×

IBR Report เผยเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในหลายมิติ แม้ส่งออกยังคงซบเซา

30.09.2023
  • LOADING...
bangkok

รายงานธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Report: IBR) สำหรับครึ่งแรกปี 2566 ที่จัดทำโดย แกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton) ชี้ให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ลดลง โดยรายงานได้รวบรวมผลการสำรวจของธุรกิจในตลาดระดับกลาง (Mid-Market Business) เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มและสภาพธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้

 

เหล่าผู้นำทางธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ มีความคาดหวังเชิงบวกที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการเติบโตของธุรกิจหลังสถานการณ์โรคระบาด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รอคอยมาอย่างยาวนานที่ถูกเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างสงครามในยูเครน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงการกลับมาของโรคระบาดระลอกใหม่

 

ข้อจำกัดลดลง เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

 

คะแนนชี้วัดสุขภาพทางธุรกิจในปัจจุบันของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากคะแนนดังกล่าวนั้นติดอยู่ในแดนลบมาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

 

สำหรับภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ต่างรายงานการฟื้นตัวของตัวชี้วัดต่างๆ ในระดับที่ดีมาก คะแนนสุขภาพทางธุรกิจในปัจจุบันของภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 9.9 และประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 14.3 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม โดยคะแนนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากช่วงเวลาก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนและสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นไปในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญตามข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงาน

 

ในขณะเดียวกัน ข้อจำกัดด้านอุปทานและอุปสงค์ในประเทศที่เคยเป็นอุปสรรคเมื่อ 6 เดือนก่อนมีนัยสำคัญลดลงสำหรับธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทย โดยข้อจำกัดด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2 และข้อจำกัดด้านอุปสงค์ดีขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งอาจมีส่วนมาจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานี้ที่ส่งผลให้ข้อจำกัดด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้น

 

ส่งออกไม่ดี แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้?

 

เมื่อดูให้ลึกลงไป ผลการสำรวจจากธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยกลับบอกเล่าเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับคะแนนสุขภาพทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะสัดส่วนของกลุ่มธุรกิจส่งออกที่คาดหวังว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากคะแนนในครึ่งแรกของปี 2565 ที่ร้อยละ 64 แล้วลดลงไปเป็นร้อยละ 54 ในครึ่งหลังของปี 2565 ก่อนที่จะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 46 ในครึ่งแรกของปี 2566 ตัวเลขนี้ชี้ว่าการส่งออกของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน คะแนนรายได้ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น (จากร้อยละ 64 ในปีที่แล้วมาเป็นร้อยละ 73 ในปัจจุบัน) ความคาดหวังในการทำกำไรสูงขึ้น (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 82) รวมถึงภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นเชิงบวก (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 72) ส่วนคะแนนการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน (จากเดิมร้อยละ 36 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 52) เช่นเดียวกันกับการลงทุนด้านทักษะพนักงาน (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 59) และการลงทุนด้านไอที (จากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 60) แต่เนื่องจากการแข่งขันที่ดุดันขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนของอาเซียนยังคงสูงกว่าคะแนนของประเทศไทยในด้านต่างๆ เหล่านี้

 

คำตอบสำหรับตัวเลขในมิติต่างๆ ของเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะไปคนละทิศทาง โดยเฉพาะการส่งออกและรายได้กับภาพรวมธุรกิจของไทย เป็นเพราะว่าปัจจัยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ การมาถึงของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดสภาพคล่อง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้แม้จะไม่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นก็ตาม

 

นอกจากนี้ การบริโภคของภาคเอกชนในประเทศยังได้รับแรงหนุนจากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve และโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการ One Bangkok, การขยายสนามบินอู่ตะเภา และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป โครงการเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น 

 

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเป็นปัญหาหลักต่อการเติบโตของไทย (ร้อยละ 50) ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่น่าจะมีบทบาทสำคัญ และส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยรวม ควบคู่ไปกับแรงกดดันทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นอาจช่วยขจัดความไม่แน่นอนบางประการได้

 

ข้อจำกัดอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทย ได้แก่ ต้นทุนพลังงาน (ร้อยละ 44) และกฎระเบียบต่างๆ (ร้อยละ 32) แต่สิ่งที่น่ากังวลน้อยกว่าหน่อย ณ ขณะนี้ คือความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ (ร้อยละ 24) แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของประเทศที่กำลังไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

*หมายเหตุ: รายงานธุรกิจระหว่างประเทศครึ่งแรกประจำปี 2566 จัดทำโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้นำธุรกิจขนาดกลางประมาณ 5,000 ราย (รวมทั้งธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 100 ราย) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของปีนี้ ร่วมกับ Oxford Economics

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X