Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (11 เมษายน) ว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และอาจกลายเป็นความวิตก หากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน แต่เธอคิดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะดำเนินการได้อย่างรอบคอบ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Georgieva กล่าวในการประชุมที่จัดโดยสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ร้อนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
“อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประเทศอื่นๆ ในโลก โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้สหรัฐฯ มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น ดังนั้นกระแสเงินจึงไหลไปที่นั่น และทำให้ประเทศอื่นๆ ของโลกเผชิญความยากลำบาก”
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นด้วย และทำให้สกุลเงินของประเทศอื่นๆ อ่อนค่าลง และหากภาวะดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในระยะยาว ก็อาจกลายเป็นความวิตกในแง่ของเสถียรภาพทางการเงิน
ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมที่เผยแพร่เมื่อวันพุธมีความแข็งแกร่งอย่างไม่คาดคิด ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปัจจุบันในช่วงปลายปีนี้
ขณะที่รายงานการประชุมจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เผยให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่กังวลว่าความคืบหน้าเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้ออาจหยุดชะงัก และจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเป็นระยะเวลานานขึ้น เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีหลังจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ยังจะทำให้ตลาดคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลง
และสำหรับนักลงทุนที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ตอนนี้เริ่มมองว่าเดือนกันยายนเป็นจังหวะที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการเริ่มต้นนโยบายดอกเบี้ยขาลงของ Fed หลังจากที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน
Georgieva กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีนวัตกรรมมากขึ้น โดยเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็ทรงตัวได้ดีเช่นกัน โดยอุปทานแรงงานได้รับแรงหนุนจากการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งจะช่วยรักษาการเติบโตของค่าจ้างให้อยู่ภายใต้การควบคุม
อ้างอิง: