ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และโลกธุรกิจแข่งขันกันอย่างดุเดือด ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่มีทักษะและความรู้ที่ด้านดิจิทัลขั้นสูง กลายเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนากำลังคนจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม Le Grand Ballroom ชั้น 7 โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคน : ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยนวัตกรรมจุดประกายประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ‘IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER’
จุดประกายอนาคตด้วยนวัตกรรม
แผนพัฒนากำลังคน ‘IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER’ นี้มีเป้าหมายหลักในการสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ศุภมาส อิศรภักดี รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า “แนวคิดจุดประกายประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านบุคลากรยุคใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ IGNITING THAILAND’S BRAINPOWER เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ที่อยากผลักดันให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูง พร้อมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นอีกกำลังสำคัญหนึ่งของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับโจทย์ความท้าทายนี้ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้เป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ใช้ประโยชน์ อันจะเป็นระบบนิเวศการสร้างและพัฒนาบุคลากรสมรรถนะและทักษะสูงได้อย่างครบ Value Chain”
แผนพัฒนาคนสู่เป้าหมายใน 5 ปี
บพค. ในฐานะหน่วยงานหลักขับเคลื่อนแผนพัฒนาคน ครั้งนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยของประเทศไว้ที่จำนวน 40 คนต่อประชากร 10,000 คนภายในปี 2570 และตั้งเป้าจะผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ 3 อุตสาหกรรมภายใน 5 ปี
- อุตสาหกรรม EV จำนวน 3,600 คน
- อุตสาหกรรม Al ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์และ EV จำนวน 4,400 คน
- อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จำนวน 9,500 คน
ความร่วมมือเพื่ออนาคต
ความสำเร็จของแผนงานนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านบุคลากรที่มีคุณภาพสูง
ภายในงานมีเสวนาพิเศษในหัวข้อ ‘จุดประกายประเทศไทย : พลังคนไทยสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรม’ เชื่อมโยงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคน รวมถึงพูดคุยประเด็นความท้าทายและโอกาสจากการพัฒนาคนในยุคแห่ง Disruptive Technology โดยมี ศ. ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.), ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ และ รศ. ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ร่วมเสวนา
[ADVERTORIAL]