วันนี้ (18 ธันวาคม) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายจากโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เนื่องจากย้ายบ้านก่อนการเลือกตั้งไม่ถึง 1 ปี ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 38 (3) เป็นบทบัญญัติที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุและขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปีนั้นขัดกับสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น
เพราะตามมาตรา 106 ของ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีการกำหนดระยะเวลาว่าต้องมีชื่อในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันถึงวันเลือกตั้ง แต่หากมีชื่อในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 90 วัน ก็ยังสามารถไปลงคะแนนได้ที่ภูมิลำเนาเดิม แต่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกับมีการกำหนดที่แตกต่างออกไป
“ถ้ากฎหมายหรือระบบให้ความสำคัญ ให้คืนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ ก็ต้องวางเงื่อนไขให้เอื้อต่อการเลือกตั้งมากกว่านี้ แม้จะเข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ต้องการป้องกันการทุจริต การขนคนไปเตรียมรอเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าน่าจะมีมาตรการหรือวิธีการอื่นที่จะป้องกันปัญหา โดยไม่ต้องมาจำกัดสิทธิของคนที่ย้ายบ้านโดยที่ไม่ได้ทำผิดอะไร” อัมรินทร์กล่าว
อัมรินทร์ยังเห็นว่า การที่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้อยู่ในพื้นที่เลือกตั้งครบ 1 ปีจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ที่ไปซื้อบ้าน เรียนหนังสือ ทำงานต่างถิ่น จะต้องวางแผนล่วงหน้าถึง 1 ปี ที่พบว่านอกจากตนเองที่ซื้อบ้านแล้วย้ายเข้าไปอยู่ยังไม่ครบ 1 ปี ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ยังมีผู้ที่รู้จักซึ่งย้ายทะเบียนบ้านวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิเลือก อบจ. วันที่ 20 ธันวาคม ทั้งที่ขาดเพียง 3 วัน จะครบ 1 ปีตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เรื่องนี้จะกระทบกับอีกหลายคนที่จะเสียสิทธิในการเลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่จะมีขึ้นหลังจากนี้
ด้าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมืองที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมเพื่อเป็นการให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการที่จะไปเลือกตั้ง ส.ส. ในระดับประเทศต่อไป ซึ่งก็ต้องไปดูเหตุผลว่าทำไมกฎหมายถึงมีความแตกต่างกันระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งท้องถิ่นว่ามีที่มาที่ไปในการร่างกฎหมายหรือการวางกฎเกณฑ์เหล่านี้มีเหตุผลสมควรหรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่ ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล