รายงานสถานการณ์หนี้ทั่วโลกฉบับล่าสุดของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าหนี้ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 8.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 305 ล้านล้านดอลลาร์
โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณหนี้ทั่วโลกสั่งสมเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับ ‘วิกฤตการปรับตัว’ ต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างรวดเร็วของบรรดาธนาคารกลาง นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมานานกว่าหนึ่งปีเพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
ขณะเดียวกันสถานการณ์หนี้โดยรวมยังคงน่ากังวล เนื่องจากธนาคารกลางส่วนใหญ่ รวมถึง Fed และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงมีแนวโน้มดำเนินมาตรการนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Fed เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปสู่ระดับ 5.0-5.25% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2007
รายงานของ IIF ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในระดับสูงจะกระตุ้นให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และส่งผลให้มี ‘บริษัทซอมบี้’ (Zombie Firms) มากขึ้น โดยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ราว 14% ที่เข้าข่ายดังกล่าวแล้ว
ขณะเดียวกัน ภาระหนี้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่หนึ่งของปี 2023 ยังถือเป็นการเพิ่มขึ้นรายไตรมาสครั้งที่สองติดต่อกันหลังจากลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสก่อนหน้าที่มีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดในปีที่แล้ว โดยบรรดาองค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวผลักดันให้ปริมาณหนี้ขยับเพิ่มมากขึ้น
IIF กล่าวว่า ขณะนี้หนี้ทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 305 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาดราว 45 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการกู้ยืมเงินของภาครัฐก็ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะที่หนี้โดยรวมของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ก็ทำสถิติพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 250% ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 75 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดย จีน, เม็กซิโก, บราซิล, อินเดีย และตุรกี เป็นผู้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นรายใหญ่ที่สุด ขณะที่ในส่วนของกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว ประเทศญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รวดเร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้
นอกจากนี้ IIF ยังชี้ว่า ปัจจัยด้านประชากรสูงวัย ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น และช่องว่างทางการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างแรงกดดันต่องบดุลของรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลอย่างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ทำให้มีโอกาสที่การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศจะเพิ่มขึ้นในระยะกลาง จนอาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของทั้งรัฐบาลและผู้กู้ภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ หากแนวโน้มของสถานการณ์ข้างต้นยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยยังคงสูงต่อไปอีกนาน ก็จะมีนัยสำคัญต่อตลาดตราสารหนี้ระหว่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
อ้างอิง: