×

IMF แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อหนุนเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งรัฐบาลไทยให้รัดเข็มขัดทางการคลัง

29.11.2024
  • LOADING...

IMF แนะแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งรัฐบาลรัดเข็มขัดการคลังอย่างจริงจัง และให้พิจารณาเรื่องการแจกเงินหมื่นอีกครั้ง คาด GDP ไทยปีนี้-ปีหน้าโตไม่ถึง 3% โดยจะขยายตัว 2.7% และ 2.9% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ

 

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ยินดีกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในเดือนตุลาคม พร้อมแนะว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง (A further reduction in the policy rate) จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น

 

โดย IMF มองว่า ปัจจุบันมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะเกิดการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

 

เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนที่ยังสูงและความเสี่ยง 2 ด้านต่ออัตราเงินเฟ้อ IMF จึงแนะนำให้ทางการเตรียมพร้อมที่จะปรับจุดยืนนโยบายการเงิน โดยใช้หลักพิจารณาจากข้อมูลและแนวโน้ม (Data and Outlook-dependent Manner)

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีกำหนดที่จะแถลงผลประชุมเรื่องการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

 

ไทยต้องรัดเข็มขัดการคลังอย่างจริงจัง แนะคิดใหม่มาตรการแจกเงินหมื่น

 

IMF แนะนำให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ‘น้อยลง’ (Less Expansionary Fiscal Stance) กว่าที่วางแผนไว้ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณ

 

หรืออีกทางหนึ่ง IMF แนะว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณที่จะใช้ในโครงการแจกเงิน (Cash Transfers) อย่างน้อยในบางส่วนไปลงทุนเพิ่มผลผลิตหรือการปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม เพื่อช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ด้วย

 

IMF แนะอีกว่า เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2025 เป็นต้นไป รัฐบาลจำเป็นต้องปรับสมดุลทางการคลังในระยะกลาง (Medium-term Fiscal Consolidation) เพื่อลดหนี้สาธารณะและสร้างพื้นที่การคลังสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ เช่น ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

คาด GDP ไทยปีนี้-ปีหน้าโตไม่ถึง 3%

 

IMF ประเมินว่า การฟื้นตัวตามวัฏจักรของเศรษฐกิจไทยจะยังคงดำเนินต่อไป โดยคาดการณ์ว่า GDP ไทยจะขยายตัว 2.7% และ 2.9% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ

 

โดยปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางแผนไว้ และการลงทุนภาครัฐ (Public Investment) ที่จะเพิ่มขึ้นตามแผนงบประมาณปี 2025 นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

ขณะที่ยังคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายทุนของภาครัฐและการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม IMF ระบุว่า การคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนี้

 

ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ หนี้ภาคเอกชน (Private Sector Debt) ที่สูงเกินอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการผิดนัดชำระหนี้และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ส่งผลให้อุปทานสินเชื่อลดลงและส่งผลกระทบต่อการเติบโตในทางลบ

 

ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น หรือความไม่แน่นอนด้านการค้าที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้การเติบโตทั่วโลกและในภูมิภาคชะลอตัวลง ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกของไทยหยุดชะงัก และการไหลเข้าของ FDI ลดลง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั้งในระดับโลกและในประเทศ และอาจส่งผลให้สภาพการเงินทั่วโลกตึงตัวเป็นเวลานานขึ้น

 

เงินเฟ้อน่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านลบ

 

IMF ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นและกลับสู่เป้าหมายที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก โดยมีความเสี่ยงที่เอียงไปทางด้านลบมากกว่า

 

เปิดเช็กลิสต์การปฏิรูปเศรษฐกิจไทย

 

IMF ทิ้งท้ายว่า ไทยจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างอย่างครอบคลุมและประสานงานกัน เพื่อพลิกกลับแนวโน้มการเติบโตตามศักยภาพที่ลดลง (To reverse the downward trend in potential growth)

 

โดยประเด็นสำคัญของการปฏิรูป ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการแข่งขันและการเปิดกว้างทางการแข่งขัน, การเพิ่มความซับซ้อนด้านการส่งออก (Export Sophistication) โดยใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล, การยกระดับทักษะและทักษะใหม่ของกำลังแรงงาน, การเปิดเสรีภาคบริการ, การเสริมสร้างธรรมาภิบาล รวมถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและไอซีที ก็จะเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มผลผลิตและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ เพิ่มการลงทุนภาคเอกชน และปรับปรุงผลลัพธ์ทางสังคม ในเวลาเดียวกัน การเพิ่มการคุ้มครองทางสังคมอาจช่วยให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสามารถรับมือกับแรงกระแทกได้ดีขึ้นและจัดการกับปัจจัยที่ขับเคลื่อนการสะสมหนี้ครัวเรือน นโยบายเหล่านี้รวมกันจะสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงอำนวยความสะดวกในการปรับสมดุลภายนอก (Facilitate External Rebalancing)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X