×

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย (ปี 2565) Docudrama ผ่าความฟอนเฟะวงการมวยไทย

19.07.2022
  • LOADING...
Hurts Like Hell

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ความทะเยอทะยานที่น่าชื่นชมของซีรีส์ Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย อยู่ตรงที่มันไม่ได้โฟกัสเพียงแค่ประเด็นหนึ่งประเด็นใด หรือตัวละครหนึ่งตัวละครใด ทว่าตัวซีรีส์พยายามวาดให้ผู้ชมเห็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นระบบนิเวศในวงการมวยไทย ซึ่งแต่ละส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างแบ่งแยกไม่ได้ ข้อสำคัญคือมันเป็นเหมือนแดนสนธยาที่ไม่มีอะไรโปร่งใสหรือสะอาดสะอ้านสักอย่างเดียว 
  • ส่วนที่ทำให้ซีรีส์ 4 ตอนจบเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องแนวกระเทาะความโสมมของวงการต่างๆ ในสังคม ก็ได้แก่ การผสมผสานวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์สารคดีกับเรื่องแต่งเข้าไว้ด้วยกัน พาร์ตเรื่องแต่ง ได้แก่ การที่ผู้สร้างพาผู้ชมไปสอดส่องเรื่องของตัวละครตามแนวเรื่องแบบ ‘หลายชีวิต’ และแต่ละคนก็มีเงื่อนไข ปัญหา และความยุ่งยากเฉพาะของตัวเอง  
  • พาร์ตที่จุดประกายให้ซีรีส์ดูมีชีวิตชีวาและชวนให้ติดตามมากขึ้นก็คือ การให้สัมภาษณ์ของบรรดาตัวบุคคลจริงๆ ในวงการมวยไทย ซึ่งมันช่วยเสริมให้เนื้อหาในส่วนที่เป็นเรื่องแต่งดูขึงขังขึ้นทันตา และเราก็ได้เห็นใบหน้าที่คุ้นเคยอย่าง สมิงขาว นักพากย์และนักวิจารณ์มวยที่คร่ำหวอดวงการ, เขาทราย แกแล็คซี อดีตแชมป์โลกหลายสมัย และ สมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งทั้งสองคนล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการชกมวยไทย 

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย ผลงานกำกับของ กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ เป็นซีรีส์จำกัดตอนที่เผยแพร่ทางช่อง Netflix ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเราคนนอกอยากรู้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปถามใคร เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครบอกเล่าให้ฟังตรงๆ

 

ความทะเยอทะยานที่น่าชื่นชมของซีรีส์ Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย อยู่ตรงที่มันไม่ได้โฟกัสเพียงแค่ประเด็นหนึ่งประเด็นใด หรือตัวละครหนึ่งตัวละครใด ทว่าตัวซีรีส์พยายามวาดให้ผู้ชมเห็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นระบบนิเวศในวงการมวยไทย ซึ่งแต่ละส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างแบ่งแยกไม่ได้ ข้อสำคัญคือมันเป็นเหมือนแดนสนธยาที่ไม่มีอะไรโปร่งใสหรือสะอาดสะอ้านสักอย่างเดียว 

 

และถ้าหากจะลองจำแนกแยกแยะยูนิเวิร์สนี้อย่างคร่าวๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ประกอบด้วย นักมวย, ครูมวย, พี่เลี้ยงและทีมงาน, กรรมการ และแน่นอน คนดู ซึ่งจากที่ผู้สร้างระบุไว้ในตอนแรก จุดประสงค์ของแฟนมวยแทบจะร้อยทั้งร้อยที่เดินเข้าสนามก็เพื่อเล่นพนันขันต่อผ่านการส่งสัญญาณมือที่รับรู้กันอย่างไม่ต้องเคอะเขินเหนียมอาย ข้อความในช่วงเปิดเรื่องระบุว่า จำนวนคนที่เกี่ยวข้องในวงจร ‘การเล่นมวย’ มีมากถึง 5 แสนคน และเม็ดเงินไหลเวียนก็สูงถึงปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนที่ทำให้ซีรีส์ 4 ตอนจบเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องแนวกระเทาะความโสมมของวงการต่างๆ ในสังคม ก็ได้แก่ การผสมผสานวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์สารคดีกับเรื่องแต่งเข้าไว้ด้วยกัน พาร์ตเรื่องแต่ง ได้แก่ การที่ผู้สร้างพาผู้ชมไปสอดส่องเรื่องของตัวละครตามแนวเรื่องแบบ ‘หลายชีวิต’ และแต่ละคนก็มีเงื่อนไข ปัญหา และความยุ่งยากเฉพาะของตัวเอง

 

 

แต่พาร์ตที่จุดประกายให้ซีรีส์ดูมีชีวิตชีวาและชวนให้ติดตามมากขึ้นก็คือ การให้สัมภาษณ์ของบรรดาตัวบุคคลจริงๆ ในวงการมวยไทย ซึ่งมันช่วยเสริมให้เนื้อหาในส่วนที่เป็นเรื่องแต่งดูขึงขังขึ้นทันตา และเราก็ได้เห็นใบหน้าที่คุ้นเคยอย่าง สมิงขาว นักพากย์และนักวิจารณ์มวยที่คร่ำหวอดวงการ, เขาทราย แกแล็คซี อดีตแชมป์โลกหลายสมัย และ สมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งทั้งสองคนล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการชกมวยไทย หรืออีกคนหนึ่งที่น่าเชื่อว่าใครที่คุ้นเคยกับวงการมวยสากลสมัครเล่นอยู่บ้างก็น่าจะยังไม่ลืมชื่อ วันชัย ผ่องศรี อดีตนักมวยสมัครเล่นทีมชาติ ผู้ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นกรรมการห้ามบนเวที

 

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอในส่วนของตัวบุคคลจริงก็คือ ผู้สร้างใช้การตั้งกล้องในลักษณะที่กำหนดให้คนเหล่านั้นจ้องมองตรงมาที่คนดู (อาจจะเปลี่ยนเซ็ตอัพของภาพบ้างในบางจังหวะคำพูด นัยว่าเพื่อเน้นและไม่เน้นถ้อยคำเหล่านั้น) และทีละน้อย คำพูดที่พรั่งพรูก็ฟังเหมือนกับคำให้การของประจักษ์พยานในชั้นศาล รวมถึงพวกเราน่าจะตระหนักได้ว่า ข้อเท็จจริงที่คนเหล่านั้นบอกเล่าก็เรื่องหนึ่ง ทว่าทัศนะของพวกเขาก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราคนดูต้องเห็นพ้องร้อยเปอร์เซ็นต์ และอะไรบางอย่างบอกโดยอ้อมว่า หลายคนก็พูดแบบเข้าข้างตัวเองหรือมีเอี่ยวกับเรื่องที่บอกเล่า และส่วนที่สะดุดความรู้สึกอยู่พอดูก็ตรงที่แอ็กติ้งของ ‘ซับเจ็กต์’ บางคนไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติเท่าไรนัก (เหมือนถูกคนทำภาพยนตร์ไกด์ไม่มากก็น้อย) และเอาเข้าจริงกลายเป็นว่าช่วงที่คนเหล่านี้ไม่ได้พูดอะไร และผู้สร้างใช้การจับภาพนิ่งๆ กลับเป็นโมเมนต์ที่น่าสนใจ เพราะอย่างน้อยมันดู ‘จริง’ กว่าตอนที่เขาพูดอะไรๆ ออกมา

 

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่นับเป็น ‘วิทยาทาน’ สำหรับคนดูอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ บรรดาข้อมูลความรู้ในเชิงเทคนิคทั้งหลายทั้งปวง ทั้งศัพท์แสงในวงการพนัน (ล้อมกิน, ขายเบอร์) หรือลูกเล่นสกปรกกว่านั้น อย่างเช่น การวางยานักมวย ซึ่งมักจะเป็นฝีมือของคนกันเอง หรือหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีกก็ตรงที่กรรมการเองดันขอมีส่วนแบ่งในเค้กผลประโยชน์ด้วยอีกคน และถ้าหากจะสรุปสิ่งละอันพันละน้อยจากที่บรรดาผู้สันทัดกรณีบอกเล่าในซีรีส์เรื่องนี้ มันก็ตอกย้ำว่า วงการมวยเป็นยิ่งกว่าภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ที่ไม่มีใครไว้เนื้อเชื่อใจได้สักคน การทรยศหักหลังเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแต่ละคนที่ก้าวเท้าเข้ามาต้องยอมรับเงื่อนไขนี้และเผชิญความเสี่ยงกันแบบตัวใครตัวมัน

 

ส่วนที่ดูจะเป็นปัญหาพอสมควรอยู่ที่พาร์ตดราม่า จริงๆ แล้ววิธีการที่ผู้สร้างใช้การชกมวยสองคู่ ซึ่งก็คือคู่เด็กกับคู่ผู้ใหญ่ เป็นเสมือนแกนกลางของเรื่องที่รายละเอียดน้อยใหญ่งอกเงยจากตรงนั้น ก็นับเป็นกลวิธีที่ฉลาดทีเดียว ทำนองว่ามันถูกใช้เพื่อจำลองความฉ้อฉลในวงการมวยไทยได้อย่างรัดกุม แต่จะด้วยผู้สร้างไม่มีเวลาและพื้นที่มากพอหรืออะไร เนื้อหาในส่วนที่เรียกว่าเป็นภาคขยาย อันได้แก่ เรื่องของตัวละครแต่ละคน กลับไม่กลมกล่อมและหนักแน่นอย่างที่น่าจะเป็น บางเรื่องหรือหลายเรื่องดูบางเบา สำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งรู้สึกได้ว่ามันค่อนข้างยัดเยียดเกินไป 

 

หนึ่งในนั้น ได้แก่ เรื่องของ พัด (ณัฏฐ์ กิจจริต) เซียนมวยรุ่นเล็กที่อาจหาญปีนเกลียวรุ่นใหญ่ที่ชื่อ คม (‎ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) เนื่องเพราะเขาหวังจะสร้างเนื้อสร้างตัวในฐานะหัวหน้าค่ายมวยแบบเรียนลัด ข้อสำคัญคือ ชายหนุ่มยังถูก มินต์ (ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย) ภรรยาที่กำลังตั้งท้องทั้งรบเร้าและทวงถามถึงความมั่นคงในชีวิต โดยปริยาย…นั่นอธิบายโดยอ้อมว่าทำไมเขาถึงล้ำเส้นความเป็นเซียนเด็ก อันได้แก่ การเดินข้ามไปอีกฟากของอัฒจันทร์ เพื่อ ‘ขอจับ’ กับขาใหญ่อย่างชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม

 

ส่วนตัวรู้สึกว่าเราได้เห็นแต่ ‘เฉพาะภายนอก’ ของพัด และหยั่งไม่ได้ว่าข้างในของเขามันคุกรุ่นหรือเดือดพล่านเพียงใด (ไม่ว่าจะด้วยบทหรือการกำกับ) จนกระทั่งมันระเบิดออกมาอย่างคลุ้มคลั่งในตอนท้ายของอีพีแรกนั่นแหละ ซึ่งบางทีมันก็สายเกินไปหน่อยที่ผู้ชมจะรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์มนา แง่มุมที่อ่อนไหวเปราะบาง ตลอดจนการเผชิญภาวะกดดันของตัวละคร 

 

 

แต่กรณีของพัดก็ยังน่าเสียดายน้อยกว่าเรื่องของ วิรัตน์ (วิทยา ปานศรีงาม) กรรมการห้ามมวยซึ่งถูกบอกเล่าในอีพีสอง ว่ากันตามจริงประเด็นกรรมการห้ามมวยเล่นโกงเสียเอง ถือเป็นพล็อตย่อยอันแสนโอชะทีเดียวสำหรับแนวเรื่องที่ว่าด้วยผู้คนที่แหวกว่ายในโลกทุรชน หรือพูดง่ายๆ สังคมที่อำนาจตุลาการฉ้อฉลหรือกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอิทธิพลเสียเอง มันก็ไม่เหลืออะไรให้ยึดเหนี่ยวได้อีกต่อไป 

 

แต่พอซีรีส์พาคนดูไปรับรู้ตื้นลึกหนาบาง มันกลับกลายเป็นเมโลดราม่าครอบครัว ซึ่งในแง่ของชั้นเชิงและกลวิธี มันดู ‘พยายาม’ จะกระตุ้นเร้าอยู่สักหน่อย และคำอธิบายเกี่ยวกับตัวละครนี้ก็ออกจะง่ายดายเกินไป ทั้งๆ ที่เนื้อหาส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับตัวละครนี้ก็นับว่าดึงดูด ชวนให้อยากรู้อยากเห็น ทั้งรูปโฉมโนมพรรณตัวละคร (การคัดเลือกคุณวิทยาสำหรับบทนี้ดูเหมาะสมจริงๆ) เสื้อผ้าที่สวมใส่ การให้เห็นว่าเขาทำอะไรในช่วงที่ไม่ได้ห้ามมวย (ซึ่งก็คืออ่านนิตยสารหมัดมวย) หรือโมเมนต์ที่เจ้าตัวตัดสินใจว่านี่คือเสี้ยววินาทีของการ ‘รับงาน’ 

 

 

กลายเป็นว่าตอนที่โดดเด่นสุดคืออีพีสามที่ว่าด้วยชีวิตของนักมวยเด็กที่ชื่อ วิเชียร (ภูริภัทร พูลสุข) ผู้ซึ่ง ‘แบ็กสตอรี’ ของเขาก็เป็นเรื่องเก่าแก่พอๆ กับวงการมวยนั่นแหละ เด็กน้อยเลือกเส้นทางนี้เพราะความยากจน และแรงกดทับไม่ได้เพียงแค่มาจากการต้องเจอความโหดของครูมวย (นพชัย ชัยนาม) ที่ทั้งปลุกปั้น ฉกฉวย และเอาเปรียบไปพร้อมๆ กัน ทว่าผู้สร้างยังแทรกปมจิตวิทยาที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์ อันได้แก่ ตอนที่เจ้าหนูต้องทนเห็นแม่ของตัวเองถูกพ่อขี้เมาข่มขืน และดูเหมือนว่าหนทางของการระบายความคับแค้นของวิเชียรก็คือการต่อยมวย ซึ่งทางอ้อมตัวเลือกนี้น่าจะพาเขาออกไปจากปลักตมของชีวิต 

 

ข้อมูลบอกว่า ภูริภัทรเป็นนักมวยจริงๆ เลยไม่แปลกที่ท่วงท่าและลีลาจะดูทะมัดทะแมง แต่ที่น่าทึ่งก็ตรงที่น้องแสดงได้สมบทบาทจริงๆ สีหน้าที่ดูเรียบเฉย (ซึ่งตัดกับ ‘การเล่นใหญ่’ ของนักแสดงเกือบทุกคน) นอกจากไม่ได้บอกถึงความว่างเปล่า แต่แอบซ่อนความเจ็บปวด คับแค้น และรู้สึกว่าตัวเองต้องเอาชนะความบัดซบของชีวิตให้จงได้ 

 

อีกหนึ่งหรือสองอย่างที่ซีรีส์พร่องไปหน่อยก็คือฉากชกมวย ซึ่งน่าจะถึงพริกถึงขิงกว่านี้ ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบการต่อสู้ หรือด้วยแท็กติกด้านภาพยนตร์ จนส่งผลให้ฉากแลกหมัดบนจอหลายช่วงดูค่อนข้างอืดอาดยืดยาด และในขณะที่มู้ดและโทนผ่านการใช้สีและการจัดแสงขมุกขมัว สร้างบรรยากาศที่ไม่ชอบมาพากลได้เป็นรูปธรรม และช่วยกลบเกลื่อนความเป็น ‘ฉาก’ ของสนามมวยได้ตามควรแก่อัตภาพ แต่ความไม่แนบเนียนของงานสร้างส่วนนี้ก็ยังคงรบกวนความรู้สึกอยู่เนืองๆ 

 

 

รวมๆ แล้วความพยายามและความทะเยอทะยานของผู้สร้างซีรีส์เรื่อง Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย เป็นเรื่องที่ผู้ชมน่าจะมองเห็นตรงกัน แต่ก็อย่างที่บรรยายมาทั้งหมด หลายส่วนดูขัดข้องและนำพาให้มันเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างไม่ค่อยราบรื่น 

 

กระนั้นก็ตาม ในแง่เนื้อหาสาระ ผู้สร้างสามารถทำให้คนดูได้เห็นด้านที่แสงสว่างส่องไม่ถึงของวงการมวยไทย ที่ไม่มีอะไรสักอย่างที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ และแท้ที่จริงมันคือสังเวียนการพนันที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย และนักมวยซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักของวงจรนี้กลับอยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร และมีสถานะที่เปรียบได้กับหมาไล่เนื้อดีๆ นี่เอง

 

Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย (ปี 2565) 

กำกับ: กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ 

นักแสดง: ณัฏฐ์ กิจจริต, วิทยา ปานศรีงาม, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, นพชัย ชัยนาม และ ภูริภัทร พูลสุข 

 

ภาพ: Netflix

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X