×

IMF หั่นการเติบโต GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7% พร้อมเตือนความเสี่ยงหากน้ำมันพุ่งขึ้น 10% หลังสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

11.10.2023
  • LOADING...
ราคาน้ำมัน

ระหว่างงานประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้ชื่องานว่า Marrakech 2023 World Bank Group – IMF Annual Meetings ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2023 ณ เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เปิดเผยรายงานWorld Economic Outlook ประจำเดือนตุลาคม โดย IMF ได้คงประมาณการการเติบโตของ GDP โลกในปี 2023 ไว้อยู่ในระดับเดิม เท่ากับรายงานฉบับก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 3.0% เนื่องมาจากการขยายตัวที่ดีเกินคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนและยูโรโซนปีนี้ลงเหลือ 5% และ 0.7% ตามลำดับ

 

IMF หั่นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า

 

ส่วนประมาณการ GDP ไทยในปี 2023 IMF ประเมินว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% ในรายงานเดือนตุลาคมนี้ ถือเป็นการปรับประมาณการลงจากรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 3.4% และต่ำกว่าตัวเลขประมาณการล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ที่ 3.4%

 

สำหรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีหน้า IMF ประเมินว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงจากรายเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 3.6% เช่นกัน

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม 2023) พบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวังอยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และมาเลเซีย 

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ ปัจจุบันชะลอตัวอยู่ที่ 0.30% จาก 0.88% ในเดือนสิงหาคม 2023 ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและกลุ่มอาหารที่ราคาลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร 

 

ราคาน้ำมันพุ่งหลังสงครามปะทุ อาจกดเศรษฐกิจโลกลง 0.15%

 

IMF มองเห็นความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางต่างๆ จะสามารถกำราบเงินเฟ้อได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ‘โดยรวม’ ยังอยู่ในระดับต่ำและไม่เท่ากัน (Patchy) 

 

ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ ผู้อำนวยการงานฝ่ายวิจัยของ IMF กล่าวผ่านเวที World Economic Outlook ภายในงาน Annual Meetings ว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และวิกฤตพลังงานเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตมีความแตกต่างกันมากขึ้น และแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางก็อยู่ที่ระดับ ‘ปานกลาง’ เท่านั้น

 

ขณะเดียวกัน กูรินชาส์กล่าวถึงสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้น 4% อย่างรวดเร็ว หลังจากที่สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทุขึ้นมา ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นถึง 10% จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกราว 0.15% และกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.4% 

 

“ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อเกิดความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการขนส่งทั่วโลก แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นต่อเนื่อง”

 

อย่างไรก็ตาม กูรินชาส์ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลและปาเลสไตน์ IMF ยังไม่สามารถประเมินอะไรได้ในจุดนี้ เนื่องจากยังมีฉากทัศน์อีกมากมายที่ IMF ยังไม่ได้พิจารณา

 

IMF มอง เศรษฐกิจโลกมีโอกาส Soft Landing เตือนอย่าวางใจเงินเฟ้อ

 

กูรินชาส์กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะชะลอตัวแบบ Soft Landing มากขึ้น แต่ IMF ก็ยังคงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่

 

แม้ช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายใดๆ ถือเป็น ‘ความเสี่ยงอย่างมาก’ เมื่อพิจารณาถึงการต่อสู้อันยากลำบากที่ผ่านมาเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ

 

“สิ่งที่สำคัญคือ นโยบายการเงินควรจะยังต้องคงอยู่ในขอบเขตที่เข้มงวด เนื่องจากราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่เร็วเกินไปอาจสูงกว่าต้นทุนที่เกิดระหว่างการใช้นโยบายตึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจมักจะสร้างความประหลาดใจในเชิงบวก” กูรินชาส์กล่าว

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจาก IMF

 

นอกจากเรื่องนโยบายการเงินข้างต้นแล้ว IMF ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายในด้านอื่นๆ ได้แก่ 

 

  • นโยบายการคลัง: ควรสนับสนุนกลยุทธ์ทางการเงินและช่วยกระบวนการลดเงินเฟ้อ นโยบายการคลังควรมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟู ‘กันชน’ ทางการคลังและการหลีกเลี่ยงการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบวัฏจักร อาทิ การอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นแล้วโดยไม่จำเป็น

 

  • การปฏิรูปโครงสร้าง: ด้วยการเติบโตที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และพื้นที่ทางการคลังที่ลดลง การปฏิรูปโครงสร้างจึงมีความสำคัญ การเจริญเติบโตในระยะยาวที่สูงขึ้นสามารถบรรลุได้ผ่านลำดับการปฏิรูปโครงสร้างอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแล รวมทั้งกฎระเบียบทางธุรกิจและภาคส่วนภายนอก 

 

  • ความร่วมมือแบบพหุภาคี: ประเทศต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการนำนโยบายที่ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ ควรมุ่งเป้าไปที่การจำกัดความแตกแยกทางภูมิเศรษฐกิจ และทำงานเพื่อฟื้นฟูความไว้วางใจในกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีที่ยึดตามกฎเกณฑ์และเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลกที่แข็งแกร่ง 

 

สำหรับงาน Annual Meetings ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ทีมงาน THE STANDARD จะอัปเดตข้อมูลที่สำคัญและบรรยากาศงานเป็นประจำทุกวันผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งรายการ Morning Wealth, เว็บไซต์ THE STANDARD WEALTH รวมทั้งโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของ THE STANDARD 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising