เยอรมนีทุ่ม 500 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนบนพื้นที่อุตสาหกรรม จังหวัดอาเจะห์ ภาคเหนือของอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังเยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลกกำลังหันไปให้ความสำคัญกับ ‘พลังงานสะอาด’ มากขึ้น เห็นได้ชัดจากแรงหนุนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานไฮโดรเจนเองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังมาแรง แม้ว่าจะมีต้นทุนและการลงทุนมหาศาล แต่เพื่อเป้าหมายลดคาร์บอน ไทยและอีกหลายประเทศต่างก็เริ่มขยับเปิดรับการลงทุน เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทางเลือกหรือทางรอด? เหตุใดอินเดียยอมทุ่มเงินมหาศาลให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่และไฮโดรเจน เพื่อดันให้เป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- เปิดเหตุผลที่ Yamaha เลือกลงทุนกับไฮโดรเจนเพื่อรักษาสถานะผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และตลาด EV ในญี่ปุ่น
- มิติใหม่วงการรถยนต์! ครั้งแรกของไทย Toyota ผลิตไฮโดรเจนจากมูลไก่และเศษอาหารจากฟาร์ม CP
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า บริษัท Augustus Global Investment ของเยอรมนีวางแผนที่จะลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานไฮโดรเจนสีเขียวบนพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม จังหวัดอาเจะห์ ภาคเหนือของอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อปี โดยไฮโดรเจนที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะส่งออกไปยังเยอรมนี ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เบื้องต้นบริษัทได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทภายใต้รัฐบาลอินโดนีเซีย เช่น PT Pupuk Indonesia และ PT Pupuk Iskandar Muda และบริษัทสาธารณูปโภคของรัฐ PT Perusahaan Listrik Negara สำหรับการจ่ายไฟฟ้าและเพื่อการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ปัจจุบันนโยบายภาคพลังงานอินโดนีเซียมีเป้าหมายมุ่งสู่การบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ความท้าทายด้านประชากรที่มีชนชั้นกลางและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นนอกจากอินโดนีเซียจะมุ่งดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โจโก วิโดโด นายกรัฐมนตรี ก็ผลักดันอุตสาหกรรมไฮโดรเจนสีเขียวและเปิดรับการลงทุน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Chevron ในโครงการดักจับคาร์บอน (CCUS) และมีการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพโดยบริษัท Pertamina บริษัทพลังงานแห่งชาติ พัฒนากรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) พื้นที่อูลูเบลู โดยตั้งเป้าผลิตถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน และยังผลิตพลังงานจากน้ำเกลือเข้มข้นในพื้นที่ลาเฮนดอง ที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตถึง 200 เมกะวัตต์ จากแหล่งพื้นที่ต่างๆ
รวมถึงยังมีบริษัทในเครือ PLN (บริษัทพลังงานของรัฐอินโดนีเซีย) ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทญี่ปุ่น วิจัยแอมโมเนียในโรงไฟฟ้าถ่านหินจนประสบความสำเร็จ ด้วยการนำแอมโมเนีย 20% เป็นส่วนผสมเชื้อเพลิงกับไฮโดรเจน สามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการบนเกาะซุมบาในอินโดนีเซียตะวันออก ที่นำเมทานอลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาเคมีของไฮโดรเจนกับก๊าซอื่นๆ ที่มีศักยภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น ใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน โดยในอนาคตจะเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในวงกว้างทดแทนก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมหาศาลจากนักลงทุน
อ้างอิง: