×

ทำความเข้าใจ Hunger Strike หรือการอดอาหารประท้วง กับ มโนธรรมสำนึกของผู้มีอำนาจ ผ่าน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

โดย THE STANDARD TEAM
02.02.2023
  • LOADING...

วานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธีศึกษา ให้สัมภาษณ์กับรายการ THE STANDARD NOW เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD ดำเนินรายการโดย ออฟ-พลวุฒิ สงสกุล กรณีตะวัน-แบม 2 นักกิจกรรมอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า มีข้อแตกต่างระหว่างการอดอาหารประท้วงกับการอดอาหารแบบ ‘คานธี’ ซึ่งเป็นการถือศีลอดอาหารประท้วง

 

สำหรับปรากฏการณ์ล่าสุดที่สัญญาณจากรัฐสภาออกมาดี แต่ก็เป็นอาการของโรคที่เกิดแบบนี้ทั่วโลก พอเกิด ‘Hunger Strike’ แล้ว ก็จะไม่มีรัฐบาลไหนยอมให้นักโทษตายคามือ (ขณะถูกคุมขัง) เพราะต้นทุนสูงเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและมีการค้นพบในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ใช่ชาวพุทธ แต่จะขอพูดเรื่องกรรมในสังคมไทยสักนิดหน่อย

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ทั้งแบมและตะวันเข้าใจไม่ถูกในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะเขาอาจจะรู้แต่เขาอาจจะไม่ได้สนใจข้อแตกต่างระหว่างการอดอาหารประท้วง ‘Hunger Strike’ กับการถือศีลอดอาหารจนตัวตายแบบ ‘คานธี’

 

ประเด็นสำคัญคือ ‘คานธี’ พูดไว้ชัดเจน การถือศีลอดอาหารประท้วงของคานธีถือเป็นอาวุธขั้นสุดท้ายของอหิงสา

 

เป็นการกระทำทางจิตวิญญาณที่มุ่งเข้าหาพระเป็นเจ้า ซึ่งในทัศนะของคานธีคือสัจจะ ผลของการกระทำนี้ต่อชีวิตผู้อื่น ก็คือเมื่อคนอดอาหารเป็นที่รู้จักของผู้คน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ

 

ถ้าไม่เป็นที่รู้จักก็ไม่ได้ผล ทำเพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกที่หลับใหลอยู่ของพวกเขาให้ตื่นขึ้น แปลว่าการอดอาหารแบบนี้จนตัวตายทำเพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของเป้าหมาย วิธีการนี้มีข้อจำกัดอยู่

 

หากเป้าหมายคือรัฐบาลหรือนักการเมืองฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมมติเป็นเช่นนี้ ถ้าหากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีมโนธรรมสำนึกก็ปลุกไม่ขึ้น

 

“การอดอาหารประท้วงจะใช้การได้กับคนที่รักคุณเท่านั้น ชีวิตของคานธีก็ต่อสู้กับอังกฤษมาตลอด แต่คานธีไม่เคยอดอาหารประท้วงอังกฤษเลย เพราะอังกฤษเขาคงไม่ได้อยากเห็นคานธีมีชีวิตอยู่ เขาคงอยากเห็นคานธีตาย ฉะนั้นหากคานธีอดอาหารจนตายเขาก็ดีใจ ดังนั้นการถือศีลอดอาหารประท้วงจนตัวตายมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องทำกับคนที่รักคุณ เช่น หากเรามีพ่อเป็นคนติดเหล้า แล้วพ่อไม่ยอมเลิก เราก็บอกพ่อว่าเราอดอาหารประท้วง ถ้าพ่อไม่เลิกลูกจะอดอาหารจนตาย พ่อรักเราพ่อจึงยอม

 

“เงื่อนไขที่ทรงพลังเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ความรักและมโนธรรมสำนึก ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องกับ ‘Hunger Strike’ หรือการอดอาหารประท้วง” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า การอดอาหารประท้วงเป็นกิจกรรมที่ใช้กันมาทั่วโลก ตัวอย่างในประวัติศาสตร์มีตั้งแต่คัมภีร์ไบเบิล มีทั่วไปในโลกตลอดประวัติศาสตร์ 200-300 ปีทุกแห่ง รวมถึงประเทศไทยก็มี เช่น กรณี ‘ฉลาด วรฉัตร’ ซึ่งการอดอาหารประท้วงเป็นการต่อสู้เพื่อกดดัน เคสที่เห็นชัดที่สุดคือนักโทษจากไอร์แลนด์เหนือในคุกอังกฤษอดอาหารประท้วงบ่อยครั้ง แต่เขาไม่ได้อดอาหารประท้วงเพื่อพูดการเมืองใหญ่ว่าอังกฤษต้องปล่อยเขาเป็นอิสระ เพราะอันนั้นต่อสู้อยู่แล้ว

 

สิ่งที่เขาทำเวลาอดอาหารประท้วงคือเงื่อนไขในคุก เช่น อาหารไม่ดี จำกัดสิทธิผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิผู้ต้องขังที่ถูกนิยามอย่างนั้น แล้วรัฐบาลต้องหาวิธีตอบสนอง เพราะถ้านักโทษการเมืองตายในคุก รัฐบาลก็เสียรังวัด ยิ่งถ้ามีองค์กรต่างชาติมาดูด้วยก็เป็นประเด็น

 

การอดอาหารประท้วงจะมีผลออกมาได้ 4 อย่าง

 

  1. ชนะ ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง คือทำสำเร็จ การอดอาหารเป็นผลสำเร็จ
  2. แพ้ ยอมจำนนโดยยุติการอดอาหาร
  3. ถูกบังคับให้ยุติการอดอาหาร เช่น บังคับป้อน
  4. ตาย เสียชีวิต

 

ทั้ง 4 อย่างนี้มีความแตกต่างกัน จากการศึกษาในช่วงร้อยปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1906-2000 จะพบว่าในต้นศตวรรษที่ 20 ช่วงประมาณปี ค.ศ. 1930 ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเยอะที่สุดคือ 2 อย่างหลัง คือการบังคับให้ยุติกับการเสียชีวิต เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ในต้นศตวรรษที่ 20 คือไม่ชนะ

 

มาเริ่มชนะหลัง ค.ศ. 1930 อัตราการเสียชีวิตเหลือแค่ 10% คือมากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ เพราะรัฐบาลต้องตอบสนองต่อคนที่สนใจรับฟังข่าวสาร

 

สรุปการเสียชีวิตไม่เกิน 10% หลัง ค.ศ. 1940 และคงที่มาจนถึงช่วงปี ค.ศ. 2000 ที่จำนวนการตายน้อยลง

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า สำหรับกรณีแบมกับตะวันเราควรเป็นห่วงไหม ก็อย่างที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพูดในสภา เราก็ควรเป็นห่วงเพราะสุขภาพแย่ลง แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจข้อดีที่สุดคือตอนนี้เขาไม่ได้อยู่ในคุก เขาอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลก็มีโปรโตคอลของโรงพยาบาล แปลว่าโรงพยาบาลเขานิยามภาวะวิกฤตของผู้ป่วยอีกแบบหนึ่ง แล้วไม่มีโรงพยาบาลที่ไหนที่จะยอมให้ผู้ป่วยตายคาเตียง

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า มองด้วยสัญญาณที่ดีเช่นเดียวกับหลายคน แต่คิดว่าไหนๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว ผลที่เกิดจาก ‘Hunger Strike’ ทำได้หลายอย่าง แต่ผลของความสำเร็จก็มีหลายระดับ ไม่จำเป็นต้อง 100% ก็ได้ ถ้ามีการแก้ไขบางประเด็น สมมติสิ่งแรกที่สมศักดิ์พูดในสภา แล้วเราอธิบายว่าสิ่งที่สมศักดิ์เสนอตอนนี้ก็คือสิทธิในการได้รับการประกันตัว แล้วใช้เรื่องนี้เป็นแพลตฟอร์มของพรรคการเมืองทุกพรรค

 

“ผมเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ มีนโยบายเรื่องปากท้อง ไม่เห็นมีใครมีนโยบายเรื่องความยุติธรรมเลย ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงไม่คิดเรื่องความยุติธรรม แล้วพูดถึงสิทธิที่ราษฎรไทยควรมีควรได้เสมอกัน เพราะเขาเป็นคนบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่าผิด และที่สำคัญที่สุดนี่เป็นคดีทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าเขาค้ายาฆ่าคนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้เขามีความแตกต่างทางการเมือง โลกมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ในสมัยหนึ่งถ้ามีความเชื่อแตกต่างกันว่าพระเจ้ามีหรือไม่มี ก็นั่งคุยกันไม่ได้แล้ว แต่วันนี้เรานั่งคุยกันได้

 

“ฉะนั้นคำถามของการเมืองไทยคือว่าการเมืองไทยจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือการเมืองไทยจะขยับตัวไปในมิติความยุติธรรมที่ว่ามา ซึ่งถ้าพรรคการเมืองร่วมกันมีแพลตฟอร์มนี้ ก็จะเป็นสัญลักษณ์ที่ดีมาก เป็นข้อเสนอทางการเมืองที่บอกว่าอยากเห็นอะไร” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ช่วงปลายปีที่แล้วบ้านเมืองมีปัญหาเยอะ ในฐานะไม่ใช่ชาวพุทธ แต่คิดแบบโบราณ มีคำสอนหนึ่งของพุทธที่น่าสนใจ คือเรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใดดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะเป็นทายาทของกรรมนั้น

 

ปัญหามีอยู่ว่ากรรมและเราหมายถึงใคร ตัวเราหรือตัวสังคมไทย ถ้าเป็นตัวสังคมไทยตอนนี้ เคสของตะวันและแบมอาจจะไม่ใช่เรื่องว่าเขาอยู่ Position ไหนทางการเมือง แบบนั้นเป็นการคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองว่าเขาเป็นลูกหลานของสังคมไทยที่คิดไม่เหมือนเรา แล้วคิดแบบของเขา แล้วเขากล้าพอจะสละชีวิตเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เขาพูด คนแบบนี้หายาก แล้วมีคุณค่าต่อสังคม ถ้าอย่างนี้สิ่งที่เราควรจะคิดต่อประเทศคือควรจะหาวิธีทำบุญเยอะๆ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญอีก แม้ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลของอะไร แต่ถ้าเอาพระไตรปิฎกเป็นหลัก สังคมไทยเป็นทายาทของกรรมที่ทำ วิธีจัดการเพื่อลดปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายก็ต้องทำความดีบ้าง ซึ่งมาจากความเมตตา มาจากการสถาปนาความยุติธรรมให้ ซึ่งความเมตตากับความยุติธรรมไปด้วยกันได้ กรณีนี้ถ้าเรามองทะลุว่าไม่ใช่เรื่องมาตรา 112 แต่เป็นเรื่องทางการเมืองที่เขายอมเสียสละชีวิตแบบนี้ เราควรจะเห็นอกเห็นใจได้ไหม

 

สภาพนิเวศทางความขัดแย้งตอนนี้มีการแยกเป็นกลุ่ม อยู่ข้างไหนก็คิดอีกอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้สำหรับประเทศซึ่งมีปัญหา บางทีต้องมองทะลุไป เพราะเราทุกคนเป็นทายาทของกรรมร่วมของเราในขณะนี้ ทางออกคือไม่ใช่ทำกรรมที่ทารุณโหดร้ายต่อไป แต่ทางออกคือทำบุญ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X