×

IMF แนะธนาคารกลางในเอเชียเดินหน้าชนปัญหาเงินเฟ้อ ชี้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป ‘เสี่ยงน้อยกว่า’ นโยบายที่เข้มงวดน้อยเกินไป

18.11.2022
  • LOADING...
กฤษณะ ศรีนิวาสัน

กฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวในงาน APEC CEO Summit 2022 ว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดช็อกหลายๆ เรื่องติดต่อกัน นับตั้งแต่โรคระบาด มาสู่เงินเฟ้อ สงคราม และวิกฤตพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภาพที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากเดิม 3.2%

 

ภายใต้บริบทดังกล่าว แม้ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะสามารถตอบสนองได้ดีแต่ก็จะเติบโตได้ช้าลง โดย IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเอเชียเป็น 4.0% ในปีนี้ และ 4.3% ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่อปีที่ต่ำว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่ 5.5% 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


กฤษณะระบุว่า แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงจะยังไม่ส่งผลต่อเอเชียมากนักในปีนี้ แต่มีแนวโน้มว่าผลกระทบจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ทำให้ธนาคารกลางต้องการตอบสนองด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ปัญหาหนี้ในประเทศเหล่านี้รุนแรงขึ้น การสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นความท้าทายทางนโยบาย

 

“คำแนะนำของเราคือต้องจัดการเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางจะต้องดำเนินมาตรการที่จริงจังในการรับมือกับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปมีความเสี่ยงน้อยกว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยเกินไป เป็นเรื่องสำคัญมากที่ธนาคารกลางจะต้องเดินหน้าชนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ” กฤษณะกล่าว

 

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ IMF ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ยังเสนอแนะให้ผู้กำหนดนโยบายวางนโยบายทางการคลังในทิศทางที่สนับสนุนนโยบายการเงิน รวมทั้งออกมาตรการ ‘เฉพาะหน้าและพุ่งเป้า’ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดของโควิด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าเตรียมพร้อมด้านโครงสร้าง เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

 

พร้อมเตือนว่าการปกป้องทางการค้า และการแบ่งแยกตลาดจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดย IMF ประเมินว่า การผลิตในเอเชียอาจลดลงถึง 1.5- 3% อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย 

 

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมยังมองในแง่บวกว่า ท่ามกลางพายุลูกแล้วลูกเล่าที่โหมกระหน่ำมาทุกทิศทุกทาง ภูมิภาคเอเชียจะยังเป็นจุดที่สว่างไสวและความมุ่งมั่นของผู้กำหนดนโยบายในการสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising