×

iLaw เสนอญัตติร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน เปิดให้สังคมถกเถียงได้ทุกประเด็น ออกแบบกติกาใหม่ที่ยอมรับร่วมกันได้

โดย THE STANDARD TEAM
17.11.2020
  • LOADING...
iLaw เสนอญัตติร่างแก้ไข รธน. ฉบับประชาชน เปิดให้สังคมถกเถียงได้ทุกประเด็น ออกแบบกติกาใหม่ที่ยอมรับร่วมกันได้

วันนี้ (17 พฤศจิกายน) จอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน ที่เข้าแถลงหลักการและเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีผู้ร่วมลงรายชื่อกว่า 1 แสนคน ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และได้เล็งเห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน โดยปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญในปัจจุบันคือ มีการออกแบบเพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคุมอำนาจอยู่ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงนำสู่การร่วมลงรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ย้ำว่า ญัตตินี้ไม่ใช่ร่างของ iLaw ตามที่เขาเรียกกัน แต่เป็นร่างของประชาชนกว่าหนึ่งแสนคนที่มาร่วมกันลงชื่อ

 

ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ประชาชนกว่า 1 แสนคนร่วมลงรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความกระตือรือร้น และตื่นตัวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นวงกว้าง โดยความฝันในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ประกอบด้วย 5 ข้อ คือ 

 

  1. เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ที่จะมาใช้อำนาจปกครอง หรือเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นการเลือกตั้งผ่านสมาชิกรัฐสภา แต่สมาชิกที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นก็ต้องเข้าไปนั่งในสภาได้เพราะประชาชนเลือกมาทุกคน

 

  1. เราฝันว่า ได้อยู่ในประเทศที่ผู้ใช้อำนาจรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบหากมีข้อสงสัยเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน หรือการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งที่มาขององค์กรเหล่านั้นจึงต้องเป็นอิสระจากผู้ใช้อำนาจ จากฝ่ายบริหาร จากคนที่ต้องไปทำหน้าที่ตรวจสอบ

 

  1. เราฝันว่า ได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีอำนาจกำหนดอนาคตของตนเอง อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านการเลือกตั้ง ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบาย และประชาชนจะช่วยกันเลือกทิศทางของประเทศผ่านการเลือกนโยบายเหล่านั้น ซึ่งจะเลือกใหม่ได้ทุกๆ อย่างน้อย 4 ปี

 

  1. เราฝันว่า ได้อยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม คนที่กระทำความผิด/ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และถ้าหากศาลตัดสินเป็นที่สุดว่ามีความผิดก็ได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีการยกเว้นให้ใคร ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน เป็นใครมาจากไหนก็ตาม

 

  1. เราฝันว่า ได้อยู่ในประเทศที่กติกาสูงสุดของประเทศ ออกแบบการเมืองการปกครอง และรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกร่างขึ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ อย่างน้อยที่สุดต้องร่างโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100% ในบรรยากาศที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้

 

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีกลไกหลายประการที่ขัดขวางไม่ให้ความฝันเหล่านั้นเป็นจริง เราจึงต้องเสนอยกเลิกบางเรื่อง และแก้ไขบางเรื่อง ดังนี้ 

 

  1. เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกผู้มาปกครองตัวเอง จึงเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269 และ 272 ที่ให้อำนาจกลุ่มคนที่ผู้สมัครเป็นนายกฯ คัดเลือกมาเอง ยกเลิกช่องทาง ‘นายกฯ คนนอก’ หรือการเปิดให้กลุ่มคนกลุ่มเดิมลงมติหยิบเอาใครที่ไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ โดยไม่ต้องลงสมัครรรับเลือกตั้ง รวมทั้งแก้ไขมาตรา 252 ที่เปิดโอกาสให้มีผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย

 

  1. เพื่อให้เรามีองค์กรตรวจสอบการทำงานและการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มาของกรรมการในองค์กรต่างๆ ทั้ง กกต., ป.ป.ช., กรรมการสิทธิฯ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มคนที่ฝ่ายบริหารแต่งตั้งมาเอง จึงเสนอให้ยกเลิกมาตรา 203 ซึ่งว่าด้วยที่มาขององค์กรเหล่านี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ให้กรรมการชุดปัจจุบันที่มาจากระบบสรรหาแบบเดิมพ้นจากตำแหน่ง และในโอกาสเฉพาะหน้าให้สรรหาชุดใหม่มาทำหน้าที่ ด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2540

 

  1. เพื่อให้ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเองได้ เราต้องยกเลิกแผนยุทธศาตร์ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งชื่ออาจจะฟังดูหรูหรา แต่เบื้องหลังคือเขียนขึ้นโดยคนที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งหมด โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการเอง ผ่านการพิจารณาและอนุมัติมาโดยคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช.

 

  1. เพื่อให้ระบบยุติธรรมบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ต้องยกเลิกการเขียนนิรโทษกรรมตัวเองในมาตรา 279 มาตราสุดท้าย ที่ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การกระทำในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไม่เป็นความผิดทั้งหมด ประกาศและคำสั่งรวมทั้งการปฏิบัติตามประกาศ และคำสั่งทั้งหลายก็ได้รับความคุ้มครองตลอดไป

 

  1. เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญจากประชาชน ต้องเริ่มต้นกันใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างขึ้นโดยคนที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ในบรรยากาศที่ทหารมีอำนาจพิเศษจากมาตรา 44 เอาคนไปไว้ในค่ายได้ 7 วัน มีการจับกุมพลเรือนที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และดำเนินคดีที่ศาลทหาร

 

ขณะที่มีคนออกประกาศบังคับสื่อทุกช่อง ถ่ายทอดรายการพิเศษแล้วนั่งพูดคนเดียวผ่านโทรทัศน์ทุกช่องทุกวันตอนเย็น ทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนที่ร่างขึ้นเพียงฝ่ายเดียว มีปัญหาหมกเม็ดสำหรับการตีความในอนาคต มีการซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจอยู่ตามกลไกต่างๆ

 

เราจึงต้องเสนอให้มีการแก้ไข ‘วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เปิดให้จัดตั้ง สสร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิก สสร. ทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และเป็นการเลือกตั้งกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศที่การเมืองเปิดกว้างไปสู่การสร้างสังคมใหม่ เพื่ออาศัยกระบวนการของ สสร. เปิดให้สังคมนำปัญหาที่มีความขัดแย้งมาถกเถียงกันได้ในทุกประเด็น และออกแบบกติกาใหม่ที่ทั้งสังคมจะยอมรับร่วมกันได้ สำหรับใช้ต่อไปในอนาคตอีกยาวนาน 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising