×

IMF ออกโรงเตือนรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ ทบทวนแผนหั่นภาษี หวั่นซ้ำเติมค่าครองชีพ

28.09.2022
  • LOADING...
IMF

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงเตือนรัฐบาลอังกฤษให้พิจารณาทบทวนแผนการปรับลดภาษีชุดใหม่ เนื่องจากเกรงว่ามาตรการดังกล่าวจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาวิกฤตค่าครองชีพที่แพงลิ่วของคนในประเทศ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

 

เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษรายงานว่า ในแถลงการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งนี้ ทาง IMF กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า แผนตัดลดภาษีนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันและเพิ่มแรงกดดันที่ผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตลาดก็ส่งสัญญาณเตือนเช่นกัน เห็นได้จากค่าเงินปอนด์ที่ดิ่งลงหนักทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า เข้าใจถึงแผนดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษที่มุ่งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลดภาษี แต่การดำเนินการครั้งนี้อาจเพิ่มอัตราเงินเฟ้อซึ่งธนาคารกลางอังกฤษพยายามอย่างหนักที่จะลดระดับอัตราเงินเฟ้อลง

 

ดาร์ชินี เดวิด นักวิเคราะห์ด้านการค้าโลกกล่าวว่า คำเตือนของ IMF ครั้งนี้ ถือเป็นคำเตือนที่เฉียบขาดเป็นพิเศษ ซึ่งบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณขนาด 4.5 หมื่นล้านปอนด์ของรัฐบาลอังกฤษอาจเสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังอาจเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในหมู่ประชาชนด้วย 

 

เดวิดยังได้อ้างถึงผลการศึกษาในปี 2020 โดยนักวิชาการของ London School of Economics ที่ได้ตรวจสอบผลกระทบของนโยบายตัดลดภาษีในประเทศที่ร่ำรวยในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา พบว่านโยบายดังกล่าวล้มเหลวในการส่งเสริมการเติบโตหรือการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ แถมยังมีแนวโน้มที่จะขยายช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้กว้างมากขึ้น 

 

ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในอังกฤษ ระบุว่าแถลงการณ์เตือนจาก IMF ครั้งนี้น่าจะเป็นการลั่นระฆังเตือนรัฐบาล ให้พิจารณาหาแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงแผนการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีบังคับใช้มาตรการตัดลดภาษีตามที่รัฐบาลเสนอมา

 

วันเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า เตรียมจัดหาเงินทุนอย่างน้อย 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนอาหารในภูมิภาคเอเชีย และเสริมแกร่งความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว

 

ทั้งนี้ มาสึงุ อาซากาวะ ประธาน ADB เปิดเผยระหว่างประชุมประจำปีครั้งที่ 55 ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ว่าเป้าหมายของการระดมทุนที่ครอบคลุมระหว่างปี 2022-2025 นี้ มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุนส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคเอเชีย หลังมีรายงานพบว่า ขณะนี้มีประชากรเอเชียมากกว่า 1.1 พันล้านคนต้องดิ้นรนกับวิกฤตค่าครองชีพ หลังราคาอาหารและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาวะความยากจนรุนแรงมากขึ้น 

 

สำหรับแนวทางการจัดหาเงินทุนครั้งนี้ ทาง ADB ระบุว่า จะเกิดจากการนำรายได้ส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของชาติสมาชิกของ ADB ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุนจากภาคเอกชน 

 

ภายใต้แผนดังกล่าว ADB ได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเกษตร และการจัดหาอาหารเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดย ADB ย้ำว่า เงินทุนจะนำไปใช้สนับสนุนในโครงการทั้งที่มีอยู่แล้วและโครงการใหม่ ซึ่งครอบคลุมด้านการเกษตร การผลิตและการแจกจ่ายอาหาร การจัดการทรัพยากรน้ำ และการสนับสนุนทางสังคมต่างๆ 

 

อาซากาวะ ประธาน ADB กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้เป็นการตอบสนองที่ทันท่วงทีและจำเป็นเร่งด่วนต่อวิกฤตที่ทำให้ครอบครัวที่ยากจนจำนวนมากในเอเชียต้องอดอยากและอยู่ในภาวะความยากจนที่หนักหนาสาหัสมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ อาซากาวะยังได้กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่ค่อยสดใสสักเท่าไรนัก เนื่องจากเผชิญสารพัดความท้าทาย ตั้งแต่ปัญหาขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศร่ำรวยที่เข้มงวดมากขึ้น การเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลางทั่วโลก และค่าเงินอ่อนค่าของหลายสกุลเงินในเอเชีย 

 

ทั้งนี้ ภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้น ทาง ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคเอเชียในปีนี้จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนที่ 5.2% มาอยู่ที่ 4.3% ขณะที่แนวโน้มการเติบโตในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4.9% 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising