รัฐบาลคลอดมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับการผลิตรถยนต์ดั้งเดิมครอบคลุมกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ ให้สิทธิยกเว้นภาษี 50% ของเงินลงทุนระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ เวลา 3 ปี หนุนค่ายรถรายเดิมเปลี่ยนเทคโนโลยีหรือปรับสู่ EV
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ไฟเขียวชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เพื่อเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนี้
- ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์
- ในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว
- ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์รวมถึงชิ้นส่วนถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออก
อีกทั้งจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนมีมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ไทยมีการผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก
แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (Tier 1) 530 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Tier 2) และลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 1,750 ราย
นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 9 เดือนแรก จีนยังคงครองแชมป์สูงสุด และล่าสุดบีโอไอยังได้อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย, นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศถือเป็นประเทศเป้าหมายในการดึงการลงทุนมายังไทย
โดยปีนี้ถือว่ามีกลุ่มทุนต่างชาติหลายรายยังเดินหน้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 กลุ่ม คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
- ซัมซุง
- เคียวเซร่า เอวีเอ็กซ์
- แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์
- โตชิบา
- เซมิคอนดักเตอร์
- โซนี่
และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV โดยมีผู้ผลิตจากจีน 3 รายล่าสุด ที่เพิ่งได้รับอนุมัติ ได้แก่
- ฉางอัน
- ไอออน
- โฟตอน
นฤตม์กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนเอกชนมาก ดังนั้นการเดินทางไปประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่จะถึงนี้ได้มีการประสานว่าจะมีบริษัทชั้นนำระดับโลกมากกว่า 10 ราย ได้แก่ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และรถยนต์ EV มาพบนายกฯ รวมถึงการพบปะครั้งนี้ยังเป็นการติดตามผลการดำเนินงานจากการพูดคุยครั้งก่อนที่นิวยอร์กอีกด้วย