×

IMF แนะ ธปท. ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ช่วยลูกหนี้-หนุนเงินเฟ้อเข้ากรอบ ย้ำรัฐทบทวนแจกเงิน

21.02.2025
  • LOADING...
imf-rate-cut-advice

IMF มองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงดำเนินต่อไป ‘แต่ค่อนข้างช้าและไม่สม่ำเสมอ’ แนะ ธปท. ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง เพื่อช่วยลูกหนี้และหนุนเงินเฟ้อเข้ากรอบ ก่อน กนง. ประชุมสัปดาห์หน้า (26 กุมภาพันธ์) พร้อมแนะรัฐบาลทบทวนโครงการ ‘แจกเงินหมื่น’ อีกครั้ง ชี้ควรไปลงทุน-เพิ่มการคุ้มครองทางสังคมแทนย้ำ

 

วานนี้ (20 กุมภาพันธ์) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผย IMF Executive Board Concludes 2024 Article IV Consultation with Thailand โดยระบุว่า หลังจากเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ประเทศไทยพบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงดำเนินต่อไป ‘แต่ค่อนข้างช้าและไม่สม่ำเสมอ’ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวโดยพอประมาณในปี 2567 ซึ่งขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขณะที่กระบวนการงบประมาณที่ล่าช้าทำให้การลงทุนของภาครัฐชะลอตัว 

 

IMF ระบุอีกว่า การฟื้นตัวของไทยที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นผลมาจากจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่มีมายาวนานของประเทศไทย ขณะที่แรงต้านภายนอกและภายในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ยังส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ลดลงอีกด้วย ขณะที่แนวโน้มทางเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก พร้อมความเสี่ยงด้านลบสำคัญ

 

ย้ำคลังทบทวนการแจกเงิน เร่งรัดเข็มขัด เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งขึ้น

 

IMF ยังแนะด้วยว่านโยบายการคลังควรเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ทางการคลังใหม่ (Rebuilding Fiscal Space) โดยการใช้จุดยืนทางการคลังแบบขยายตัวลดลง (A Less Expansionary Fiscal Stance) จากที่คาดการณ์ไว้ภายใต้ปีงบประมาณ 2568 จะยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่ยังจะช่วยรักษาพื้นที่ทางการคลังไว้ด้วย

 

อีกทางหนึ่ง การจัดสรรงบประมาณที่จัดไว้สำหรับโครงการ ‘แจกเงิน’ บางส่วนใหม่ เพื่อการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือการคุ้มครองทางสังคมแทน จะช่วยทำให้การเติบโตครอบคลุมและแข็งแกร่งขึ้น และจะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลงได้

 

IMF ยังแนะอีกว่าเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 จำเป็นต้องมีการรัดเข็มขัดทางการคลังระยะกลางตามรายได้ (Revenue-Based Medium-Term Fiscal Consolidation) เพื่อลดหนี้สาธารณะและสร้างกันชน (Buffer) ทางการคลังใหม่

 

กรอบการคลังของไทยสามารถเสริมความแข็งแกร่งได้มากกว่านี้ โดยไทยอาจจะต้องมีการเสริมความแข็งแกร่งของกฎเกณฑ์ทางการคลังต่างๆ และควรคำนึงถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการกึ่งทางการคลังต่างๆ อาทิ การกำหนดเพดานราคาพลังงาน อย่างเหมาะสมด้วย รวมทั้งควรติดตามความเสี่ยงทางการคลังอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงการปรับปรุงการจัดเตรียมข้อมูลสถิติการเงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นสิ่งสำคัญ

 

IMF ระบุว่า เจ้าหน้าที่ยินดีกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนตุลาคม พร้อมแนะนำให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ และปรับปรุงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ (Debt-Servicing Capacity) เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงจำกัดที่การกู้ยืมจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งท่ามกลางการให้สินเชื่อที่เข้มงวด 

 

จากแนวโน้มความไม่แน่นอนที่สูง ทางการควรพร้อมที่จะปรับจุดยืนนโยบายการเงินตามข้อมูลและแนวโน้ม  (Data and Outlook-Dependent Manner) ด้วย

 

พร้อมทั้งระบุว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางพร้อมการสื่อสารนโยบายที่ชัดเจน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการยึดโยงกับคาดการณ์เงินเฟ้อ

 

IMF กล่าวอีกว่า ทางการไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและกฎหมายที่ครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกในการลดหนี้ภาคเอกชนอย่างเป็นระเบียบ 

 

พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่ยินดีกับมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วที่จัดการกับทั้งหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่และการสร้างหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ (Debt Workout) ผ่านการปรับปรุงกระบวนการล้มละลายให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการลดหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ด้วย

 

“จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างที่เด็ดขาดเพื่อเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ลำดับความสำคัญของการปฏิรูป ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการแข่งขันและการเปิดกว้าง การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและไอซีที การยกระดับทักษะ / ฝึกทักษะใหม่ให้กับแรงงาน การเพิ่มความซับซ้อนในการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากการแปลงเป็นดิจิทัล และการเสริมสร้างการกำกับดูแล การจัดหาพื้นฐานการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอให้กับครัวเรือนที่เปราะบาง อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือต่อแรงกระแทกและแก้ไขแรงผลักดันเชิงโครงสร้างของการสะสมหนี้ครัวเรือน” IMF ทิ้งท้าย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising