กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกโรงแสดงความเห็นชี้แจงสาเหตุที่ทำให้การลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซียังน่ากังวลและไม่น่าวางใจสำหรับนักลงทุน เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไร้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เข้มงวด บริษัทหรือองค์กรที่เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ขาดแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่โปร่งใส และช่องว่างทางกฎหมายบางส่วนทำให้คริปโตเคอร์เรนซีเสี่ยงต่อการเป็นช่องทางเลี่ยงภาษี แหล่งฟอกเงิน หรือเป็นท่อน้ำเลี้ยงชั้นดีของกลุ่มก่อการร้าย
IMF กล่าวว่า อุตสาหกรรมใหม่ที่มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่กฎระเบียบกำกับดูแลกลับไม่ได้ขยายตัวครอบคลุมตามไปด้วย ทำให้การลงทุนในตลาดคริปโตของบรรดานักลงทุนยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมองในมุมกลับ ย่อมหมายความว่านักลงทุนขาดการปกป้องดูแล
ข้อมูลจาก IMF พบว่า จนถึงเดือนกันยายนปีนี้ มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีพุ่งทะลุกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขยับพุ่งจากช่วงต้นปี 2020 ถึง 10 เท่า โดย อีวาน ปาปาจอร์จิโอ รองหัวหน้าแผนกของ IMF กล่าวว่า ระบบนิเวศคริปโตสามารถเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับไร้กฎเกณฑ์ในการดูแลตรวจสอบ
ทั้งนี้ IMF อธิบายว่า การขาดแผนปฏิบัติงาน แผนบริหารจัดการ และหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทในอุตสาหกรรมคริปโตในห้วงเวลานี้ ทำให้นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนมากพอจะใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งกระแสการลงทุนของเหรียญคริปโตในปัจจุบันยังตัดสินจากอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์หรือกระแสบนโลกออนไลน์เป็นหลัก
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่สีเทาของตลาดคริปโตยังส่งผลให้เกิดช่องว่างของข้อมูล (Data Gap) ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาฟอกเงิน หรือใช้เป็นเส้นทางหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อส่งเงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
พร้อมกันนี้ IMF ยังได้ร่วมกับสถาบันอื่นๆ ในการเรียกร้องให้มีการยกระดับปรับปรุงแนวทางการลงทุนในตลาดอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อทำให้การลงทุนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก่อนยอมรับว่า ประเด็นคริปโตเป็นประเด็นร้อนที่ยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคริปโตคือโลกอนาคตที่กำลังเดินทางมาถึง ขณะที่ฝ่ายคัดค้าน ยังคงอดกังขากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโต
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานกำกับดูแลนโยบายการเงินของอังกฤษ (FCA) ได้ออกมาเตือนว่า พบความเชื่อมโยงระหว่างโซเชียลมีเดียกับการลงทุนในคริปโต โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งได้รับการว่าจ้างจากเหล่าสแกมเมอร์ให้ช่วยปั่นกระแสเพื่อเก็งกำไรเหรียญคริปโตตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งบางเหรียญก็ไม่มีอยู่จริงในตลาด สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ IMF และ FCA ต่างเห็นตรงกันว่าสมควรสร้างมาตรฐานในการกำกับดูแล เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์และความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้นักลงทุนส่วนหนึ่งในอังกฤษยังเข้าใจว่าทาง FCA จะช่วยเข้ามาจัดการหากเกิดความผิดพลาดในการลงทุน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง FCA ไม่มีอำนาจในการจัดการใดๆ ได้
ขณะที่ IMF ปิดท้ายว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งมือดำเนินการให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และการดำเนินการจะต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ตลอดจนมีการประสานงานที่ดีทั่วโลก เพื่อให้ผลประโยชน์หลั่งไหลถึงมือนักลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับช่องโหว่ทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเส้นทางอนาคตทางการเงินอย่างแท้จริง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP