×

‘ไอคอนสยาม’ ครบ 1 ปี พบนักท่องเที่ยวใช้เงินเกินหมื่นต่อหัว ดันทรู ไอคอน ฮอลล์ ขึ้น MICE Hub แห่งใหม่ หลังยอดจองเต็มข้ามปี

30.10.2019
  • LOADING...
ไอคอนสยาม

นับตั้งแต่ 10 พฤศจิกายนปีที่แล้วจนถึงวันนี้ (วันเปิดตัวศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการ) อภิมหาโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา ‘ไอคอนสยาม’ ที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนของ 3 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ ได้เปิดให้บริการมาเกือบครบ 1 ปีเต็มแล้ว

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาที่ไอคอนสยามได้เปิดต้อนรับผู้ใช้บริการเข้ามาเยี่ยมเยือนศูนย์การค้า พบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยรวมมากกว่าประมาณ 80,000-120,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35% แบ่งเป็นจีน, เกาหลี/ไต้หวัน, อินเดีย และกลุ่ม CLMV ตามลำดับ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีที่แล้วเล็กน้อยที่ 5%

 

ส่วนยอดใช้จ่ายต่อนักท่องเที่ยว 1 คนก็นับว่าสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไป ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10,000-15,000 บาท ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับสินค้าในกลุ่มลักชัวรีแบรนด์เป็นหลัก ขณะที่แบรนด์ส่วนใหญ่ก็มีลูกค้าหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากฐานลูกค้าเดิมถึง 40% และมียอดขายในสโตร์สูงเป็นอันดับ 2 รองจากสยามพารากอน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างสงกรานต์หรือปีใหม่ ก็พบว่ามีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าเฉลี่ยมากถึง 200,000 และ 350,000 รายต่อวัน ตามลำดับ

 

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลียฯ ได้ร่วมกันลงนามพัฒนาโครงการมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 50 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความท้าทายและความผันผวนทางเศรษฐกิจ 

 

และแม้ว่าตัวเธอเองจะมองโครงการนี้ว่า ‘ไม่ง่าย’ ทั้งปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ดิน และระยะเวลาในการคิกออฟโครงการ แต่ในที่สุดก็สามารถทำออกมาได้สำเร็จ เปิดให้บริการได้ทันตามกำหนดการในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายการทำให้ตัวโครงการไอคอนสยามเป็น ‘สัญลักษณ์แห่งใหม่ของประเทศไทย’

 

มีการเปิดเผยว่าไอคอนสยามสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศผ่านการเปิดหน้าร้านและสโตร์ใหม่ๆ ในตัวโครงการ คิดเป็นมูลค่ามากถึง 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ Apple Store สาขาแรกในไทย รวมถึงแฟลกชิปแบรนด์ไฮเอนด์อื่นๆ และหากนับจนถึงปัจจุบัน ชฎาทิพบอกว่ายอดจองเช่าพื้นที่สโตร์ในศูนย์การค้าเต็มเป็นที่เรียบร้อย แถมยังมีแบรนด์อีกจำนวนมากกว่าหลายร้อยแบรนด์ที่อยู่ใน Waiting List 

 

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือการที่ศูนย์การค้าไอคอนสยามได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ​ โดยพบว่าหลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีการจ้างงานสูงกว่า 300,000 อัตรา และมีการสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้น 10-15% หรือประมาณวันละ 10,000 รายจากช่วงก่อนหน้านี้

 

เช่นเดียวกับที่ดินในย่านเจริญนคร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าเท่าตัว จากเดิมที่อยู่ประมาณตารางวาละ 150,000-250,000 บาท เพิ่มเป็นตารางวาละ 300,000-450,000 บาท 

 

โดยคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีทองที่น่าจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2563 ที่จะถึงนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสัญจรเข้าออกไอคอนสยามคึกคักมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2563 ที่จะถึงนี้น่าจะมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 150,000-200,000 รายต่อวันได้ไม่ยาก

 

อีกหนึ่งไฮไลต์เด็ดที่อยู่ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของไอคอนสยามที่เตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้คือ ‘ทรู ไอคอน ฮอลล์’ ซึ่งเคลมว่าเป็นศูนย์การประชุมระดับโลกแห่งแรกในไทยที่สามารถรองรับกลุ่มธุรกิจและผู้เข้าร่วมงานประชุมได้สูงถึง 2,700 คน พร้อมดันเป็น MICE Hub เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติและการแสดงระดับชั้นนำของโลก (หลังเปิดให้บริการ สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใช้บริการน่าจะเพิ่มเป็น 38%)

 

เพราะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มนักธุรกิจต่างชาติจะใช้เงินมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3-4 เท่า และด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานเกือบ 3,000 คน ก็ถือว่าสูงมากพอจะทำให้ยอดการจองเข้าพักโรงแรมในบริเวณใกล้เคียงเต็มได้แบบสบายๆ มากถึง 3-4 แห่ง

 

และแม้จะยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แต่ชฎาทิพก็บอกว่ายอดจองใช้บริการทรู ไอคอน ฮอลล์ ก็เต็มข้ามปีไปจนถึงช่วงปลายปี 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising