตน์ และหันไปใช้แนวทางชาตินิยมและแตกหักมากขึ้น จนอาจขัดขวางการค้า การเคลื่อนย้ายเงินและผู้คนข้ามพรมแดน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 

 

ถึงกระนั้น Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ชี้ว่า ลำดับความสำคัญที่น่าวิตกมากที่สุดและต้องเร่งจัดการเป็นอันดับแรกก็คือการเอาชนะเงินเฟ้อ 

 

โดย Gourinchas ชี้ว่า เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดจนกว่าจะมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดความร้อนแรงลง พร้อมชี้ว่าในหลายประเทศ นโยบายการคลังควรเข้มงวดขึ้นเพื่อสร้างกันชนทางการคลังขึ้นใหม่ และเสริมความน่าเชื่อถือโดยรวมด้วยองค์ประกอบของการปรับเปลี่ยนการคลังให้ยืดหยุ่นพอเพื่อให้มั่นใจว่าได้ให้การสนับสนุนที่ตรงเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้เปราะบางที่สุด นอกจากนี้ การปรับปรุงด้านอุปทานของเศรษฐกิจจะช่วยอำนวยความสะดวกในการรวมงบการเงินและการลดลงของอัตราเงินเฟ้อเพื่อไปสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างราบรื่นมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ IMF คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะชะลอตัวสู่ระดับ 6.8% ในปีนี้ หลังจากแตะระดับ 8.7% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.0% ในปีนี้ หลังจากแตะระดับ 6.5% ในปีที่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน IMF ปิดท้ายว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกในด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศ การค้าระหว่างประเทศ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อจัดการกับความท้าทายทั่วไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X