×

IMF เรียกร้อง EU งัดนโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

01.12.2020
  • LOADING...
IMF เรียกร้อง EU งัดนโยบายการเงินการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ยูโรโซนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ทั้งจากนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) ว่า เศรษฐกิจ EU กำลังต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลระดับชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กดดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะแย่ลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

“นโยบายการคลังแห่งชาติเป็นเครื่องป้องกันที่สำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้ ซึ่งจะช่วยทุเลาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการยืดระยะเวลาการสร้างรายได้สำหรับแรงงานและบริษัทต่างๆ” IMF กล่าว

 

ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการติดเชื้อจากโควิด-19 มากที่สุด แต่ยุโรปโดยรวมก็แสดงตัวเลขไม่น้อยกว่ากันนัก โดยมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้มากกว่าหนึ่งในสี่ล้านคน หรือมากกว่า 2.5 แสนคน และการแพร่ระบาดระลอกสองนี้ ก็กดดันให้เศรษฐกิจหลักใน EU หลายแห่งต้องหยุดชะงักทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน แม้จะมีความคาดหวังในการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเปราะบางและอาจใช้เวลานานกว่าที่ IMF คาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

 

“การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งของหลายประเทศ ทำลายความเชื่อมั่นและลดความคล่องตัวในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง และผลจากการที่จีดีพีเติบโตดีเกินคาดในไตรมาส 3/63 จะตามมาด้วยแนวโน้มจีดีพีที่อ่อนแอลงไตรมาส 4/63 เช่นเดียวกับแนวโน้มจีดีพีในไตรมาส 1/64 ที่น่าจะอ่อนแอต่อเนื่อง เว้นแต่การแพร่ระบาดจะถูกหยุดได้อย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” IMF กล่าวในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ EU 

 

ขณะที่ โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจของสหรัฐฯ เพิ่งปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ EU ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ และกล่าวว่าการฟื้นตัวจะช้ากว่าที่คาดไว้มากในไตรมาส 1 ปีหน้า จากการล็อกดาวน์ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ใช้จ่ายเงินหลายล้านล้านยูโรในมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจ ทั้งสองหน่วยงานได้ตกลงที่จะใช้เงินจากกองทุนฟื้นฟู 7.50 แสนล้านยูโร (ราว 8.98 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อเติมเงินเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจที่ต้องการมากที่สุด โดยในการดำเนินการด้านนี้ ECB ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% และยังเดินหน้าซื้อสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาทเพื่อสร้างการหมุนเวียนให้กับระบบการเงิน

 

ขณะเดียวกัน ECB มีท่าทีชัดเจนในการรักษาอัตราเงินเฟ้อของ EU ให้อยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายวางไว้ที่ 2% และยังจะดำเนินการเพิ่มเติมในการประชุมนโยบายครั้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ EU 

 

“นโยบายการเงินมีความชัดเจนอย่างเหมาะสม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม จุดยืนนโยบายการเงินของ ECB มีความผ่อนคลายอย่างมาก แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงไปอีก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” IMF กล่าว

 

IMF กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘Next Generation’ มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโรของสหภาพยุโรป จะมีความหมายต่อการเติบโตของ EU อย่างมากหากมีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ข้อตกลงในเดือนกรกฎาคมเกี่ยวกับแพ็กเกจการกู้คืน ซึ่งรวมถึงเงินช่วยเหลือ 3.90 แสนล้านยูโร ส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของยุโรปในการเผชิญกับวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการสรุปแพ็กเกจและการเบิกจ่ายเงินจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากความล่าช้าจะเกิดขึ้นอีก สร้างความเสียหายต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของพื้นที่ยูโร” IMF กล่าวในตอนท้าย  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X