วันนี้ (22 กันยายน) จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และกลุ่มผู้สนับสนุน นัดรวมตัวกันใต้สถานี MRT เตาปูน ในเวลา 13.00 น. เพื่อเดินเท้าไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อที่ได้มีการรวบรวมจำนวน 100,732 รายชื่อต่อประธานรัฐสภา แสดงเจตจำนงและใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยขบวนเริ่มจากสถานี MRT เตาปูน เดินเท้าระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างทางมีการปราศรัยถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และแนวทางในการแก้ไข รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เหมาะสมและตรงตามความต้องการของประชาชน โดยระหว่างทางได้มีการแจกเอกสารอธิบายความสำคัญของกิจกรรม ‘ร่วมรื้อร่างสร้างรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งมีประชาชนบางส่วนส่งเสียงเชียร์และออกมาถ่ายรูปตลอดระยะทาง
เมื่อมาถึงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ฝั่งวุฒิสภามีการตั้งเวทีปราศรัยอธิบายข้อสังเกตต่างๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เริ่มต้นด้วย ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โดยกล่าวถึงที่มาและกระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่พริษฐ์นิยามว่า นี่คือการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก คือกระบวนการ ที่มา และการลงมติที่ไม่ชอบธรรม อีกทั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญก็พาประเทศย้อนหลังไปเสมือนก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
พริษฐ์เปิดเผยว่า ที่มาแนวคิดการรวบรวมรายชื่อเกิดจากการที่ตนเองได้พูดคุยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw โดยพริษฐ์บอกว่า แทนที่เราจะมัวแต่วิจารณ์ปัญหา เราต้องลงมือกันแก้ปัญหา โดยมีประตูเล็กๆ คือการรวบรวมรายชื่อจากภาคประชาชน 50,000 รายชื่อ แต่ว่าในเวลานั้นยังมองว่ายาก เพราะกระบวนการคือต้องนำบัตรประชาชนมาลง ไม่ใช่แค่มาเซ็นชื่อ
พริษฐ์กล่าวต่อว่า นี่คือก้าวแรกของความฝันของพวกเรา แต่หากรัฐสภาโหวตร่างที่ไม่มีการปรับโครงสร้างอำนาจ ลักไก่ทำเหมือนแก้แล้ว ให้ทุกคนร่วมสังเกตปรากฏการณ์ 2 แบบ คือ
- ปรากฏการณ์ สสร. ล็อกสเปก โดยเฉพาะสมาชิก สสร. ทั้งหมด 200 คน มีเพียง 150 คน มาจากการเลือกตั้ง แต่ 50 คน มาจากการแต่งตั้ง 20 คน มาจากรัฐสภา อีก 20 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดี อีก 10 คน มาจากตัวแทนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คัดสรร
- ส.ว. ลอยนวล เป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะอำนาจ ส.ว. ซึ่ง ส.ว. มีความวิปริตทางอำนาจมากมาย อีกทั้งที่มายังวิปริตอีกด้วย
ขณะที่ยิ่งชีพกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการรวบรวมรายชื่อ เรามีทีมงาน 14 คน และอาสาสมัครต่างๆ ที่มาช่วยและได้รับแรงสนับสนุนจากผู้คนที่สนับสนุน ทั้งมาช่วยรวบรวมรายชื่อหรือบริจาคเครื่องถ่ายเอกสาร
ยิ่งชีพขอบคุณ 100,732 รายชื่อ ที่ทำให้พวกทุกคนได้มาเหยียบสภาฯ วันนี้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า นี่คือการหาทางออกจากการเมืองที่ผิดปกติจากกระบวนการและกลไกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ สิ่งสำคัญคือ ส.ว. 250 คน ต้องยกเลิกไปเลย เพราะคนเหล่านี้ได้เงินเดือนเป็นแสน แต่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งยังต้องยกเลิกช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะนี่คือปี 2563 แล้ว แต่ยังให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งอีก
นอกจากนี้ยิ่งชีพยังได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่, เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาฯ ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่ง สสร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ด้าน ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี จากคณะประชาชนปลดแอก ปราศรัยโดยระบุว่า 100,732 รายชื่อที่เดินทางถึงสภาฯ คือชัยชนะอีกหนึ่งก้าวของประชาชน ปัญหาต่างๆ ทั้งความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน เกิดจากชนชั้นนำที่อยากรักษาอำนาจ เครื่องมือสำคัญคือรัฐธรรมนูญในการรักษาอำนาจ เห็นได้จากสภาฯ แต่งตั้งที่มีอำนาจมากกว่าสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระที่คอยสกัดอำนาจของประชาชน อีกทั้งยังมีกองทัพที่คอยออกมาฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วย อำนาจต่างๆ ยังกดทับ ทั้งการไม่เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การไปเยี่ยมบ้านคนที่แสดงออกทางการเมือง คุกคามนักเรียนมัธยมที่ติดโบขาว และอีกหลายๆ ปัญหา นี่คือผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีเจ้านายที่ไม่ใช่ประชาชน ดังนั้นจึงต้องรีเซตใหม่ ให้ประชาชนเป็นผู้ร่าง ประชาชนต้องสามารถแก้ได้ทุกหมวด ต้องไม่ล็อกสเปก สมาชิกรัฐสภาเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก หากมีการล็อกการแก้รัฐธรรนูญว่าไม่สามารถแก้บางหมวดได้ รัฐสภาคือกบฏต่อประชาชน
ทัตเทพยังขอให้ประชาชนจับตาดูกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญให้ดี และประกาศว่า วันนี้เรามารัฐสภาเป็นวันแรก แต่วันมะรืนนี้ (24 กันยายน) จะมาเยี่ยมเยียนที่นี่อีกครั้ง (รัฐสภา) เพื่อเป็นกำลังใจให้รัฐสภาโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้ผ่านวาระ 1 ไป
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่มีการปราศรัยหน้าอาคารรัฐสภา มี ส.ส. จากพรรคก้าวไกล อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม, และ สุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย มาร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย