×

‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ประกาศชัด ‘ผมคือดีลเมกเกอร์ของประชาชน’

โดย THE STANDARD TEAM
08.05.2023
  • LOADING...
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

เลือกตั้ง 2566 ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ภายใต้การนำของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่มีกระแสให้เห็นมากขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งครั้งนี้ นับย้อนตั้งแต่เริ่มต้นตั้งพรรคมีกระแสถูกมองว่า ‘แยกพรรค’ เพื่อการเป็นนอมินีของใครหรือไม่? ทำให้ไทยสร้างไทยเร่งในการทำแคมเปญหาเสียง การที่แคนดิเดตและตัวแทนพรรคร่วมเวทีดีเบต รวมถึงพยายามในการสื่อสารนโยบายพรรคที่ชูประเด็นผลักดันนโยบายดูแลประเทศ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สังคม สุขภาพ และการศึกษา พร้อมจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนเผด็จการทุกรูปแบบ ก็ทำให้กระแสของพรรคมีมากขึ้นในโค้งสุดท้าย 

 

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของพรรคไทยสร้างไทย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 ในฐานะ ‘นักบริหาร’ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กระโดดเข้ามาเล่นการเมือง และยังมาพร้อมกับความหวังที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย รวมถึงถูกมองว่าการเล่นการเมืองครั้งนี้เขาจะเข้ามาเป็น ‘ดีลเมกเกอร์’ ระหว่างธุรกิจกับรัฐบาลหรือไม่

 

ฐากรเคยให้สัมภาษณ์ในหลายสื่อถึงการตัดสินใจลงเล่นการเมืองว่าเป็นเรื่องยากและใช้เวลาพอสมควรในการตัดสินใจ THE STANDARD ถามว่า ภาพการเมืองไทยในวันที่เขายังสวมหมวกนักบริหารเป็นแบบไหน ฐากรบอกว่า “มีแต่เรื่องการทุจริต 

 

“การเมืองไทยสำหรับผมในตอนนั้นไม่โอเคเลย โดยเฉพาะช่วงปี 2549 ที่มีการรัฐประหาร ตอนนั้นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมเห็นว่ารัฐประหารไม่น่าใช่ทางออก
 

“พอเลือกตั้งปี 2553 หลังการปฏิวัติ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งพรรคฝั่งประชาธิปไตยก็ชนะถล่มทลาย แต่ก็เกิดการปฏิวัติอีกครั้งในปี 2557 ช่วงนั้นเสียงเรียกร้องของประชาชนถูกกดทับอย่างมาก ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ทำให้ประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาติดต่อหรือทำการค้ากับประเทศไทยก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เศรษฐกิจประเทศก็ไม่เดินหน้า ทำให้ผมมองว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบได้แล้ว” 

 

 

จุดอ่อนการเมืองไทย ‘ซื้อสิทธิขายเสียง’ ความเน่าเฟะที่ใครจะแก้ได้

ถามผม จุดอ่อนประเทศไทยคือ การทุจริตคอร์รัปชันและเอาเงินไปซื้อสิทธิขายเสียง มันเลยไม่ได้คนดีๆ เข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ ผมไม่ได้ชื่นชมพรรคไหนเป็นพิเศษนะ มันก็มีบางพรรคที่เขาซื่อสัตย์ ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ก็ยังได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน พรรคไทยสร้างไทยก็อยากจะเป็นแบบนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ถ้าอยากได้คนดีๆ เข้ามาทำงาน ต้องต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นมันก็วนลูปสู่วงจรเดิม ถ้าเราแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จะทำให้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำงาน 

 

“คนเก่ง คนดีหลายคนไม่อยากทำงานการเมืองก็เพราะปัญหาเหล่านี้ คนไม่มีเงินก็ไม่มีโอกาสทำงาน มันควรเป็นแบบนั้นหรือ? คนเก่ง มีความรู้ความสามารถต่างหากที่ควรเป็นคนที่ถูกเลือก นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยได้แล้ว วันนี้คนเก่งๆ คนดีๆ ยังเข้าสู่การเมืองน้อยมาก แต่ถ้าเราตัดวงจรนี้ได้จะทำให้ภาพการเมืองที่เน่าเฟะในอดีตลดลงไปได้เยอะ” 


ถ้าอยากมีอำนาจในการขับเคลื่อนโครงการต้องลงเล่นการเมือง

“ผมพ้นจากตำแหน่งวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2563 มีหลายโครงการที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ แม้ว่าช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งมันก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การประมูล 5G ก็ต้องมีการต่อยอด 5G ให้เข้าไปใช้ในพื้นที่ EEC เพื่อให้เกิด IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับพื้นที่ EEC แต่ก็ไม่ได้มีการต่อยอดอะไรมาก ตอนที่ผมดำรงตำแหน่ง กสทช. ผมพยายามชูเรื่องนี้ให้รัฐบาลดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้พื้นที่ EEC เกิดขึ้นจริง 

 

แต่วันนี้ผมฝันไปไกลกว่านั้น ตอนนี้พื้นที่มีศักยภาพในประเทศไทยเยอะมาก ไม่ได้มีแค่ EEC ในจังหวัดชลบุรีที่เดียว แต่ยังมีนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ พื้นที่เหล่านี้เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือโอกาสที่เราจะค้าขายกับต่างประเทศ โครงการรถไฟความเร็วสูงต่างๆ ต้องเกิดขึ้น ผมอยากเปิดพื้นที่ที่เรียกว่า Northeastern Seaboard ไม่ใช่ว่าจะย้ายฐานการผลิตจาก EEC แต่ผมกำลังมองหานักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

 

‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล’ อีกหนึ่งทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ฐากรผลักดันมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ด้วยความมุ่งมั่นอยากให้เกิด Smart Hospital สร้าง ‘ศูนย์ประวัติคนไข้กลาง’ รวบรวมประวัติของคนไข้ เบื้องต้นที่โรงพยาบาลรัฐก่อน ใช้บัตรประชาชนใบเดียว คนไข้ไปรักษาที่ไหนก็ได้ 

 

“ตอนที่ผมขับเคลื่อนแนวคิดนี้ในฐานะเลขาธิการ กสทช. ก็ทำได้ประมาณ แต่ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นจริง ผมต้องอยู่ในฐานะนักการเมืองจึงจะทำให้สัมฤทธิผล เพราะมันต้องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง” 

 

ยังมีเรื่องของการจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ฐากรเคยทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร นำสายสื่อสารลงดินก่อนเกษียณไปแล้วกว่า 40 กิโลเมตร ฐากรบอกว่าการทำงานตอนนั้นต้องประสานงานหลายฝ่ายถึงจะเดินหน้าได้ ทั้งกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ประกอบโทรคมนาคม ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี อีกทั้งการจัดระเบียบจะต้องทำในวันและเวลาที่ไม่กระทบต่อการเดินทางของประชาชน เท่ากับว่า อาจทำได้เพียงวันอาทิตย์ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น 

 

“นี่เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ต้องเป็นรัฐบาลที่จะเข้ามาดำเนินการเท่านั้น ผมบอกเลยว่าทำไม่ยาก แต่การบูรณาการต้องมีคนที่กล้าตัดสินใจ เพราะการจัดระเบียบสายสื่อสารจริงๆ แล้วใช้เวลาไม่นาน ภายใน 3 ชั่วโมงทำได้หลายกิโลเมตร ถ้าทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ มันสำเร็จได้ แต่ที่มันไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ทำ ไม่มีคนสั่งการ ถ้าผมเข้ามานี่คือเรื่องเร่งด่วนที่ผมจะลงมือทำที เชื่อว่าภายใน 6 เดือนก็สำเร็จ” 

 

สุดท้ายเป็นเรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ฐากรบอกว่าถนนที่จะมีความสำคัญในโลกอนาคตคือ ‘ถนนในอากาศ’ ถ้าไม่เร่งลงมือสร้างถนนในอากาศในประเทศไทย เราก็จะล้าหลังและปรับตัวไม่ทันโลกยุคใหม่ 

 

“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย แต่วันนี้เราถูกปิดกั้นด้วยโอกาสหลายๆ อย่าง ทำให้เราไปไม่ทันใครเขา ถ้าไม่เกิดวิกฤตโควิด เศรษฐกิจดิจิทัลอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่โควิดเป็นตัวเร่งสิ่งที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ทุกคนต่อต้าน ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง แต่ทุกวันนี้การเรียนออนไลน์ ประชุมออนไลน์ WFH กลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมพูดมาเสมอว่า เมืองไทยสามารถเป็น Hub ในการเป็น Work from Thailand to the whole world เพราะเรามีระบบโทรคมนาคมที่ดีที่สุด ติด 1 ใน 10 ของโลก เรามีประชาชนที่เป็นมิตร มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ และค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศอื่น 

 

“คำแนะนำของผมคือ ต่างชาติที่เข้ามาทำงานที่เมืองไทย ออกวีซ่าให้เขา 1-2 ปี แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากบริษัทต่างประเทศว่ามาทำงานที่เมืองไทยจริง ถ้าทำแบบนี้ได้ นอกจากจะมีต่างชาติเข้ามาทำงานที่เมืองไทยเยอะขึ้น ยังสามารถเก็บภาษีเงินได้กับผู้ที่เข้ามาทำงานเกิน 180 วัน อีกมิติคือคนกลุ่มนี้คือปัญญาชน จะเกิดการต่อยอดการเรียนรู้ของคนไทย รวมถึงรายได้ที่พี่น้องประชาชนจะได้จากการใช้จ่ายของคนเหล่านี้ เรามีความพร้อมทุกอย่างแต่กลับไม่ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ พุ่งเป้าไปแต่เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เรื่องการสร้างเมืองไทยให้เป็น Hub ของการทำงานจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกหลายทาง เรามีแต่ได้กับได้ 

 

“ที่ขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะคนไม่เชื่อในระบบของเศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่มั่นใจ ผมเคยบอกตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ประมูล 5G ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะกระทบทุกอย่าง โลกยุคใหม่จะเปลี่ยนหมด อย่าตกใจ เพราะแน่นอนว่าจะมีคนบางกลุ่มที่ตกงาน แต่ก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การมาถึงของ AI คุณคิดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ก็คนนี่แหละที่จะทำหน้าที่ตรงนั้น สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ คนไม่ได้ตกงานนะ แต่อาชีพต่อจากนี้จะเปลี่ยนไป ธนาคารสาขาถูกลดจำนวนเพราะธนาคารมาอยู่บนมือถือหมดแล้ว คนที่เคยทำงานที่สาขาก็ต้องเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ หรือถ้าวันหนึ่งรถไฟฟ้าไร้คนขับเข้ามาในประเทศ จะเกิดอาชีพใหม่ๆ อู่ซ่อมรถน้อยลง เปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าหรือช่างซ่อมที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ แปลว่าคุณต้องคิดตามโลกให้ทัน ประเด็นคือ รัฐบาลต้องมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาศักยภาพของตัวเอง มีนโยบายรองรับเรื่องเหล่านี้ มีวิสัยทัศน์ ถึงจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้” 

 

คำถามคือ ถ้ารัฐบาลไม่ขับเคลื่อน โครงการดีๆ ก็ไม่เกิด แบบนี้แล้ว ใครที่อยากผลักดันนโยบายของตัวเองต้องเล่นการเมืองเท่านั้นหรือ? ฐากรบอกว่าประชาชนสามารถเสนอไอเดียให้กับพรรคการเมืองได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเสนอกับใคร


“ผมถึงบอกว่าผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์

 

“เรื่องที่ท้าทายคงเป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มของประชาธิปไตยจับมือกันตั้งรัฐบาลให้ได้ พรรคไทยสร้างไทย ถ้าจัดตั้งรัฐบาลแล้วประชาชนได้ประโยชน์เราไม่ติดขัดเลย ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีก็ยินดี แค่ขอให้เอานโยบายของเราไปขับเคลื่อนแล้วกัน ขอให้เอานโยบายที่เสนอ ไม่ว่าจะเป็นบำนาญประชาชน บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล จัดระเบียบสายสื่อสาร หรือสวัสดิการไรเดอร์ ที่ผมเพิ่งนำเสนอเจรจากับผู้ประกอบการให้คนกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการเหมือนพนักงานประจำ”  

 

 

หรือจะถูกวางตำแหน่งให้เล่นบท ‘ดีลเมกเกอร์’ มาตั้งแต่ต้น 

อย่างที่รู้กันว่า ฐากรมีคอนเนกชันในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนการเมืองก็ถือว่ารู้จักทุกขั้ว จึงถูกมองว่าเป็นการดึงเข้ามาเพื่อรับบท ‘ดีลเมกเกอร์’ ให้กับพรรคหรือไม่? 


ฐากรบอกว่า “คำนี้มีทั้งแง่บวกแง่ลบ บางคนก็มองว่าผมจะเป็นดีลเมกเกอร์ที่ทำให้พรรคไทยสร้างไทยไปจับมือกับกลุ่มขั้วอำนาจเก่าหรือเปล่า หัวหน้าพรรคก็ประกาศชัดเจนว่าเราไม่เป็นนอมินีใคร ซึ่งเป็นหลักการที่ผมเชื่อถือเช่นเดียวกันว่าเราจะไม่เอาเผด็จการ” 

 

ไม่ว่าเราจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เป้าประสงค์ของเราคือ ต้องสามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้ แต่ขออยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ให้รับนโยบายของเราไป จะให้พรรคไทยสร้างไทยเขียนนโยบายให้ก็ได้วันที่ประกาศนโยบายต่อรัฐบาล แต่ถ้าเราได้ตำแหน่งก็มองว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการที่จะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 

 

“ดังนั้น ดีลเมกเกอร์สำหรับผม คือการดีลเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ดีลเมกเกอร์ที่จะทำให้ตัวเองหรือพรรคได้รับประโยชน์สูงสุด ผมรู้จักบริษัทเอกชนมากมาย มีคอนเนกชันดีๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเป็นนอมินีให้กับบริษัทเหล่านั้น ผมจะเป็นนอมินีให้กับประชาชน คิดถึงประชาชนเป็นหลัก รับรองว่า เราคือดีลเมกเกอร์ที่จะคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เพื่อทำสิ่งที่สัญญากับประชาชนให้เกิดขึ้นได้จริง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X