แอนน์-มาเรีย กอล์ด-วูล์ฟ (Anne-Marie Gulde-Wolf) รักษาการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออกโรงเตือนบรรดานานาประเทศในภูมิภาคให้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากปัญหาสงครามยูเครน และการระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีน ที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของเอเชียหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น
กอล์ด-วูล์ฟกล่าวว่า ปัจจัยปัญหาทั้งสองประการข้างต้นกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนต่อการฟื้นตัวและเติบโตของเอเชีย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ IMF จะตัดลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียโดยรวมลงจาก 5.4 เปอร์เซ็นต์ในการคาดการณ์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเติบโตของจีน พี่ใหญ่ของภูมิภาค ลดลงจาก 4.8 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลสำหรับหลายชาติทั่วเอเชียก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันของสินค้าราคาแพง ยกเว้นประเทศจีน ที่ทางผู้แทนจาก IMF ยอมรับว่ามีนโยบายทั้งทางการเงินและคลังที่ดีมากมายเพียงพอที่จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกันชาติในเอเชียยังเจอแรงกดดันจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่หันมารัดเข็มขัดมากขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจก่อกระแสทุนไหลออกจากภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวม กอล์ด-วูล์ฟยอมรับว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียค่อนข้างรับมือกับสถานการณ์ได้ดี และมีการเตรียมพร้อมมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเงินสำรองคงคลังที่อยู่ในระดับดี รวมถึงมีกรอบนโยบายการเงินที่ชัดเจนและรัดกุม ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจของชาติเอเชียจึงค่อนข้างเป็นไปในทางบวก
กระนั้นในส่วนของความท้าทายของชาติในเอเชียก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สาธารณะ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับแรงกดดันของอัตราแลกเปลี่ยน ที่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย
วันเดียวกันมีรายงานจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้จะมีสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนยังสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้
เดเรก ซิสเซอร์ส (Derek Scissors) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัย China Beige Book กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับภาวะติดขัดและอุปสรรคขัดขวางมากมาย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาที่ต้องวิตกแต่อย่างใด เพราะอยู่ในระดับที่จีนรับมือไหว
ขณะที่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง เศรษฐกิจจีนไม่ถือว่าดีสักเท่าไรนัก แต่ก็อยู่ในสภาพที่สามารถทนได้ สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญไว้ลำดับแรกสุดก็คือ การจัดการโควิด เพราะหากมีการระบาดถึงคนรากหญ้า คนกลุ่มนี้ก็ไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้แน่นอน
ริชาร์ด เยตเซนกา (Richard Yetsenga) นักวิเคราะห์ของ ANZ กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนสามารถจัดการกับโควิดได้อยู่หมัด เศรษฐกิจจีนโดยรวมย่อมสามารถกลับมาแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพได้
ด้าน วินนี วู (Winnie Wu) นักกลยุทธ์หลักทรัพย์จีนของ Bank of America Securities กล่าวว่า ปัจจัยท้าทายของจีนขณะนี้มี 3 ประการด้วยกัน หนึ่งคือการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่จะต้องไม่กระทบต่อการคมนาคมขนส่ง สองคือความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงเรื่อยๆ และสุดท้ายคือการส่งออกจีนที่หลายโรงงานผลิตกำลังเผชิญกับปัญหาด้านซัพพลายเชนอยู่ในเวลานี้
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/04/20/richard-branson-people-should-cut-energy-use-to-stop-ukraine-war.html
- https://www.bbc.com/news/business-61164894
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP