คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมประจำปีกับธนาคารโลก (World Bank) และตัวแทนเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ G30 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ตุลาคม) ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ว่า ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นปัญหาหลักที่นานาประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศพัฒนาแล้ว วิตกกังวลควบคู่ไปกับปัญหา ‘คอขวด’ ในห่วงโซ่การผลิต ท่ามกลางความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดย IMF มองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างไม่แน่นอน สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะน่าวิตกกังวลเพียงใด แต่จอร์เจียวากลับเชื่อมั่นว่า ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะสามารถรอดพ้นจากปัญหาเงินเฟ้อไปได้ เนื่องจากรัฐบาลของชาติเหล่านี้มีเครื่องมือในการรับมือกับเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรให้ต้องวิตกว่าปัญหาเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่ ‘ควบคุมไม่อยู่’ หรือ ‘Runaway Train’ อย่างแน่นอน เพียงแต่อาจจะมีเรื่องให้ต้องรู้สึกกังวลบ้างเท่านั้น
ขณะเดียวกันคริสตาลินายังเห็นว่า โชคดีอีกประการก็คือ การที่ปัญหาน่ากังวลแต่ไม่น่ากลัวอย่างเงินเฟ้อ ได้รับความสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิดจากบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้
ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางของรัสเซียและเม็กซิโกได้ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็ส่งสัญญาณผ่อนปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายเดือนลง เพื่อปูทางนำไปสู่การยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ด้าน แอนดรูว์ ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า ธนาคารกลางนานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เอื้อให้ใช้นโยบายการเงินวางแผนใดๆ ล่วงหน้าได้มากนัก มีแต่ต้องตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบเฉพาะหน้าไปก่อน ดีกว่านิ่งเฉย เพราะการไม่ดำเนินการเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะทำลายความน่าเชื่อถือในการต่อสู้กับเงินเฟ้อของเหล่าธนาคารกลาง
นอกจากนี้ IMF ยังได้เปิดเผยรายงานที่พบว่าปริมาณหนี้สาธารณะของรัฐบาลทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2021 พอกพูนรวมกันแล้วมีมูลค่าสูงถึง 97.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งแม้จะต่ำกว่าปี 2020 ที่ผ่านมาที่ 0.8% แต่ก็ยังถือเป็นหนึ่งในสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ดี โดยหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นอย่างมากเป็นผลพวงมาจากการสรรหามาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด
รายงานระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกขณะนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดการณ์ว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตัวเลขหนี้จะยังคงสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนการระบาดใหญ่ โดยในระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว IMF คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จนถึงปี 2026
นอกจากนี้ จากการประเมินในเบื้องต้น IMF ยังพบอีกว่า หนี้สาธารณะของภาครัฐ องค์กร และครัวเรือน ในปี 2020 ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นแตะ 226 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่ายอดหนี้ที่เพิ่มขึ้น 20 ล้านล้านดอลลาร์จาก 2 ปีแห่งวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009
รายงานยังพบอีกว่า ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วรวมถึงจีน มีสัดส่วนสูงกว่า 90% ของการสะสมหนี้ทั่วโลกในปี 2020 ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ที่เหลือและประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนเพียง 7% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน IMF ยังคาดการณ์ด้วยว่า ประชากรโลกราว 65-75 ล้านคน จะตกสู่ความยากจนทันทีภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งมากกว่าที่เคยมีการบันทึกมา
อ้างอิง:
- https://www.arabnews.com/node/1949606/business-economy
- https://www.rt.com/business/537348-global-public-debt-record/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP